ไม่พบผลการค้นหา
รุ้ง ปนัสยา อ่านจดหมายเปิดผนึกถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมไทย ชี้การไม่ให้ประกันคดี 112 ผิดหลักการ ขอกระบวนการยุติธรรมอย่าตกเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ หวังศาลรักษาศักดิ์ศรี-เกียรติภูมิของตัวเอง

10.00 น. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง) แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เดินทางมาที่ศาลรัฐธรรมนูญ อาคาร A ศูนย์ราชการเพื่อทำกิจกรรมอ่านจดหมายเปิดผนึกถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม เรียกร้องให้ผู้มีที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมมีความเป็นกลางในการพิจารณาและดำเนินคดีความ โดยพึงระลึกถึงประชาชน เพื่อธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม และให้ตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรม

10.20 น. ปนัสยา ได้อ่านจดหมายเปิดผนึก จดหมายดังกล่าวเรียกร้องให้มีการสามารถประกันตัวผู้ต้องหาตามสิทธิ์ และดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมแห่งกฎหมาย พร้อมให้สัมภาษณ์ กล่าวถึงกระบวนการขั้นตอนการประกันตัว ซึ่งตามหลักสากลหากยังไม่มีการตัดสินสิ้นสุด ให้ตั้งไว้ก่อนว่าผู้นั้นเป็นผู้บริสุทธิ์มีสิทธิประกันตัวได้ แต่ศาลอนุมานว่าหากปล่อยไปอาจกระทำผิดซ้ำ ซึ่งหากพูดแบบง่ายๆ คือศาลไปตัดสินพวกเขาว่าผิดแล้วหรือ จึงได้ออกมาพูดในลักษณะเช่นนั่น และกล่าวถึงการชุมนุมวันที่ 13 ก.พ. 2564 ที่ไม่สามารถควบคุมมวลชนได้ พร้อมกล่าวขอโทษ แต่จะยึดมั่นในแนวทางเดิม

ทั้งนี้ ปนัสยา ได้เดินทางไปต่อที่ กระทรวงยุติธรรม ศาลอาญา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักนายกรัฐมนตรี

สำหรับเนื้อหาในจดหมายเปิดผนึกมีรายละเอียดดังนี้

ถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม

เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลกว่า การเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทย ได้ทวีความเข้มข้นขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะนับตั้งแต่กลางปี 2563 เป็นต้นมา ประชาชนจำนวนมหาศาลได้ออกมาร่วมกันชุมนุมโดยสงบ สันติ และปราศจากอาวุธ ครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อส่งเสียงเรียกร้องไปยังรัฐบาลและผู้มีอำนาจ ถึงความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ไปสู่การเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงดังนานาอารยะประเทศ ต้องการที่จะเห็นความเป็นธรรมในสังคมไทย อันหมายถึงความเท่าเทียมในศักดิ์ศรีและโอกาสของประชาชนทุกคน ภายใต้ข้อเรียกร้อง 3 ข้อคือ (1) ขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โ อชา และองคาพยพ (2) แก้ไขรัฐธรรมนูญ และ (3) ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย

แต่ก็เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลกอีกเช่นกันว่า รัฐไทยได้เลือกที่จะใช้วิธีการที่รุนแรง และเกินกว่าเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการใช้กำลังประทุษร้าย การใช้กระบอง กระสุนยาง แก็สน้ำตา และรถฉีดน้ำแรงดันสูง มาตอบโต้ และปราบปรามผู้ชุมนุมที่ปราศจากอาวุธ ไม่เว้นแม้ใจกลางเมืองหลวง และต่อหน้าสื่อมวลชน หลายครั้งหลายหน

ยิ่งไปกว่านั้น คือการจับกุมผู้ปราศรัยและผู้ชุมนุมเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง และบ่อยครั้งด้วยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น จับกุมและควบคุมตัวไปยังกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 (บก.ตชด.1) แทนที่จะเป็นสถานีตำรวจในพื้นที่ การปฏิเสธให้ทนายและญาติเข้าร่วมการสอบสวน รวมถึงการตั้งข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือ "ข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคง" และมาตรา 112 ที่รู้จักกันดีในนาม "ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์" ซึ่งอัตราโทษสูงอย่างเกินกว่าเหตุ

และที่เลวร้ายและขัดต่่อหลักสิทธิมนุษยชนอย่างมากก็คือ การปฏิเสธสิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องหาในระหว่างการดำเนินคดี ดังกรณีล่าสุดคือ การปฏิเสธสิทธิในการประกันตัวของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ นายอานนท์ นำภา นายสมยศ พฤษาเกษมสุข และนายปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ที่ถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 เป็นเหตุให้ทั้ง 4 คนยังถูกจองจำอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จวบจนวินาทีนี้

ทั้งที่ตามหลักการ "Presumption of Innocence" ซึ่งใช้ในกระบวนการยุติธรรมทั่วโลก ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า ในคดีอาญา ระหว่างที่คดียังไม่สิ้นสุด ให้อนุมานว่าผู้ภูกกล่าวหา หรือจำเลยนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีความผิด และ "จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้" ซึ่งหลักการนี้ได้ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ แม้แต่ฉบับปัจจุบันซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย ก็ยังให้การรับรองสิทธินี้ไวในมาตรา 29 วรรค 2 อย่างชัดเจนว่าเป็นสิทธิของปวงชนชาวไทย

การที่ศาลปฏิเสธในการประกันตัวโดยให้เหตุผลว่าทั้ง 4 คน "มีพฤติกรรมที่อาจจะกระทำผิดซ้ำ" ซึ่งเป็นการ "พิพากษาล่วงหน้า" ว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงและอาจทำซ้ำ จึงขัดต่อหลัการ "Presumption of Innocence" และเป็นการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญของจำเลยทั้ง 4 คนอย่างชัดเจน

ยิ่งไปกว่านั้น การที่ศาลปฏิเสธให้ประกันตัวของผู้ต้องหาหรือจำเลยตาม มาตรา 112 ให้จองจำเอาไว้อย่างไม่เป็นธรรม ทั้งที่คดียังไม่ได้เริ่มการไต่สวน ทั้งที่ผู้ต้องหาไม่มีพฤติกรรมหลบหนี ในขณะที่ยังคงให้สิทธิประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาอื่นๆ ที่มีอัตราโทษรุนแรง เช่น ต้องหาว่าฆ่าคนตายโดยเจตนา จึงอาจนำไปสู่การสร้างมาตรฐานอันไม่ชอบธรรม นั่นคือ ผู้ต้องหาในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับสิทธิประกันตัวมากกว่าคดีอาญาอื่นๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นการละเมิดสิทธิประชาชนรวมถึงผู้ที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมในกรณีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์แล้ว ยังทำลายเกียรติภูมิของศาล และกระบวนการยุติธรรมให้ย่อยยับลง จนอาจถูกติฉินนินทาจากนานาประเทศว่า ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองภายในประเทศจนละทิ้งศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิ

เพื่อธำรงไว้ซึ่งเกียรติภูมิของศาล และความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนต่อหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม "เรา" ในนาม "ราษฎร" ขอเรียกร้องให้มีการอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้ง 4 คน และผู้ต้องหาในคดีที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวเรียกร้องทาวงการเมืองทั้งหมด

และขอเรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลอาญา สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตลอกจนหน่วยงานอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงธรรม และคำนึงถึงเกียรติ ศักดิ์ศรีของความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจะมีได้ก็ต่อเมื่อปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อประชาชนเท่านั้น