ไม่พบผลการค้นหา
‘แรงงานข้ามชาติ’ ฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจ - ขบวนการ ‘สีเทา’ ต้นเหตุลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย แก้ยาก เหตุสมประโยชน์ 3 ฝ่าย

ปัญหาแรงงานข้ามชาติ ปัญหาโควิด-19 ปัญหาเศรษฐกิจ ถูกมัดรวมกันพร้อมกับการตั้งคำถามที่ว่า ‘แรงงานข้ามชาติ’ สำคัญ และจำเป็นต่อประเทศไทยอย่างไร

‘ธนิต โสรัตน์’ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) อดีตเลขาธิการสภาธุรกิจไทย-เมียนมา กล่าวว่า สภาพการณ์ของประเทศไทยในขณะนี้กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่ยังต้องพึ่งพาเศรษฐกิจบริการ และอุตสาหกรรม โดยเฉพาะที่ต้องใช้แรงงานเข้มข้น  ขณะที่ภาคเกษตร ยังเป็นเกษตร 1.0 หรือไม่เกิน 2.5 ที่ยังใช้ต้องใช้แรงงานในการตัดอ้อย ปลูกข้าว หรือแม้แต่กรีดยางพารา นี่จึงเป็นคำตอบชัดเจนแล้วว่าประเทศไทย ยังต้องการแรงงานอีกจำนวนมาก

สัมเรื่อง แรงงานพม่า
  • ธนิต โสรัตน์


ขาดแรงงานทักษะต่ำ ต้องพึ่งพิงแรงงานข้ามชาติ

เมื่อความต้องการแรงงานที่สูง ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการที่ต้องใช้แรงงานเข้มข้น แต่ยังพบว่ายังสวนทางกับพฤติกรรมการทำงานของคนไทย แม้ปัจจุบันกำลังแรงงานของชาติตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป จะมีมากกว่า 38 ล้านคน แต่ต้องยอมรับว่า ‘คนไทยเลือกงาน’ โดยเฉพาะแรงงานประเภท 3D หรือ งานหนัก งานสกปรก และงานอันตราย จึงเป็นเหตุผลชัดเจนเช่นกันว่า ประเทศไทยต้อง ‘พึงพาแรงงานข้ามชาติ’ เป็นส่วนสำคัญ

“เอาว่าอุตสาหกรรมที่มันเปียกมันแฉะ มันสกปรก ต้องใช้แรง อันนี้คนไทยเรายอมอดตาย ผมใช้ศัพท์นี้เลยนะคนไทยเราก็ไม่ทำ”


‘แรงงานข้ามชาติ’ ฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

‘ธนิต’ ชี้ให้เห็นว่า แรงงานข้ามชาติ หรือ Immigration label มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ และไม่ได้หมายถึงแค่ประเทศไทยเท่านั้น เพราะในหลายประเทศที่พัฒนาแล้วก็มีการนำเข้าแรงงานข้ามชาติ เช่น สหรัฐอเมริกา สวีเดน อิตาลี เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เป็นต้น เนื่องจากแรงงานข้ามชาติมีส่วนช่วยเสริมกำลังแรงงานของแต่ละประเทศที่ขาดแคลนคน ซึ่งสังคมแรงงานของไทยก็ขาดแรงงานข้างล่าง หรือแรงงานไร้ทักษะ

“ผมพยายามให้เห็นภาพว่า แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยมันมีความจำเป็นต่อเศรษฐกิจ แล้วก็ไม่ใช่ของไทย ประเทศที่กำลังคล้ายๆ เราก็ต้องใช้ เผอิญว่าเราแก่แล้วยังไม่รวย แก่แล้วยังไม่ก้าวไปสู่เทคโนโลยี”

ก่อนหน้านี้รัฐบาลมีความพยายามดึงแรงงานข้ามชาติ จากใต้ดิน หรือแบบผิดกฎหมาย ขึ้นมาอยู่บนดิน หรือ ถูกกฎหมาย ผ่านการขึ้นทะเบียนตัวแรงงานละนายจ้างทั้งหมด ทำให้มีแรงงานถูกกฎหมายประมาณ 7-8 แสนคน เพิ่มเป็น 2.8 ล้านคน แต่ยังมีคาดการณ์ว่ายังมีแรงงานข้ามชาติใต้ดินในประเทศอีกมากกว่า 1 ล้านคน

ตลาดกลางกุ้ง สมุทรสาคร โควิด -D861-49BF-913C-08C7615E2C07.jpeg

ข้อมูลจากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว เปิดเผยว่า ณ สิ้นเดือน ต.ค. 2563 ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตทำงานในราชอาณาจักรคงเหลือ 2,482,256 คน แบ่งเป็น แรงงานประเภททั่วไป 2,284,673 คน ตลอดชีพ 68 คน ชนกล่มน้อย (จีนฮ่อ ฯลฯ) 54,028 คน แรงงานประเภทฝีมือ 143,487 คน จังหวัดที่มีแรงงานต่างข้ามชาติสูงที่สุด 3 อันดับแรก คือ กรุงเทพมหานคร 585,433 คน สมุทรสาคร 233,071 คน สมุทรปราการ 157,003 คน โดยในจำนวนนี้เป็นแรงงานชาวเมียนมามากกว่า 70%


