นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) และ เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน ( กนง. ) กล่าวว่า ที่ประชุม กนง. (วันนี้ 28 มี.ค.) มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี โดยมีคณะกรรมการ 1 เสียง ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ให้เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปี เนื่องจากเห็นว่าภาวะการเงินที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจประเมินความเสี่ยงในอนาคตต่ำกว่าที่ควร และเห็นว่าการลดระดับการผ่อนคลายนโยบายการเงินลงบ้าง ไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ที่ประชุม กนง. ยังปรับเพิ่มอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 4.1 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิมที่คาดว่าโตร้อยละ 3.9 พร้อมกับปรับเพิ่มประมาณการส่งออกขยายตัวร้อยละ 7 จากเดิมคาดโตร้อยละ 4 โดยประมาณว่าการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องคาดมีจำนวนนักท่องเที่ยวมาไทย 37.6 ล้านคน
ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2562 คาดว่าขยายตัวร้อยละ 4.1 ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นช้ากว่าที่คาดอยู่ที่ร้อยละ 1 เนื่องจากผลกระทบจากราคาอาหารสด โดยเฉพาะเนื้อหมู และ ผักสด ที่ลดลงมากกว่าคาด โดยอาหารสด และ อาหารสำเร็จรูป มีสัดส่วนในการคำนวณเงินเฟ้อประมาณร้อยละ 30
อย่างไรก็ตาม กนง.ยังเชื่อว่าเงินเฟ้อจะเข้าสู่กรอบล่างประมาณร้อยละ 1 ในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ ตามที่เคยประเมินไว้
"การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่กระจายตัว กำลังซื้อของแรงงานที่มีรายได้ต่ำยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากผลตอบแทนจากการจ้างรายวัน และมีการโยกย้ายแรงงานไปภาคบริการมีอัตราค่าจ้างงานต่ำกว่าภาคผลิต หลังผู้ประกอบการหันมาใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคนในภาคการผลิต" นายจาตุรงค์ กล่าว
นอกจากนี้ กนง. ยังจับตาปัจจัยเสี่ยงสงครามการค้าโลก ซึ่งมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งผลกระทบจากการขึ้นภาษีเหล็กและอลูมิเนียมจากสหรัฐ และ มาตรการตอบโต้จากคู่ค้าของสหรัฐ ที่อาจส่งผลลบต่อการค้าโลก และ การส่งออกไทย นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน ยังคงมีความผันผวน เพราะจากภาวะตลาดการเงินโลก นโยบายเศรษฐกิจการเงินในประเทศอุตสาหกรรมหลัก
เสียงแตกมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้น
ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC คาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับร้อยละ 1.5 ต่อเนื่องทั้งปี แต่โอกาสที่ กนง. ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ ก็มีมากขึ้น สะท้อนจากคณะกรรมการ 1 ท่าน ออกเสียงให้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากความกังวลเรื่องเสถียรภาพระบบการเงินเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม อีไอซี มองว่าอาจเป็นการเริ่มส่งสัญญาณเพื่อให้สาธารณะได้เริ่มปรับมุมมองต่อการดำเนินนโยบายทางการเงิน นอกจากนี้ การปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของ ธปท. ก็สะท้อนความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อจะไม่สามารถกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายภายในปีนี้มีมากขึ้น อีกทั้งยังต้องติดตามการสื่อสารของ กนง. อย่างใกล้ชิด ต่อประเด็นน้ำหนักของเป้าหมายด้านต่างๆ ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น
โดยเฉพาะความสำคัญและความเสี่ยงเชิงเปรียบเทียบระหว่างการดูแลอัตราเงินเฟ้อให้กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน อีกทั้ง หากเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ยังโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง ก็อาจทำให้ กนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ยากขึ้น เพราะจะทำให้อัตราผลตอบแทนในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ กนง. กังวลและได้มีมาตรการดูแลไปก่อนหน้านี้
จับตา 'สงครามการค้าสหรัฐ-จีน' พลิกเศรษฐกิจโลก
นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า การที่ กนง. ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจใหม่มาอยู่ที่ร้อยละ 4.1 จากเดิมคาดว่า โตร้อยละ 3.9 สะท้อนถึงมุมมองการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเด็นของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่ต้องจับตามองอย่างมากคือ ผลกระทบจากปัญหาการค้าระหว่างประเทศไทย หลังจากสหรัฐอเมริกาออกมาตรการเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ
ดังนั้น สำหรับศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงยังคงประมาณการจีดีพีปีนี้ไว้ที่ร้อยละ 4 เหมือนเดิม และขอดูสถานการณ์ในช่วงเดือนเม.ย. -พ.ค. รวมถึงดูตัวเลขส่งออกให้ชัดเจน ค่อยมาพิจารณาปรับประมาณการณ์
"สำหรับแนวโน้มการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคงเป็นไปได้ยากแล้ว นอกเสียจากจะมีเหตุการณ์ที่รุนแรงมากๆ ในต่างประเทศ หรือ การส่งออกของไทยไม่เติบโตไปตามที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมาย รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด เลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายออกไปจากประมาณการ ซึ่งทั้ง 2-3 ปัจจัยนี้ ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ยาก ดังนั้น ถ้าดูจากสถานการณ์ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ดูจะมีแนวโน้มอยู่ในระดับนี้ หรืออาจจะปรับขึ้นได้ในที่สุด" นายเชาว์ กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ปีนี้ สิ่งที่ต้องจับตาหลักๆ ได้แก่ ค่าเงินบาท ซึ่งตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (23 มี.ค.) เงินบาทแข็งค่าร้อยละ 4.5 ซึ่งนับว่า แข็งค่าเร็วและเป็นครึ่งหนึ่งของระดับการแข็งค่าในปีที่ผ่านมาด้วย ประเด็นต่อมาคือ ภาคการส่งออก แม้ 2 เดือนแรกของปี (ม.ค.-ก.พ.) ส่งออกไทยขยายตัวได้ร้อยละ 14 แต่เมื่อดูมูลค่าการส่งออกที่ได้รับทั้งในรูปเงินบาทและเงินดอลลาร์สหรัฐ กลับลดลงอย่างมาก เพราะดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่ามาก
ประเด็นต่อมาคือ เรื่องแรงงาน โดย 2 เดือนที่ผ่านมา พบว่า มีคนมีงานทำลดลง เมื่อเทียบกับคนว่างงาน ซึ่งสะท้อนถึงภาวะการทำงานที่เริ่มตึงตัวและอาจส่งผลกระทบในระยะยาวได้ ส่วนเรื่องหนี้ครัวเรือน แม้ขณะนี้ อัตราส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจะชะลอมาอยู่ที่ร้อยละ 77.4 ซึ่งลดลงจาก 1-2 ปีก่อนอย่างมาก แต่หนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่ยังมาจากหมวดสินเชื่อบ้าน ที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 30 ขณะที่หนี้ที่มีอัตราโตเร็ว ได้แก่ หนี้จากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :