ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลออสเตรเลียเผยมีแมวจรจัดราว 2-6 ล้านตัว กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งยังมีพฤติกรรมนักล่า ทำให้สัตว์อื่นสูญพันธ์ุ จึงอาจจะใช้วิธีขับเครื่องบินโปรยไส้กรอกใส่สารพิษ เพื่อให้แมวกินแล้วตาย

เว็บไซต์ซีบีเอสนิวส์รายงานว่า รัฐบาลออสเตรเลียประกาศเดินหน้ามาตรการกำจัดแมวจรจัดอย่างเป็นทางการในปี 2020 โดยระบุว่าแมวจรจัดจำนวนกว่า 2-6 ล้านตัวที่กระจายอยู่ทั่วประเทศมีพฤติกรรมนักล่า ทำให้สัตว์หลายชนิดสูญพันธุ์ ทั้งยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในหลายพื้นที่ และวิธีที่จะใช้ในการกำจัดแมว มีตั้งแต่การวางกับดักหรือยิงทิ้ง รวมไปถึงการใช้เครื่องบินโปรยไส้กรอกผสมสารพิษให้แมวกินแล้วตาย 

ดร.เดฟ อัลการ์ นักวิชาการที่เข้าร่วมในการวางแผนกำจัดแมวจรจัดในออสเตรเลีย เปิดเผยว่าไส้กรอกพิษดังกล่าวทำจากเนื้อจิงโจ้ ผสมกับไขมันจากไก่ เครื่องเทศปรุงรส และสารพิษ 1080 โดยมีปัจจัยสำคัญว่าไส้กรอกดังกล่าวจะต้องมีกลิ่นและรสชาติดี เพราะเป็น 'อาหารมื้อสุดท้าย' ของแมวตัวนั้น แต่ขณะเดียวกันก็ต้องออกฤทธิ์สังหารภายในเวลา 15 นาที หลังจากที่แมวกินไส้กรอกเข้าไป 

มาตรการกำจัดแมวของรัฐบาลออสเตรเลียเคยประกาศออกมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2015 แต่ถูกองค์กรปกป้องสิทธิสัตว์ PETA ประณามอย่างรุนแรง เพราะในบางพื้นที่ รัฐบาลส่วนท้องถิ่นตั้งรางวัลให้ประชาชนช่วยกำจัดแมวจรจัด โดยจะมอบเงิน 10 ดอลลาร์ออสเตรเลีย แก่ผู้ที่ถลกหนังแมวมาเป็นหลักฐาน และกลุ่มพีตาประณามว่า วิธีการดังกล่าวเป็นการกระทำที่โหดร้ายทารุณ แต่เจ้าหน้าที่รัฐบาลออสเตรเลียส่วนใหญ่สนับสนุนมาตรการดังกล่าว

AFP-แมวอิตาลี

อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2017 กลุ่มพีตาแถลงยอมรับว่าแมวจรจัดเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สัตว์อื่นๆ ในระบบนิเวศถูกคุกคามจริง แต่ไม่ยอมรับหรือส่งเสริมการฆ่าแมวด้วยวิธีการโหดร้ายทารุณ ทั้งยังยืนยันว่ามาตรการดังกล่าวของรัฐบาลออสเตรเลียไม่ต่างจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แมวจรจัด แต่จำนวนประชากรแมวจรจัดที่เพิ่มขึ้นตามธรรมชาติเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆจนถึงขั้นสูญพันธุ์ไปแล้วประมาณ 27 สายพันธุ์ ส่วนใหญ่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

ขณะเดียวกัน ดิอินดีเพนเดนท์รายงานว่า กลุ่มประชาชนผู้รักแมวอีกกว่า 1.6 แสนคน ลงชื่อผ่านเว็บไซต์ออนไลน์เรียกร้องให้รัฐบาลออสเตรเลียยกเลิกมาตรการดังกล่าว ซึ่งรวมถึง 'บริจิตต์ บาร์โดซ์' นักแสดงชื่อดังในอดีตของฝรั่งเศส ส่วน 'มอริสซีย์' นักร้อง-นักดนตรีชื่อดังของอังกฤษ ซึ่งประณามว่า "นี่คือยุคที่คนโง่ครองโลก" 

ทางด้าน 'ทิม โดเฮอร์ตี้' ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยดีคินในออสเตรเลีย ระบุว่า แมวจรจัดอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่คุกคามสัตว์ขนาดเล็กต่างๆ เช่น นก วอลลาบี จนอาจจะถึงขั้นสูญพันธุ์ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ควรเหมารวมว่าการสูญพันธุ์หรือการลดจำนวนประชากรของสัตว์ต่างๆ เกิดจากแมวจรจัดอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงความเกี่ยวโยงทางระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมอื่นๆ ประกอบด้วย ไม่เช่นนั้นแล้วแมวอาจกลายเป็นแพะรับบาปในเรื่องที่ตัวเองไม่ได้ก่อ

ทั้งนี้ ดิอินดีเพนเดนท์รายงานอ้างอิงผลสำรวจสัตว์ในออสเตรเลียที่ถูกแมวจรจัดล่าจนตายในแต่ละปี เป็นนกราว 377 ล้านตัว และสัตว์เลื้อยคลานอีกราว 649 ล้านตัว แต่ออสเตรเลียไม่ใช่ประเทศเดียวที่ประสบปัญหาแมวจรจัดส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ เพราะนิวซีแลนด์ที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านก็ประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน โดยรัฐบาลนิวซีแลนด์ตั้งเป้าว่าจะต้องกำจัดแมวจรจัดให้ได้ภายปี 2050 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: