ไม่พบผลการค้นหา
เวทีเสวนาการเมืองระดับชาติสู่การเลือกตั้งท้องถิ่น 'ประจักษ์' แนะพรรคการเมืองลุยสนามท้องถิ่นชี้พลวัตรเชิงบวก 4 ด้าน ชี้ท้องถิ่นฐานรากประชาธิปไตย เสนอให้พรรคการเมืองมีบทบาทในท้องถิ่นลดการเมืองเชิงอุปถัมถ์ - ตระกูลการเมือง ด้าน 'นายกฯ ยะลา' ชู อิสระ-จัดการตนเอง ขณะที่ 'ธนาธร' ย้ำหยุดรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง ฉุดรั้งประเทศไทย ปัดพรรคอนาคตใหม่ลุยท้องถิ่นหวังฐานเสียง

สถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนาวิชาการหัวข้อ "อนาคตท้องถิ่นไทย : การเมืองระดับชาติสู่สนามเลือกตั้งท้องถิ่น" โดยมีนักการเมืองท้องถิ่นทั้งจากฝ่ายบริหารและสภา ตลอดจนข้าราชการภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมรับฟังกว่า 500 คน 

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ท้องถิ่นคือรากฐานการพัฒนาประเทศที่สำคัญ ซึ่งถูกละเลยมานาน การที่พรรคอนาคตใหม่ประกาศชัดว่า จะลงเลือกตั้งท้องถิ่น ไม่ใช่ต้องการสร้างฐานเสียง แต่ต้องการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ประเทศไทยดีขึ้น เพื่อหยุดการรวมศูนย์จากส่วนกลาง สร้างประชาธิปไตยจากพื้นฐาน ซึ่งยืนยันว่า อำนาจ งบประมาณ ประชาธิปไตย และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นคือเรื่องเดียวกัน เราอยากสร้าง อำเภอ ตำบลที่น่าอยู่ให้คนไทยทุกคน

"รูปแบบรัฐในปัจจุบันที่รวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ทำให้ประเทศไทยไปไกลกว่านี้ไม่ได้ เช่น การขนส่งสาธารณะทำไมจึงมีดีอยู่ที่กรุงเทพฯ อย่างเดียว แต่ทั่วประเทศเรื่องนี้มีปัญหามาก การคมนาคมคือการเข้าถึงโอกาส ถ้าทำให้ดี ภาระจากรถจะลดลงมหาศาล นี่คือเรื่องความเหลื่อมล้ำ แต่อำนาจตัดสินใจอยู่ที่ส่วนกลาง ถ้านำอำนาจการตัดสินใจเหล่านี้ไปอยู่กับประชาชน จะสามารถเชื่อมโยงขนส่งแต่ละสถานที่เข้าด้วยกันได้ทันที แต่ถ้าอำนาจไม่ให้ งบประมาณไม่ให้ ความไว้ใจไม่ให้ ประเทศไทยไปไม่ได้" นายธนาธร กล่าว

‘ประจักษ์’ แนะพลวัตรเชิงบวก 4 ด้าน ชี้เลือกตั้งท้องถิ่นสร้างประชาธิปไตย

ส่วนผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดี คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ มองว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นมีพลวัตรเชิงบวก 4 ด้าน ได้แก่

  • นวัตกรรมสูง
  • ประชาธิปไตยสูง
  • ตอบสนองได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
  • ธรรมาภิบาล ความรับผิดชอบต่อประชาชนมีสูง ถูกจับจ้องตรวจสอบจากทั้งประชาชน และองค์กรอิสระ ซึ่งการทุจริตนั้นมี แต่ปัญหาเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ กลับถูกขยายใหญ่ จนกลายเป็นความไม่ไว้ใจกัน

ทั้งนี้ แม้การเมืองระดับชาติผันผวน ท้องถิ่นจะอยู่ได้ถ้ามีผู้บริหารเก่ง การผูกขาดเป็นเรื่องยาก ถ้าการเมืองระดับชาติเปลี่ยน ท้องถิ่นจะยิ่งเปลี่ยน

อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้วท้องถิ่นคือสนามจากเบื้องล่างที่จะสร้างประชาธิปไตย ใน 3 มิติ คือ -

  • สถาบันการเมืองที่เข้มแข็ง
  • การมีส่วนร่วมทางการเมืองที่เป็นจริง
  • สร้างวัฒนธรรมและค่านิยมประชาธิปไตย

ที่ผ่านมาสังคมไทยมักมอง พรรคการเมือง และอปท.เป็นผู้ร้าย จึงทำให้ดูไม่ดี บทบาทของพรรคในเลือกตั้งท้องถิ่นมีน้อย มีบ้างในลักษณะไม่เป็นทางการ ทำให้การแข่งขันเชิงนโยบายไม่ชัดเจน 

"จึงควรส่งเสริมให้พรรคการเมืองมีบทบาทในการเลือกตั้งท้องถิ่นอย่างเปิดเผย จะช่วยสร้างสถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็ง สาขาพรรคที่มีจะเชื่อมโยงทำกิจกรรมกับท้องถิ่นให้คึกคักตลอด และจะทำให้พ้นจากความรุนแรง ระบบอุปถัมภ์ และตระกูลการเมืองได้ นโยบายที่เชื่อมโยงกับพรรคการเมืองจะถูกนำมาขาย ไม่ใช่เครือข่ายหัวคะแนน ทั้งยังจะช่วยให้เป็นการผลิตผู้นำ ให้นักการเมืองรุ่นใหม่ที่โตมาจากฐานราก และผลิตผลงานเป็นที่ประจักษ์มาแล้วก้าวขึ้นมาสู่การเมืองระดับชาติ" นักวิชาการรัฐศาสตร์กล่าว 

ด้านนายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนคร จ.ยะลา ระบุว่า หัวใจของท้องถิ่นคือ อิสระ และการจัดการตนเอง แม้เทศบาลเดียวกันยังบริหารแบบเดียวกันไม่ได้ หลายชุมนุมยังมีความแตกต่างกัน พรรคการเมืองที่จะส่งต้องทำความเข้าใจ ไม่อยากให้ใช้นโยบายที่กำหนดมาจากส่วนกลาง หวังใช้ท้องถิ่นเป็นฐานคะแนนเสียงเท่านั้น ท้องถิ่นจำเป็นต้องมีอิสระ ความคิดว่า ท้องถิ่นไม่มีความสามารถ ต้องให้ส่วนกลางส่งมานั้นเป็นอันตราย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :