ไม่พบผลการค้นหา
‘ค่าเงินบาท’ อ่อนลงเล็กน้อย นักวิเคราะห์ชี้ มาจากปัจจัยต่างประเทศมากกว่านโยบายของ ‘แบงก์ชาติ’

สถานการณ์ค่าเงินบาทของไทยยังมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ต้นปีถึงล่าสุด เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากว่าร้อยละ 5 กระทั่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องออกมาตรการดูแลสถานการณ์เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา ประกอบไปด้วย

(1) ปรับหลักเกณฑ์มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท ในส่วนของยอดคงค้างบัญชีเงินฝากสกุลบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ จาก 300 ล้านบาทต่อบัญชี เหลือ 200 ล้านบาทต่อบัญชี

(2) ยกระดับการรายงานข้อมูลการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติให้ลึกขึ้นถึงระดับชื่อของผู้ได้รับผลประโยชน์แท้จริง

มาตรการแบงก์ชาติ นโยบายเชิงสัญลักษณ์

แม้การส่งมาตรการดังกล่าวผ่านมากว่า 1 สัปดาห์ จะทำให้เงินบาทอ่อนค่าจากระดับ 30.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ลงมาอยู่ที่ราว 30.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ 'รุ่ง สงวนเรือง' ผู้อำนวยการผู้บริหารกลุ่มวิจัยและวิเคราะห์ตลาดการเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มองว่า แท้จริงแล้ว ปัจจัยจากต่างประเทศที่หนุนให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น มีน้ำหนักกับการอ่อนค่าของเงินบาทมากกว่า

‘รุ่ง’ อธิบายว่า แต่เดิมนักลงทุนทั่วโลกมองว่าธนาคารกลางของสหรัฐฯ หรือ เฟด จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงถึงร้อยละ 0.50 อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา กลับมีความเห็นจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดที่ออกมาบอกว่า การประชุมของเฟดช่วงปลายเดือนนี้ (30-31 ก.ค.) จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพียงร้อยละ 0.25 เท่านั้น ส่งผลให้นักลงทุนหันกลับไปถือสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มากขึ้นดันเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น

ขณะที่ 'จิติพล พฤกษาเมธานันท์' นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย มองว่า มาตรการแบงก์ชาติที่ออกมายังไม่สามารถห้ามกระแสเงินไหลเข้าได้อย่างมีประสิทธิภาพขนาดนั้น อีกทั้งก็ยังไม่มีกระแสเงินไหลออกจากประเทศอย่างชัดเจน





ธนาคารแห่งประเทศไทย ธปท ดอกเบี้ย การเงิน กนง
“มาตรการที่ออกมามันเป็นแค่สัญลักษณ์ เพื่อบอกว่าประเทศไทยจริงจังกับกลุ่มที่เข้ามาเก็งกำไรค่าเงิน” จิติพล กล่าว


‘เงินบาทไทย’ อ่อนแล้ว

จากข้อมูลของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ตัวเลขอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา หรือ 1 วันก่อนที่แบงก์ชาติจะออก 2 มาตรการ ‘ดึงเบรก’ กระแสเงินไหลเข้าประเทศ อ่อนมากที่สุดในเอเชีย โดยอ่อนลงมาราวร้อยละ 1 นับตั้งแต่ก่อนวันที่ ธปท. ประกาศมาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย ขณะที่สกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย อาทิ สกุลเงินรูเปียะห์ของอินโดนีเซียแข็งค่าขึ้นมาราวร้อยละ 0.6

ข้อมูลสกุลเงินบาทและสกุลเงินเพื่อนบ้าน ณ ปัจจุบันจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา ชี้ให้เห็นว่า เงินบาท ขณะนี้ อ่อนค่าลงราวร้อยละ 0.1 เทียบกับระดับปิดตลาดวันก่อนหน้า เช่นเดียวกับ สกุลเงินริงกิตของมาเลเซีย สกุลเงินเปโซของฟิลิปปินส์ และสกุลเงินหยวนของจีน ขณะที่สกุลเงินดอลลาร์สิงคโปร์กลับอ่อนลงไปถึงร้อยละ 0.5

‘เทรนด์’ ยังเป็นการแข็งค่า

ค่าเงินบาทในมุมมองของธนาคารกรุงศรีอยุธยายังอยู่ในแนวโน้มที่จะกลับมาแข็งค่าในระยะยาว โดย ‘รุ่ง’ ชี้ว่า คาดการณ์เงินบาท ณ ปลายปี 2562 น่าจะอยู่ที่ระดับ 30.50 บาท/ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในระยะสั้นนี้อาจมีการปรับตัวอ่อนลงได้บ้างจากปัจจัยต่างประเทศ ทั้งความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งความตึงเครียดในตะวันออกกลาง

ขณะที่ ‘จิติพล’ ชี้ว่า อนาคตของค่าเงินบาทขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละสถาบัน อย่างไรก็ตาม แบงก์ชาติ ในฐานะผู้ควบคุมดูแลค่าเงินบาท จำเป็นต้องออกมาตรการที่มีผลในเชิงประจักษ์มากกว่ามาตรการที่เป็นเพียงสัญลักษณ์หากต้องการจะเข้ามาควบคุมสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าอย่างแท้จริง

อย่าเอา ‘ค่าเงิน’ มาบั่นทอน ‘การส่งออก’

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) แสดงรายงานตัวเลขการส่งออกประจำเดือนมิถุนายน 2562 โดยหากตัดการส่งออกทองคำออกไป การส่งออกของไทยหดตัวถึงติดลบร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า หากไม่ตัดการส่งออกทองคำประจำเดือนมิถุนายนที่เติบโตถึงร้อยละ 317.4 การส่งออกของไทยจะติดลบอยู่ที่ร้อยละ 2.1

AP-ปืน-อาวุธปืน-ปืนพก

นอกจากนี้ หากไม่รวมการส่งกลับอาวุธไปยังสหรัฐฯ ในเดือน ก.พ. มูลค่าส่งออกของไทยหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 และในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 มูลค่าการส่งออกหดตัวที่ติดลบร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งการคาดการณ์ส่งออกปี 2562 จะหดตัวติดลบร้อยละ 1.6 โดยอาจติดลบได้มากสุดที่ร้อยละ 3.1 ในกรณีเลวร้ายที่สุด

จากสถานการณ์ดังกล่าว ‘รุ่ง’ ชี้ว่า แม้ค่าเงินบาทจะเป็นส่วนหนึ่งที่บั่นทอนการส่งออกของไทย แต่ไม่อยากให้ผู้ประกอบการมองแต่ตัวเลขค่าเงินเพียงอย่างเดียว เพราะในความเป็นจริงยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากที่เข้ามาบั่นทอนการส่งออกของไทย ทั้ง คุณภาพสินค้าและต้นทุนการผลิต พร้อมชี้ทางออกว่า ในสถานการณ์ที่เงินบาทค่อนข้างแข็งตัว ผู้ประกอบการณ์ควรให้ความสำคัญกับการนำเข้าเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตน


“ถ้าเรามีสินค้าที่ฝั่งตรงข้ามก็มี แล้วไปสู้เฉพาะค่าเงินอย่างเดียว ต่อให้เงินอ่อนแค่ไหนอนาคตก็ไม่รอดอยู่ดี” จิติพล กล่าว


พร้อมกับให้คำแนะนำว่า หากผู้ประกอบการขายสินค้าที่ประเทศคู่แข่งก็ขายเช่นเดียวกัน ต่อให้ค่าเงินบาทอ่อน ในระยะยาวก็ไม่ใช่ทางออกที่มั่นคงอยู่ดี แต่หากไทยขายสินค้าที่ผู้ซื้อต้องซื้อจากเราเท่านั้น ต่อให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นผู้ประกอบการก็จะไม่รับผลกระทบมากขนาดนั้นเพราะอุปสงค์ยังคงอยู่กับเรา

ด้าน ‘กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์’ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ชี้แจงว่า จากตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์ที่ระบุว่า การส่งออกของไทยในช่วง 6 เดือนแรก ติดลบร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า และตัวเลขการส่งออกในเดือนมิถุนายนลดลงติดลบร้อยละ 2.2 เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกและสงครามการค้าเป็นหลัก มากกว่าปัจจัยเงินบาทแข็ง เพราะแท้จริงแล้วเงินบาทพึ่งมาเริ่มแข็งค่าอย่างชัดเจนในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม กัณญภัค ชี้ว่า เงินบาทที่แข็งค่าก็ส่งผลกระทบต่อศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการ และมองว่าหากค่าเงินลงไปอ่อนได้ที่ระดับ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ น่าจะส่งผลดีต่อผู้ส่งออกกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่




ข่าวที่เกี่ยวข้อง ;