ไม่พบผลการค้นหา
อดีตรองนายกฯ ชี้ เศรษฐกิจไทยซบต่ออีก 5 ปี ผลพวงการขาดความรู้ของรัฐบาล ท่ามกลางมหาวิกฤต เศรษฐกิจ-การเมือง-ความยุติธรรม

ดร. วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ชำแหละโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ในงานสัมนาฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ 2020 ว่าประเทศ ณ ปัจจุบันไม่ได้เผชิญหน้าแค่กับวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ยังต้องต่อสู้กับวิกฤตการเมือง และวิกฤตในกระบวนการยุติธรรม ดร. วีรพงษ์ ย้ำว่า ที่ผ่านมา วิกฤตเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามรอบประมาณทุกๆ 10 ปี และตามมาด้วยวิกฤตการเมือง แต่ประเทศไทยยังไม่เคยเผชิญหน้ากับวิกฤตความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมซึ่งเคยเป็นที่พึ่งสุดท้ายมาตลอด


ใครบอกส่งออกไม่สำคัญคนนั้นไม่รู้จักเศรษฐกิจไทย

ดร. วีรพงษ์ ชี้ว่าประเทศไทยต้องพึ่งการส่งออกเป็นหลัก โดยมีมูลค่าถึงร้อยละ 70 ของรายได้ประชาชาติ พร้อมชี้ว่า ที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบันเคยออกมาพูดว่า การส่งออกเป็นเรื่องไม่สำคัญ และประเทศสามารถหวังพึ่งการบริโภคภายในประเทศได้ ซึ่งคำพูดดัฃกล่าว "เป็นคำพูดที่โง่เขลา และ คงจะหลอกทหารได้ แต่หลอกพวกเราที่อยู่กับขบวนการเศรษฐกิจ การเงิน และการผลิตไม่ได้"

นอกจากนี้หากประเทศไทยไม่สามารถส่งออกและไม่มีนักท่องเที่ยว รายได้ประชาชาติจะเหลือแค่ร้อยละ 30 จากรายได้ประชาชาติในปัจจุบัน ปัญหาสำหรับไทยที่เป็นประเทศพึ่งการส่งออกสินค้าและบริการคือในยามที่เศรษฐกิจโลกดี เศรษฐกิจไทยก็ดีไปด้วย ในยามที่ตลาดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมดี ราคาสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมก็จะดีไปด้วย

สินค้าทุกชนิดที่ไทยส่งออกและนำเข้า ประเทศไม่สามารถกำหนดราคาได้ ต้องเป็นไปตามราคาตลาด อาทิ ข้าว น้ำตาล ยางพารา มันสำปะหลัง แต่ราคาที่เป็นเงินบาท ไทยยังสามารถกำหนดได้พอสมควร ผ่านอัตราแลกเปลี่ยน ถ้าเงินบาทอ่อน แม้ราคาสินค้าต่างประเทศไม่ขึ้น ราคาสินค้าในประเทศจะแพงขึ้นอยู่ดี และถ้าเงินบาทแข็ง แม้ราคาสินค้าต่างประเทศไม่เปลี่ยนแปลง สินค้าก็จะต่ำลง

ดร. วีรพงษ์ ชี้ว่า ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่มีความรู้เนื่องนี้เลย เพราะคำให้สัมภาษณ์ ของนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย บอกว่าอัตราแลกเปลี่ยนไม่มีผลต่อการส่งออกทั้งๆ ที่ค่าเงินบาทมีผลต่อผู้ส่งออกอย่างมาก พร้อมย้ำว่าถ้าตนเป็นนายกรัฐมนตรีจะปลดผู้ว่าฯ ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง

"เอาคนตาบอดมาร่วมกัน ต่างคนก็ต่างไม่รู้" ดร. วีรพงษ์ กล่าว

ตั้งแต่ 1 ม.ค. - 31 ธ.ค. 2562 สกุลเงินบาทของไทยเป็นสกุลที่แข็งที่สุดในโลก ซึ่งเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง ที่รัฐบาลไม่ยอมดูแลอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งสำคัญที่สุด จึงทำใหเอัตราการเติบโตถดถอยมาเรื่อยๆ จากแค่ในอาเซียน จนกลายเป็นล้าหลังที่สุกในอาเซียน และกำลังจะติดลบในปีนี้

ดร. วีรพงษ์ ชี้ว่า จากการลองคำนวนผ่านเศรษฐมิติ หากอยากให้ อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศโต (จีดีพี) ได้ร้อยละ 4 ต่อปี อัตราเงินบาทต้องอยู่ที่ 33 บาท / 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ และถ้าอยากให้จีดีพีโตร้อยละ 5 ต่อปี อัตราเงินบาทต้องอยู่ที่ 35 บาท / 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่อัตราเงินบาทอยู่ที่ 30 บาท / 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ จีดีพีไทยจะโตแค่ร้อยละ 0 เท่านั้น การที่การส่งออกตกจากที่เคยน้อยบ้างมากบ้างกลายเป็นหดตัว ไทยที่เคยคาดจะใช้ท่องเที่ยวผิดพลาดหมด ภาวะเศรษฐกิจไทย

ดร. วีรพงษ์ เปรียบว่า "ปีที่แล้วเผาหลอก ต้นปีนี้เผาจริง ปลายปีเก็บกระดูกไปลอยอังคาร นี่พูดจากตัวเลขข้อมูล"


ต่างชาติเป็นประชาธิปไตย

ดร. วีรพงษ์ชี้ว่า ประเทศไทยที่มีเศรษฐกิจต้องขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลก ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาที่ผู้นำประเทศไม่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ทำให้ไม่สามารถพัฒนาการค้าและการส่งออกได้อย่างที่ควรจะเป็น จนทำให้ประเทศหลุดจากการเป็นเสือตัวที่ 5

ดร. วีรพงษ์ ย้ำว่า "ไทยไม่ใช่ประเทศด้อยพัฒนาหรือกึ่งพัฒนา แต่เป็นประเทศที่อยู่ในระดับกำลังพัฒนาขั้นสูง และจะพ้นในเวลาไม่นาน แต่บังเอิญเกิดรัฐประหาร จึงทำให้ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก เพราะโลกเป็นโลกาภิวัฒน์ เนื่องจากทุกอย่างไร้พรมแดน เป็นการเกาะกลุ่มเป็นเขตเศรษฐกิจ แต่ในสายตาของประชาคมโลก ระบอบการปกครองของไทยล้าหลัง จึงเป็นที่รังเกียจของสังคมโลก"

สำหรับประเด็นว่าเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้นไหม ดร. วีรพงษ์ ชี้ว่าจำเป็นต้องประเมินจากเศรษฐกิจโลก ซึ่งล่าสุด 'โดนัลด์ ทรัมป์' ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ได้ออกมาตอบโต้ ธนาคารกลางของสหรัฐฯ หรือเฟด ที่มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายว่าเป็นมาตรการที่ตนไม่เห็นด้วย เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่ดี ประกอบกับเมื่อหันมาดูโครงสร้างเศรษฐกิจไทย

ดร. วีรพงษ์ ชี้ว่า ตามปกติแล้วในภาวะเศรษฐกิจซบเซาก็มักจะตามมาด้วยการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และการขาดดุลการชำระเงิน เมื่อการส่งออกซบเซา การนำเข้าจะขยายตัว จึงเป็นเหตุให้ขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น

แต่เศรษฐกิจซบเซาในครั้งนี้ การส่งออกลดลงแต่การนำเข้ากลับหดตัวมากกว่าการหดตัวของการส่งออก จึงเป็นเหตุให้ไม่ขาดดุลมาก เงินบาทก็ไม่อ่อน กลับกลายเป็น เศรษฐกิจซบเซาแต่เงินบาทแข็ง ซึ่งพอบาทแข็งก็เกิดการเก็งกำไร ด้วยกองทุน 'อีแร้ง' แบบครั้งของ จอร์จ โซรอส โดยครั้งนี้เปลี่ยนไปที่ตราสารหนี้ที่มีพันธบัตรรัฐบาลอยู่ด้วย

การเก็งกำไรดังกล่าวเป็นเหตุให้พันธบัตรรัฐบาลมีราคาสูงขึ้น ทำให้ผลตอบแทนมีอัตราต่ำลง ปกติในตราสารระยะยาวดอกเบี้ยควรสูงกว่าการฝากเงิน หรือการซื้อตราสารระยะสั้น แต่การที่ดอกเบี้ยระยะยาวต่ำลงเช่นนี้ ในระบบเศรษฐกิจคาดว่าความซบเซาจะยังอยู่กับเราไปอีกนาน สิ่งนี้เป็นเครื่องชี้ไปข้างหน้า สะท้อนให้เห็นว่า คนมองว่าเศรษฐกิจซบเซาจะอยู่กับเราไปอีกนาน

ทั้งนี้ ดร. วีรพงษ์ อธิบายว่า "เวลาฟังสัมภาษณ์แล้วอยากปิดทีวี ไม่ตำหนินายกฯ ที่ไม่เข้าใจ เพราะมันไม่ง่าย แต่เรื่องไม่ง่าย การเป็นผู้นำไประเทศที่ดี ต้องหาคนดีมีฝีมือมีเป็นที่ปรึกษา"

ดร. วีรพงษ์ ย้ำว่า ด้วยรอบของเศรษฐกิจ ความตกต่ำหน้าจะอยู่กับประเทศอีกประมาณ 5 ปี


เลิกแก้ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และทรัพย์สิน

ดร. วีรพงษ์ อธิบายว่า ความเหลื่อมล้ำเรื่องรายได้เป็ยเรื่องที่พูดกันมากแต่ก็แก้ไขอะไรไม่ได้ เนื่องจากไทยต้องแข่งขันกับต่างประเทศ และมาตรการที่จะลดความเหลื่อมล้ำ เป็นมาตรการลงโทษผู้ผลิต ผู้ลงทุน ทำให้ความสามารถการแข่งขันลดลง แต่ควรให้หันไปที่คุณภาพชีวิต แทนรายได้และทรัพย์สิน พร้อมย้ำว่า ให้ลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องคุณภาพชีวิต เพราะไม่มีความจำเป็นต้องลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และทรัพย์สิน "คนมีรายได้สูงแปลว่าคนเก่ง และเราต้องให้คนเก่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จะไปลงโทษเขาทำไม"

รัฐบาลควรเน้นไปที่คนที่ใช้จากสังคมมาก คือผู้ที่บริโภคมากควรโดนภาษีจากสังคมมาก โดยหันไปเก็บภาษีจากการบริโภคและลดอัตราภาษีเงินได้ทั้งส่วนนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาลง

ดร. วีรพงษ์ อธิบายว่า นี่เป็นรูปแบบภาษีสมัยใหม่ที่ยังเป็นเรื่องไม่เข้าใจในวงกว้าง ทั้งนี้ ดร. วีรพงษ์ย้ำว่า เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร มาตรการประกันรายได้เป็นมาตรการที่ถูกแล้ว เนื่องจากการประกันราคาไม่ได้ผลจากราคาสินค้าที่ขึ้นกับตลาดโลก แต่ต้องย้ำให้เป็นการมอบเงินตรงให้ถึงมือเกษตรกร ขณะเดียวกัน ให้ช่วยเหลือคนชนชั้นกลางผ่านมาตรการทางภาษี อาทิ การลดภาษี และมาช่วยผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ผ่านมาตรการ 'ซอร์ฟโลน' ผ่านธนาคารกรุงไทด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ท้ายสุด

ดร. วีรพงษ์ ย้ำว่า ปัญหาทุกอย่างแก้ได้ ถ้าเริ่มจากการมีระบอบประชาธิปไตย เพราะไม่สามารถมีนักการเมืองคยไหนนั่งในตำแหน่งได้ ถ้าเศรษฐกิจประเทศเป็นเช่นปัจจุบัน แต่ที่รัฐบาลยังนั่งอยู่ได้ท่ามกลาง "มหาวิกฤต" ในปัจจุบันเป็นเพราะ "มีปืน'