ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จาก ‘นายกฯ รัฐประหาร’ สู่การเป็น ‘นายกฯ เลือกตั้ง’ แม้จะถูกอภิปรายคุณสมบัตินายกฯ ยาวนาน 10 ชั่วโมงก็ตาม
และกระแสวิจารณ์ที่มา 250 ส.ว. ที่แถวตรง 249 คน โหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่แตกแถว ยกเว้น ‘พรเพชร วิชิตชลชัย’ ปธ.สภา ส.ว. ที่งดออกเสียง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้ชี้แจงว่าคะแนน ส.ส. มากกว่า ส.ว. แล้วมารวมกันเป็น 500 คะแนน
ซึ่งตรงกับที่มีรายงานก่อนการประชุม 2 สภา ว่า ส.ว.จะยกโหวตตาม ส.ส.เสียงข้างมาก ซึ่งพรรคพลังประชารัฐ สามารถจับขั้วตั้งรัฐบาลได้คะแนนเสียง ส.ส. เกิน 251 เสียง ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เสียงรับรอง 500 คน จาก 747 คน เพื่อความชอบธรรมของ ส.ว.เองด้วย
โดย 3 เสียงที่หายไป คือ ‘2 หนุ่ม’ ได้แก่ ‘ธนาธร’ และ ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ต่างมีปลายทางชะตากรรมที่ ‘คล้ายกัน’ แต่ ‘เส้นทางต่างกัน’ โดยกรณีของ ‘ธนาธร’ ถูกยุติหน้าที่ ส.ส.ชั่วคราว และอยู่ในสภาวะ ‘ยืนอยู่บนเส้นด้าย’
ส่วน ‘อภิสิทธิ์’ เลือกเส้นทางเดินของตัวเอง ‘รักษาคำพูด - จุดยืนตัวเอง’ ประกาศ ‘ลาออก’ จากการเป็น ส.ส. แต่ไม่ยังไม่ลาออกจากการเป็นสมาชิก พรรค ปชป. ส่วนบทบาททางการเมืองต่อจากนี้ ‘อภิสิทธิ์’ ระบุว่า ให้เป็นเรื่องของอนาคต โดยกล่าวทั้งน้ำตาซึม แต่ยังคงยิ้มได้
ส่วนดาวรุ่งอย่าง ‘ธนาธร’ ลงการเมืองครั้งแรก ทำพรรคอนาคตใหม่ ได้เก้าอี้ ส.ส. 81 ที่นั่ง มาเป็นลำดับ 3 เอาชนะพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทยไปได้ ที่ได้เพียงพรรคละราว 50 ที่นั่ง และมีชื่อขึ้นชิงเป็นแคนดิเดตนายกฯคู่กับพล.อ.ประยุทธ์ ตามมติ 7 พรรคขั้วต้าน คสช. ที่ดันชื่อ ‘ธนาธร’ เพราะได้เป็น ส.ส. ไม่เป็น ‘นายกฯ คนนอก’ เพราะแคนดิเดตฝั่งพรรคเพื่อไทยทั้ง 3 คน ไม่ได้เป็น ส.ส. และพรรคที่จะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯจะต้องมี ส.ส. มากกว่า 25 คน ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้พรรคอื่นๆ จึงเสนอชื่อไม่ได้ ส้มจึงมาหล่น ‘พรรคสีส้ม’
จึงเป็น ‘ชะตากรรม’ ของ ‘3 หนุ่ม’ ที่เป็น ‘3 มุม’ ที่แตกต่างกัน เปรียบเป็น ‘ดาวคนละดวง’ ที่เหมือนอยู่ ‘คนละจักรวาล’
ซึ่ง ‘ธนาธร’ ก็ระบุว่า ไม่ใช่ความพ่ายแพ้ แต่ถูกปล้นชัยชนะไป ด้วยกติกาที่อยู่ภายใต้กรอบที่ระบอบรัฐประหารวางไว้ พร้อมย้ำว่าเป็นเพียงสมรภูมิหนึ่งในทางระยะยาวที่ต้องต่อสู้ต่อไป
ด้าน ‘บิ๊กป้อม’พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ก็ออกมาตอบโต้ว่า “ปล้นบ้าอะไร” พร้อมให้สัมภาษณ์สื่ออย่างอารมณ์ดี แม้จะหลีกเลี่ยงการตอบเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลก็ตาม ที่ พล.อ.ประวิตร ถูกมองว่าเป็น ‘ผู้จัดการรัฐบาล’ อยู่เบื้องหลังต่างๆ แม้จะปฏิเสธมาตลอด
พร้อมกันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ก็กล่าวสั้นๆ อย่างยิ้มแย้มว่า “ขอบคุณทุกคน ทุกอย่างเหมือนเดิม” ในการพบสื่อครั้งแรก ในฐานะว่าที่ นายกฯคนที่ 29 สมัยที่ 2
อีกทั้งความเป็นปึกแผ่นของ 249 ส.ว. ที่ไม่แตกแถว
โดยเฉพาะ 6 ส.ว. ที่เป็นโดยตำแหน่ง ‘ปลัดกลาโหม-ผบ.เหล่าทัพ’ ที่ก็ถูกจับตาเช่นกัน ต่างขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมเพรียง
โดยเฉพาะ ‘บิ๊กแดง’พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ที่มีอีก‘สถานะสำคัญ’อยู่ ท่ามกลางกระแสข่าว ‘ปฏิวัติซ้ำ - รัฐประหารซ้อน’ ที่มีมาตลอด หนทางจากนี้ของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังคงมี ‘ปลัดกลาโหม-ผบ.เหล่าทัพ’ ชุดปัจจุบัน อยู่เคียงข้างให้อุ่นใจ เพราะจะเกษียณฯช่วงปี63-64 ยกเว้น ‘บิ๊กต่าย’ พล.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ผบ.ทอ. ที่เกษียณฯ ก.ย. 62
สถานการณ์ทางการเมืองนับจากนี้ จะกลับเข้าสู่โหมดปกติ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่มีมาตรา 44 เป็นดาบอาญาสิทธิ์ อยู่ท่ามกลางนักการเมืองที่เป็น ‘นักต่อรอง’ หรือบางพรรคที่ถึงขั้น ‘เขี้ยวลากดิน’ ตั้งแต่ ‘ตั้งไข่รัฐบาลใหม่’ กันเลย เป็นสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร จะได้รู้จักนักการเมืองมากขึ้น และสภาวะที่ไม่สามารถคุมได้เบ็ดเสร็จเช่นในยุค คสช.
อีกทั้ง การจัดรัฐบาลที่ยังไม่เสร็จสิ้น เหลือเพียงไม่กี่ตำแหน่งที่ยัง ‘ดีลไม่ลงตัว’ เพราะแต่ละพรรคต่างก็หวังคุมกระทรวงที่สามารถสร้าง ‘คะแนนเสียง’ ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปได้ สะท้อนว่า ‘พรรคพลังประชารัฐ’ ก็หวังทำการเมืองระยะยาว ไม่ใช่เพียง ‘พรรคเฉพาะกิจ’ เท่านั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง