เริ่มที่พรรคแรก 'รวมแผ่นดิน' ไม่ใช่พรรคการเมืองน้องใหมที่ไหน เพียงแต่เข้าไปเปลี่ยนหัวหน้าพรรคและเปลี่ยนชื่อพรรคเก่า 'พลังชาติไทย' ซึ่งเดิมเป็นพรรคการเมืองของ พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ อดีตหัวหน้าพรรรคซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อปลายปี 2564 และให้ บุญญาพร นาตะธนภัทร เป็นหัวหน้าพรรคแทน
เมื่อดูที่มาที่ไปของพรรคพลังชาติไทยเมื่อครั้งจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมือง โดยตามประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่องรับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคพลังชาติไทย เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2561 คำประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคพลังชาติไทย มุ่งเน้นจิตอาสา หรือจิตสาธารณะ นำการเมือง คือยึดถือประโยชน์ส่วนรวมยิ่งกว่าประโยชน์ส่วนตน ทำเพื่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง
โดยมีอุดมการณ์ จะยึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะจงรักภักดีปกป้อง ยกย่อง เชิดชูไว้เหนือเกล้าชาวไทยต่อไป จะปกป้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติเพื่อคนไทยทุกคน จะส่งเสริมสนับสนุนคนดี คนเก่ง คนล้าและมีจิตอาสาเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยเพื่อบริหารราชการแผ่นดินตามหลักธรรมมาภิบาล
"เป้าหมายสูงสุดจะเป็นพรรคของประชาชนอย่างแท้จริง เป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุดของประเทศเป็นสถาบันทางการเมือง เป็นพรรคที่เป็นสากล เป็นพรรคที่เป็นความหวังของคนทั้งประเทศ แต่ไม่ใช่พรรคทางเลือก พรรคเฉพาะกิจหรือพรรคทหาร ที่อยู่ชั่วคราวไม่ถาวร" คำประกาศของพรรคพลังชาติไทย ระบุไว้ตอนหนึ่ง
(พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ อดีตหัวหน้าพรรรคพลังชาติไทย)
โดยคณะกรรมการบริหารพรรคชุดแรก มีจำนวน 29 คน โดยมี พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ เป็นหัวหน้าพรรค
ต่อมาภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 พรรคพลังชาติไทย ได้ 80,186 คะแนน ทำให้ พล.ต.ทรงกลด ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ
ต่อมาราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2565 ได้เผยแพร่ ประกาศนายทะเบียนพรรคกรเมืองเรื่องการเปลียนแปลงข้อบังคับพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคพลังชาติไทย โดยมีใจความระบุว่า ตามที่นายทะเบียนพรรคการเมืองได้มีประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เมื่อวันที่12 พ.ย. 2564 เรื่องการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคพลังชาติไทย กรณี พล.ต.ทรงกลด หัวหน้าพรรคพลังชาติไทย เสียชีวิต (หลังป่วยด้วยโรคมะเร็ง) เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2564 ทำให้สมาชิกภาพสมาชิกพรรคพลังชาติไทยิ้นสุดลง และความเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังชาติไทยสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามข้อบังคับพรรคพลังชาติไทย
จากนั้นเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2564 มีการประชุมใหญ่วิสามัญพรรคพลังชาติไทย ครั้งที 1/2564 โดยมีมติแก้ไขข้อบังคับพรรค และมีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคพลังชาติไทยชุดใหม่ จำนวน 10 คน มี บุญญาพร นาตะธนภัทร ที่ได้รับเลื่อนลำดับให้เป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ แทน พล.ต.ทรงกลด ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่แทน
(บุญญาพร นาตะธนภัทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังชาติไทย)
ทั้งนี้ บุญญาพร เป็นภรรยาของ พล.ต.ทรงกลด มีการศึกษา ปวส.สาขาบัญชี จากวิทยาลัยพณิชยการบางนา กทม. ภายหลังเรียนจบ ออกมาประกอบธุรกิจหลายอย่าง และร่วมก่อตั้งพรรคพลังชาติไทย โดยเป็นนายทุนของพรรค
โดย บุญญาพร นาตะธนภัทร แสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.ว่า มีสถานะว หย่า มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 150,431,145 บาท ได้แก่ เงินสด 1 ล้านบาท เงินฝาก 19,881,145 บาท ที่ดิน 3.2 ล้านบาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง ทั้งอาคารพาณิชย์ บ้านเดี่ยว ตึกแถว และทาวเฮ้าส์ รวมมูลค่า 108,800,000 บาท
ยานพาหนะ 11,550,000 บาท โดยในจำนวนนี้มีรถโดยสารประจำทางรถร่วม บขส. ทะเบียนนครราชสีมา มูลค่า 3 ล้านบาทด้วย สิทธิและสัมปทาน 6 ล้านบาท พร้อมแจ้งว่าไม่มีหนี้สิน
กระทั่งเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2565 ที่ประชุมใหญ่พรรคพลังชาติไทยได้เปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรค พร้อมเปลี่ยนชื่อพรรคในชื่อใหม่เป็น 'พรรครวมแผ่นดิน' และเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ รวม 14 คน
มี พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย เป็นหัวหน้าพรรค มีบุญญาพร นาตะธนภัทร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เป็นรองหัวหน้าพรรค นอกจากนี้ยังมี จำลอง ครุฑขุนทด อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย อดีต รมช.ศึกษาธิการ เป็น เลขาธิการพรรค ส่วน พล.อ.สุรวัช บุตรวงษ์ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เตรียมทหาร รุ่นที่14 (ตท.14) เพื่อนร่วมรุ่น พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร อดีต ผบ.ทบ.เป็นรองหัวหน้าพรรค
สำหรับพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ถูกมองมาตั้งนานว่าเป็นพรรคการเมืองสำรองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม มีประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เผยแพร่ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2564
พรรครวมไทยสร้างชาติ มีคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมือง เทิดทูนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงเจตนารมร์ในการหลอมรวมประเทศไทยให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าให้มั่นคงและยั่งยืนขจัดความขัดแย้งสร้างประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
นโยบายพรรคส่งเสริมให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และต้องไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ
คณะกรรมการบริหารพรรครวมไทยสร้างชาติ ชุดก่อตั้ง มีจำนวน 27 คน โดยมี ว่าที่ ร.ท.ไกรภพ นครชัยกุล เป็นหัวหน้าพรรค มี วาสนา คำประเทือง เป็นเลขาธิการพรรค
ต่อมา เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2565 พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี ที่ หอประชุมมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี โดยมี เสกสกล อัตถาวงศ์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ก่อตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ ปรพล อดิเรกสาร เข้าร่วมประชุม โดยวันนั้นที่ประชุมได้เลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ โดยมี ธัญย์ธรณ์เทพ แย้มอุทัย เป็นหัวหน้าพรรค ธนดี หงษ์รัตนอุทัย เลขาธิการพรรค
จากการตรวจสอบในสำนักงานคณะกรรมการการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เปิดเผยยอดเงินบริจาคพรรคการเมือง ปี 2565 พบว่าพรรครวมไทยสร้างชาติ มีผู้บริจาคเงินเข้าพรรค เมื่อเดือน เม.ย. 2565 จำนวน 150,000 บาท จาก ธันย์ธรณ์เทพ แย้มอุทัย หัวหน้าพรรค เดือน พ.ค. 2565 มีผู้บริจาค 150,000 บาท จาก สุธน ปรางค์เกรียงไกร
ล่าสุดพรรครวมไทยสร้างชาติยังได้กำหนดการประชุมใหญ่วิสามัญในวันที่ 3 ส.ค. 2565 ซึ่งจะมีขึ้นที่สโมสรราชพฤกษ์ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ โดยคาดหมายว่า พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี จะถูกวางตัวให้เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ และให้เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ อดีต ส.ส.กทม. และอดีตโฆษก กปปส. เป็นเลขาธิการพรรค
โดยมีแกนนำของพรรคที่จะร่วมเปิดตัวด้วย อาทิ วิทยา แก้วภราดัย อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง อดีตเลขาธิการพรรครวมพลังประชาชาติไทย เจ้าของมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี
ว่ากันว่า ธงของ สองพรรคชื่อขึ้นต้นคำว่า 'รวม' นั้น ให้จัดตั้งไว้เป็นอีกสองขาที่เป็นพรรคการเมืองในเครือข่ายของขุมอำนาจ 3 ป. เมื่อ 'รวมไทยสร้างชาติ' เป็นพรรคที่รองรับอำนาจของ ป.คนรอง และ ป.คนเล็ก ส่วน 'รวมแผ่นดิน' เป็นของ ป.พี่ใหญ่
ยิ่งสถานการณ์ที่เกมกติกาบัตรเลือกตั้ง สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นหารแบบ 100 หรือ 500 เพราะร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่แก้ไขเพิ่มเติมในกติกาการเลือกตั้ง ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา
สอดรับกับมีกระแสข่าวก่อนหน้าที่ รัฐสภาจะพลิกกลับมาแก้เกมใหม่ด้วยการให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) กลับไปแก้ไขสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และยิ่งมีความพยายามว่าจะกลับมาใช้สูตรบัตรใบเดียวเหมือนปี 2562
ถ้า 3 ป.ยังเดินเกมอยู่ในลักษณะนี้อยู่ เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งหน้าเอื้อประโยชน์ต่อพรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก ปูทางมีรัฐบาลผสมหลายพรรคการเมือง ทำลายระบบความเข้มแข็งของพรรคการเมืองในรัฐสภา
นั่นจึงเป็นเหตุผลหลักคือ ของ 3 ป.ที่ต้องการสกัดแลนด์สไลด์ของพรรคการเมืองขั้วฝ่ายประชาธิปไตย โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่ในช่วงนี้กำลังปลุกกระแส 'แลนด์สไลด์'อย่างหนักหน่วงเพื่อโค่นล้มเผด็จการสืบทอดอำนาจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง