นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงข่าวสภาพเศรษฐกิจประจำเดือน เม.ย.เผชิญหน้ากับภาวะเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจทิ้งดิ่งแทบทุกส่วนโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว เหลือแค่เพียงการใช้จ่ายภาครัฐที่ยังเป็น ‘พระเอก’ ของการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ
เมื่อมองจากอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสถานการณ์วิกฤตโรคระบาดในปัจจุบัน ดอนชี้ว่าจำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าไทยในเดือน เม.ย.ติดลบร้อยละ 100 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า หรือเรียกได้ว่าไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาไทยเลยจากมาตรการล็อกดาวน์และการจำกัดการเดินทาง
ขณะที่มูลค่าการส่งออกประจำเดือน เม.ย.ยังมีทิศทางลดลงจากเดือนก่อนหน้าลงไปอยู่ที่ติดลบร้อยละ 3.3 จากที่อยู่ที่การติดลบร้อยละ 2.2 ในเดือน มี.ค.อย่างไรก็ตามหากไม่นับรวมการส่งออกทองคำที่มีมูลค่าสูงอย่างมีนัยสำคัญ กว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 63,600 ล้านบาทตัวเลขมูลค่าการส่งออกจะดิ่งลงไปติดลบที่ร้อยละ 15.9 โดยเป็นการหดตัวสูงในหมวดยานยนต์และชิ้นส่วน สินค้ากลุ่มที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องจักรและอุปกรณ์ จากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าและราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลงมาก ขณะที่ฝั่งการนำเข้าสินค้าของไทยที่ไม่รวมการนำเข้าทองคำก็ติดลบถึงร้อยละ 17 ซึ่งสะท้อนความกังวลในฝั่งการลงทุนภาคเอกชนที่ติดลบถึงร้อยละ 6.1
นายดอนชี้ว่า เมื่อมองในระยะต่อไปสถานการณ์การส่งออกของประเทศน่าจะยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากสภาพการค้าโลกผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ทั้งในฝั่งคำสั่งซื้อเพื่อการส่งออก, ผลผลิตในอนาคต และตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อทั่วโลกล้วนมีทิศทางทิ้งดิ่งทั้งหมด เช่นเดียวกับตัวเลขคำสั่งซื้อล่วงหน้า 3 เดือนของการส่งออก
ทั้งนี้ ธปท.ชี้ว่า ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา การใช้จ่ายภาครัฐเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจเดียวที่ยังขยายตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งจากรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการระบาดของโรคระบาด ขณะที่รายจ่ายลงทุนขยายตัวจากการเบิกจ่ายทั้งในส่วนของรัฐบาลกลางและรัฐวิสาหกิจ
สำหรับการบริโภคภาคเอกชน ตัวเลขออกมาที่ติดลบร้อยละ 15.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่ง ธปท.ชี้แจ้งว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากปัจจัยสนับสนุนด้านกำลังซื้อภาคครัวเรือนที่อ่อนแอลงมาก ทั้งด้านการจ้างงาน รายได้ และความเชื่อมั่น
ผอ.อาวุโสฝ่ายมหภาคฯ ย้ำว่า ธปท.มีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์การจ้างงานแรงงาน ซึ่งตามข้อมูลจากระบบประกันสังคมพบว่า จำนวนลูกจ้างและสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดกิจการชั่วคราว (มาตรา 75) มีมากถึง 465,218 ราย ในฝั่งลูกจ้าง และสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบมีถึง 2,406 บริษัท
ขณะที่ฝั่งรายได้ของเกษตรกรก็ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกันแม้ราคาสินค้าเกษตรจะยังปรับตัวเพิ่มอยู่ ดัชนีรายได้เกษตรกรของ ธปท.ในเดือน เม.ย.อยู่ที่ติดลบร้อยละ 10.1 สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตภาคการเกษตรที่ติดลบมากถึงร้อยละ 13.2 ซึ่งปัญหารายได้ของประชาชนทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรสะท้อนออกมาในฝั่งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังคงทิ้งดิ่งและทำสถิติต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์มาแทบทุกเดือนตั้งแต่ต้นปี
แบงก์ชาติปิดท้ายว่าในประเด็นด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้เศรษฐกิจจะยังมีแนวโน้มเดินหน้าเข้าสู่ปัญหา หรือความเปราะบางดูจะสูงขึ้นทั้งจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้นหรือปัญหาการว่างงานของประชาชน