ไม่พบผลการค้นหา
การเลือกตั้งกลางปี ปี 2566 เป็นเครื่องตัดสินอนาคตทางการเมือง ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ลุ้นเป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 3 ภายใต้เสื้อคลุมแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)

“สิ่งสำคัญที่สุดคือ จะต้องคุยกันว่าสิ่งใดที่รัฐบาลนี้ได้ทำไว้ก็คงต้องมีการสานต่อสู่อนาคต อย่างมั่นคง อย่างยั่งยืน ไม่ใช่ผิวเผิน หรือให้เป็นนโยบายที่จับต้องไม่ได้ ถ้าประกาศว่าจะทำโน่นทำนี่ ทำได้จริงหรือเปล่า ใช่ไหม ถ้าจะให้นี่ให้โน่น จะมีเงินจากที่ไหน หาเงินได้ยังไง ซึ่งผมพยายามทำเรื่องนี้มาโดยตลอด ตลอดมา ทั้ง 4 ปีแรก และ 4 ปีหลัง”

“ผมก็พยายามหารายได้เข้าประเทศ เพราะเรารู้อยู่ต้องดูแลประชาชนให้ได้มากยิ่งขึ้น ก็ต้องมีกติกาพอสมควร ไม่ให้เกิดภาระที่ผ่านมาเราใช้งบประมาณอย่างระมัดระวังที่สุด โชคไม่ดีที่เราไปเจอโควิดด้วย เจอวิกฤตสงครามด้วย ได้รับผลกระทบไปทั้งหมด เราก็พยายามบริหารให้ดีที่สุด” 

“ขอให้พวกเราอย่าท้อแท้ ทะเลาะเบาะแว้งกัน อย่าขัดแย้งกัน ถ้าเราเอาชนะคะคานกัน ทะเลาะกัน ขัดแย้งกัน มันก็กลับที่เดิมหมดแหละ”

“ผมยืนยันว่า ผมพยายามทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยมากที่สุด ให้ดีที่สุด ผมทำคนเดียวไม่ได้ ต้องขอความร่วมมือจากประชาชนทุกคน ทุกภาคส่วน ต้องมีหลักคิดว่าจะทำยังไง จะเลือกใคร จะเลือกได้ยังไง เพราะสิ่งสำคัญที่สุดในการเลือกพรรคการเมือง การเลือก ส.ส. ก็ต้องมองดูว่าจะได้ใครเป็นนายกฯ ท้ายที่สุดมันอยู่ตรงนั้น” 

“บอกแล้วว่า เลือกตั้งมาแล้วท้ายที่สุดก็ต้องมารวมคะแนนกัน รวมเสียงกัน ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล แล้วก็เสนอชื่อคนที่เป็นนายกฯ เป็นเรื่องของอนาคต ไม่มีอะไรแน่นอน ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชน” 

ประยุทธ์ -F233-4160-912E-E18670A31B1D.jpeg

ทั้งหมดนี้ คือถ้อยคำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่ระบุเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2565 หลังประกาศจุดยืนทางการเมืองว่าจะร่วมหัวจมท้ายกับ 'พรรครวมไทยสร้างชาติ'

สะท้อนว่า แม้ พล.อ.ประยุทธ์ รู้อยู่เต็มอกว่าตัวเองเป็นนายกฯ ได้อีกเพียง 2 ปี จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุการดำรงตำแหน่งนายกฯ นับตั้งแต่วันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 

และถึงเวลานั่งในเก้าอี้นายกฯ จริงๆ กว่าจะผ่านกระบวนการต่างๆ หลังเลือกตั้ง ระยะเวลา 2 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะเหลือเพียงปีครึ่ง 

แต่เขายังคงมีความเชื่อมั่นในตัวเองที่จะนำพาประเทศต่อไป

ประยุทธ์ สงขลา 20171743000000.jpg

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ ต้องฝ่าอีกหลายด่านกว่าจะผ่านเข้าป้ายเป็นนายกฯ สมัยที่ 3 

ด่านแรก พล.อ.ประยุทธ์ ต้องปั่นเรตติ้งทั้ง คะแนนส่วนตัว และกระแสพรรครวมไทยสร้างชาติ ในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง เพราะจะอาศัย “เรตติ้งลุงตู่” เพียงอย่างเดียว คงจะขายได้เฉพาะพื้นที่ที่มีคะแนนนิยม เช่น ภาคใต้ ตามความเชื่อของ ส.ส.-นักการเมือง ที่ย้ายไปสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ 

เนื่องจากในเวลานี้ โฉมหน้านักเลือกตั้งที่ประกาศตัวไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ ยังเป็นเพียง “นักการเมืองเกรดบี”

คำถามคือ พรรครวมไทยสร้างชาติจะได้ ส.ส.กี่คน 

ด่านสอง ไฟต์บังคับของพรรครวมไทยสร้างชาติ ต้องได้ที่นั่ง ส.ส.ในสภา ร้อยละ 5 คือ 25 ที่นั่ง เสียก่อน จึงจะมีสิทธิเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้ แต่รูปการณ์ในปัจจุบัน นักการเมืองนอกค่ายรวมไทยสร้างชาติ ยังตั้งคำถามว่า พรรครวมไทยสร้างชาติจะหา ส.ส.มาจากไหน 25 คน ในเมื่อมีแต่นักการเมืองเกรดบี 

ดังนั้น ยังต้องรอโค้งสุดท้ายว่า กระแสลุงตู่ก่อนเลือกตั้ง บวกกับอำนาจเงิน และอำนาจรัฐ จะสามารถช็อปตัวนักการเมืองเกรดเอ เข้าค่ายได้กี่คน 

พีระพันธุ์ รวมไทยสร้างชาติDSC02320.jpgรวมไทยสร้างชาติ ในหลวง สถาบัน -9DA7-49E0-B11E-5A290D16B03B.jpeg

ด่านสาม พรรคร่วมฝ่ายค้านปัจจุบัน นำโดยพรรคเพื่อไทย ยังเป็นก้างชิ้นโตขวาง พล.อ.ประยุทธ์ ในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ รัฐมนตรีสมัยที่ 3 หลังผลสำรวจโพลสำคัญๆ ระบุชัดว่า พรรคเพื่อไทย เป็นพรรคที่จะได้ ส.ส.มากที่สุด ดังนั้น ด้วยกติกาเลือกตั้งเปลี่ยนจากบัตรใบเดียวเป็นบัตร 2 ใบ คือ แบบแบ่งเขต 400 คน และ แบบบัญชีรายชื่อ 100คน แถมคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อด้วย100

กติกาเลือกตั้งหนนี้ จึงเป็นเกมที่พรรคเพื่อไทยถนัด และได้เปรียบมากที่สุด จึงมีการประเมินภายในพรรคว่า อาจจะได้ ส.ส.180 – 190 ที่นั่ง บวกกับ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่จะได้เข้ามาอีก 30-40 เสียง พรรคเพื่อไทยอาจได้ ส.ส.เฉียดๆ 250 ที่นั่ง เมื่อรวมกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่มีเจตนารมณ์เดียวกัน ก็อาจทำให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยยื่นไมตรีไปให้พรรคภูมิใจไทยมาเสริมความแข็งแกร่ง บพรรคพลังประชารัฐ – พรรครวมไทยสร้างชาติ ไปเป็นฝ่ายค้าน 

ด่านสี่ ที่น่ากลัวที่สุดในการเลือกตั้งหนนี้คือความแข็งแกร่งของพรรคภูมิใจไทย ที่เพิ่งจะโชว์ฟอร์มโหด ดูด ส.ส.จากพรรคต่างๆ มาร่วมประดับบารมีความแข็งแกร่ง 

ในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ พรรคภูมิใจไทยตั้งเป้าขั้นต่ำว่าจะได้ ส.ส.ประมาณ 80-90 ที่นั่ง หลังจากคาดว่าจะมีอดีต ส.ส. - นักเลือกตั้งเกรด เอ จากหลายพรรคย้ายมาสั่งกัดพรรคภูมิใจไทยเพิ่มอีก 

ในทางกลับกัน หากพรรคภูมิใจไทย ได้ ส.ส.ทะลุ 70-80 เสียง กลายเป็นพรรคอันดับ 2 บนกระดาน ขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ ได้ต่ำกว่ามาก ก็เท่ากับเก้าอี้นายกฯ สมัย 3 พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในกำมือของพรรคภูมิใจไทย

ที่สำคัญกว่านั้น พรรคภูมิใจไทยจะยอมให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ หรือไม่... ถ้าพรรคภูมิใจไทยชดใช้ – ล้างหนี้ทางการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ ไปหมดแล้ว

อนุทินและประยุทธ์ ประยุทธ์ อนุทิน  อภิปรายไม่ไว้วางใจ ประชุมสภา

ด่านห้า แม้ว่า ฝ่ายพล.อ.ประยุทธ์ ต้องการรวมเสียงให้ได้ 125++ เสียง เป็นขั้นต่ำ แล้วดึงคะแนน ส.ว.250 คน มาช่วยเติมแต้ม เพื่อให้ได้ 376 เสียงขึ้นไป แล้วโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ 

แต่ขอให้จับตาดู กลุ่มการเมืองใน - นอกสภา จะเริ่มเคลื่อนไหวตั้งแต่เปิดศักราช ผลักดันเรื่องปิดสวิตช์ ส.ว.กดดันให้ “สภาฝักถั่ว” หยุดยกมือสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แม้ไม่อาจปิดสวิตช์ด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ แต่หวังให้กระแสสังคมช่วยกดดัน ส.ว.มีสติในการยกมือโหวตนายกฯ ที่มาจากฉันทามติของประชาชน มากกว่าการ “กดปุ่ม” สั่งของผู้มีอำนาจ 

นี่คือ 5 ด่านสำคัญ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องเจอก่อนเป็นนายกฯ สมัย 3 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง