ไม่พบผลการค้นหา
ความตระหนักเรื่องพลังงานสะอาดที่แพร่หลาย ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ปรับตัวอย่างมาก โดยในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา ค่ายรถหลากหลายต่างเปิดตัวรถยนต์ปลั๊กอิน-ไฮบริดกันคับคั่ง เพื่อรองรับผู้ใช้งานเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์เครื่องดีเซลสู่รถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม เรื่องกลับพลิกล็อก เมื่อผู้ใช้งานในประเทศพัฒนาแล้วเลือกมองข้ามปลั๊กอิน-ไฮบริด และหันไปจ่ายเงินให้รถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบแทน เพราะอยากใช้รถยนต์ที่ทันสมัยที่สุด และมีคุณค่าต่อสังคมที่สุด

นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับตลาดรถยนต์ในสหรัฐอเมริกา เพราะช่วงครึ่งปีหลังนี้ รถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบมาแรงมาก ยอดขายมากกว่ารถยนต์ตระกูลปลั๊กอิน-ไฮบริดเป็นเท่าตัว จากที่ยอดขายเคยเบียดกันสูสี กลับกลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มแซงหน้ารถยนต์ไฮบริดไปได้ทีละนิด

ราว 2 ทศวรรษมาแล้ว โลกตื่นตากับการเปิดตัวรถยนต์ ‘ไฮบริด’ จากหลายค่าย โดยเป็นรถยนต์ที่สามารถวิ่งด้วยแบตเตอรีไฟฟ้าในระยะทางสั้นๆ โดยเมื่อชะลอรถ หรือเบรก ไดนาโมจะปั่นกำลังไฟฟ้าเก็บไว้

000_1B869X.jpg

ถัดมาก็เป็นยุคของ ‘ปลั๊กอิน-ไฮบริด’ ที่ได้รับความนิยมในประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นรถยนต์ที่สามารถเสียบชาร์จกับไฟบ้าน ทำให้สามารถวิ่งด้วยไฟฟ้าในระยะทางไกลขึ้น เมื่อไฟฟ้าหมดก็ใช้ระบบน้ำมันแทน ถือเป็นระบบลูกผสม

มากไปกว่านั้น ขณะที่ทั้งสองใช้ไฟฟ้า และน้ำมันควบคู่กัน แต่หลายค่ายได้เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ (Electric Vehicle) และแข่งขันกันพัฒนาจนสามารถวิ่งได้ไกลราว 300 กิโลเมตร/ชาร์จ เกือบเทียบเท่ากับรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล

ส่วนเรื่องราคานั้น รัฐบาลแต่ละประเทศก็ช่วยอุดหนุน และโครงสร้างพื้นฐานอย่างจุดชาร์จไฟ ก็เริ่มเพิ่มมากขึ้นทุกหนแห่ง ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าจากหลายค่าย ไม่ว่าจะ ‘นิสสัน ลีฟ’ หรือ ‘เทสลา 3’ ก็กลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย และมียอดจองล้นหลาม

หลักฐานสำคัญที่บอกว่า รถยนต์ปลั๊กอิน-ไฮบริด เริ่มหมดยุคแล้ว น่าจะเป็นตัวอย่างจาก ‘บีเอ็มดับเบิลยู รุ่น 530อี’ (BMW 530e) ปลั๊กอิน-ไฮบริด ซึ่งหากพิจารณาเชิงสมรรถนะแล้วแม้จะน่าขับขี่มากกว่ารถยนต์ไฟฟ้าเทสลา 3 แต่ในปี 2017 ยอดขายบีเอ็มฯ คันนี้ หากเปรียบเทียบกับเทสลาแล้วคิดเป็น 1 ต่อ 15 เท่านั้นในตลาดสหรัฐอเมริกา

“รถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบให้ความรู้สึกหรูหรามากกว่านะผมว่า ผลิตง่าย อะไหล่ก็น้อย” ดิล ทาล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยรถยนต์ปลั๊กอิน-ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้า จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอเนียร์แสดงความคิดเห็น

“รถยนต์ปลั๊กอิน-ไฮบริด ดูเหมือนจะเป็นรถยนต์ทดสอบตลาดก่อนการมาถึงของรถยนต์ไฟฟ้าไปเลย”

ด้านยอดขายรถยนต์ในสหรัฐอเมริกาช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมาของปีนี้ มียอดขายของรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ส่วนยอดขายตระกูลไฮบริดลดลงนิดหน่อย และปลั๊กอิน-ไฮบริดเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

โดยยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ที่ 77,200 คัน จาก 33,900 คันเมื่อไตรมาสก่อน รถยนต์ปลั๊กอิน-ไฮบริด 28,800 คัน ลดลงจาก 31,000 คัน และรถยนต์ไฮบริดขายได้ 90,500 คัน จากไตรมาสที่แล้วที่ 88,000 คัน 

ผู้บริโภคมองว่า การใช้ปลั๊กอิน-ไฮบริดนั้นค่อนข้างซับซ้อน เพราะขับขี่ 2 ระบบ คือไฟฟ้าและน้ำมัน และต้องคำนวณค่าใช้จ่าย 2 ทาง ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าคำนวณแค่ว่า ขับขี่ได้กี่กิโลเมตร/ชาร์จ เท่านั้น

อีกสาเหตุสำคัญที่คนเลือกรถยนต์ไฟฟ้า แม้ราคาจะสูงกว่า เป็นเพราะสามารถแสดงให้เห็นถึง ‘ภาษีสังคม’ ที่มากกว่��� เนื่องจากแสดงให้เห็นว่า คุณเป็นคนก้าวทันเทคโนโลยี และเป็นประชากรที่รักษ์โลก

มีบางค่ายผลิตรถยนต์ที่ตัดสินใจข้ามการผลิตรถยนต์ปลั๊กอิน-ไฮบริดไปเลย อย่างทาทา มอเตอร์ส ผู้ผลิต ‘จากัวร์’ ที่เดินหน้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเต็มตัว โดยเตรียมส่ง I-Pace รถยนต์เอสยูวีไฟฟ้าเต็มรูปแบบ เข้าสู้กับรถยนต์ไฟฟ้าตลาดบนอย่างเทสลา

ไม่ใช่เพียงแค่สหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ทั่วโลกเองก็มียอดขายโดยรวมของรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบที่แซงหน้ารถยนต์แบบปลั๊กอินอย่างเห็นได้ชัด จากที่ปีก่อนหน้านี้ยังมียอดขายที่สูสีกันมาตลอด โดยในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกสูงถึง 329,100 คัน ขณะที่ปลั๊กอิน-ไฮบริดคิดเป็นครึ่งเดียวเท่านั้นที่ 163,200 คัน

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอเนียร์เชื่อว่า ปลั๊กอิน-ไฮบริดจะยังคงมีบทบาทในตลาดรถยนต์ไปจนถึงปี 2040 แต่ผู้บริโภคจะเห็นปัญหาของการขับขี่ 2 ระบบ ซึ่งใช้เงินในการซ่อมบำรุงสูงกว่า และหันมาใช้ไฟฟ้าเต็มรูปแบบในที่สุด

ที่มา:

On Being
198Article
0Video
0Blog