เศรษฐกิจ-สังคม-สุขอนามัย-ความมั่นคง เกี่ยวโยงกันหมด

แต่การนำแรงงานข้ามชาติเข้าในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ส่งผลต่อเนื่องในหลากหลายมิติไม่เฉพาะ ‘มิติด้านเศรษฐกิจ’ ยังมี ‘มิติด้านสังคม’ เข้ามาใช้ มาจ่าย มากิน มาใช้สวัสดิการในประเทศ เกิดในเมืองไทยให้เรียนหนังสือ รักษาพยาบาลได้ถ้าเข้าสู่ระบบประกันสังคม ‘มิติด้านสุขอนามัย’ มีปัญหาโควิด-19 ขณะที่ ‘มิติด้านความมั่นคง’ มีปัญหายาเสพติด และอาชญากรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นต้น มิติต่างๆเหล่านี้ หากมีการบริหารจัดการที่ดี ก็ย่อมดี แต่หากบริหารจัดการไม่ได้ แน่นอนว่าสิ่งที่จะตามมา คือ ‘ปัญหาใหญ่’ ดังนั้นควรจะใช้แรงงานข้ามชาติเท่ากับความต้องการใช้จริง และทั้งหมดจะต้องอยู่ในระบบตรวจสอบได้

“ไทยเป็นสวรรค์ของคนต่างชาติเลยนะที่อยู่ในเพื่อนบ้านเรา ประเทศไทยคือวิมานของเขาเลย แต่ปัจจุบันมีเรื่องสังคม เรื่องสุขอนามัย เรื่องความมั่นคง อะไรต่างๆเกี่ยวข้อง ประเด็นก็คือว่า เราควรจะใช้เท่าที่เราใช้ และก็มีกฎระเบียบ ต้องเขียนตรงนี้ให้มันชัดเจนและก็ปฎิบัติ” ธนิต กล่าว


สมประโยชน์ 3 ฝ่าย ต้นเหตุลักลอบเข้าเมืองผิกกฎหมาย

ปัญหาแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองแบบผิกกฎหมาย อาจนำมาสู่ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ-สังคม-สุขอนามัย-ความมันคง ของประเทศ โดยมีขบวนการ ‘สีเทา’ เข้ามาเกี่ยวข้อง ยากที่จะแก้ไข ด้วยเหตุผลที่ว่านายจ้างมีความต้องการแรงงาน อยากได้แรงงานราคาถูก ขณะที่แรงงาน ก็ต้องการหารายได้ ส่วนเจ้าหน้าที่ไม่จริงจัง เพราะแรงงานข้ามชาติพร้อมจ่ายต่อหัวคิดเป็นเงินมหาศาล จึงเป็นเรื่องยากที่จะขจัดให้หมดจากวังวนนี้

“เข้ามาแล้วเข้ามาอยู่ในเมืองได้อย่างไร แล้วเข้ามาทำงานได้อย่างไร มันต้องมีขบวนการ ถ้าพูดตรงๆถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐเอาจริงมันจะทำได้ไหม อันนี้เราพูดกันตรงๆ มันก็มีหน่วยเกี่ยวข้องกันเยอะแยะ ไม่ได้ว่าเขานะ ปกครองตรงตะเข็บชายแดน มีตั้งแต่ ตชด. มีตั้งแต่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผ่านเข้ามาชั้นในก็มีตำรวจ มีแรงงานจังหวัด มี ตม. มีสารพัด แล้วพวกคุณอยู่ที่ไหนกัน เราเห็นแรงงานผิดกฎหมายกันเต็ม เดินขายของ คุณไม่เคยเห็นเหรอ” ธนิต กล่าว

ในเมื่อโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่ต้องพึ่งพาต่างชาติ ไม่ว่าจะการส่งออก การท่องเที่ยว หรือแม้แต่การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ และจำเป็นต้องพึ่พาแรงงานข้ามชาติอยู่ ดังนั้นจึงแทบปฏิเสธไม่ได้ที่จะไม่ยอมรับแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ เพราะสะท้อนชัดเจนว่าแรงงานข้ามชาติก็นับเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่การแก้ไขปัญหาที่ผูกโยงเป็นลูกโซ่ โดยเฉพาะปัญหาโควิด-19 และปัญหาเศรษฐกิจ ผู้ที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการกันอย่างไร และดีมากพอหรือไม่ เป็นคำถามที่เชื่อว่าหลายคนรู้คำตอบเหล่านั้นดี...

ขวัญ โม้ชา
ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ Voice Online
0Article
0Video
0Blog