ไม่พบผลการค้นหา
’พีระพันธุ์' ชี้นักกฎหมายเป็น 'วิศวกรทางสังคม' เปรียบประเทศเป็นอาคาร ย้ำฝ่ายบริหารต้องขับเคลื่อนศก. ชาติอย่างเป็นธรรม ชี้มีกฎหมายมากเกินไปจะเกิดปัญหา ย้ำเวียดนามกฎหมายดีกว่าไทย

วันที่ 9 พ.ย. 2565 ที่ห้องประชุมอาคารสปอร์ตคอมเพล็กซ์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวเสวนาในหัวข้อ "กฎหมายกับการพัฒนาประเทศ" ตอนหนึ่งว่า การบริหารจัดการประเทศไม่สามารถมองในแง่รัฐศาสตร์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีด้านกฎหมายด้วย กฎหมายมากเกินไปจะเกิดปัญหา ดังนั้นต้องเกิดความพอดี การใช้กฎหมายไม่ได้เกิดเพื่อรักษาตัวกฎหมาย แต่ต้องใช้กฎหมายเพื่อรักษาความยุติธรรม คนที่ไม่รู้กฎหมายแม้ไม่รู้กฎหมาย แต่ประพฤติตนสุจริตพึงได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย สิ่งที่สำคัญคือ ความยุติธรรม ความถูกต้องในความเป็นจริง 

พีระพันธุ์ กล่าวอีกว่า หลายคนโดยเฉพาะประเทศไทย ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับกฎหมาย และรู้สึกว่าน่าเบื่อ ทั้งที่ในความเป็นจริงตื่นขึ้นมาก็เจอกฎหมายในชีวิตประจำวัน แม้แต่ปัญหาล่าสุดเรื่องรถป้ายแดงที่โดนจับก็กฎหมาย นี่คือตัวอย่างของการใช้กฎหมายในทางที่ไม่ถูก คนที่ไม่ควรผิดก็ผิด สิ่งเหล่านี้แก้ไขได้ไม่ยากคือ ต้องทำกฎหมายที่ถูกต้อง และเป็นธรรม 

ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นว่า กฎหมายพัฒนาประเทศได้อย่างไรนั้น ให้ลองนึกว่าอาคารที่เราอยู่อาศัยมันเริ่มต้นจากการออกแบบ แต่ลำพังการออกแบบไม่สามารถเป็นอาคารได้ ต้องมีวิศวกรมาเขียนโครงสร้างให้ว่าต้องเป็นอย่างไรถึงจะไม่พัง ดังนั้นในมุมสังคมมันจึงต้องมีการออกแบบให้ประชาชนอยู่อย่างมีความสุข แต่สิ่งเหล่านั้นเป็นไปไม่ได้ถ้าไม่มีกฎกติกาของบ้านเมือง 

เพราะฉะนั้นรูปแบบของประเทศที่เหมือนกับรูปแบบอาคารต้องมีกฎกติกา โดยมีวิศวกรทางสังคมคือนักกฎหมาย ทำให้รูปแบบที่นักออกแบบประเทศในด้านเศรษฐกิจ สังคม ให้เป็นไปได้จริง สุดท้ายต้องมีองค์กรภาครัฐมาดูแลให้โครงสร้างที่นักกฎหมายเขียนไว้ให้เป็นไปได้จริงคือ องคาพยพของรัฐบาล นี่คือการพัฒนาประเทศ

พีระพันธุ์  D427455.jpegพีระพันธุ์  268B1.jpeg

พีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งเพิ่งเกิด ช่วงปี 2533 ได้รับหน้าที่ให้มาทำงานในกระทรวงยุติธรรม ซึ่งตอนนั้นเรียกว่ากระทรวงศาล และได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ กองอำนวยการ ปรากฏว่ามีทีมนักกฎหมายจากประเทศเวียดนามมาขอพบทางกระทรวง และมอบหมายให้ตนไปพบปะเจรจา วันนี้พบว่า เวียดนามกำลังแย่งตลาดจากประเทศไทย กฎหมายก็ดีกว่า 

แต่ตอนนั้นเวียดนามเพิ่งฟื้นประเทศ ตนก็ถามทางเวียดนามในตอนนั้นว่า ต้องการมีความรู้อะไรบ้าง เพราะเวียดนามต้องการมาขอข้อมูลจากประเทศคู่แข่งเพื่อวางรากฐานของการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ จึงไม่แปลกใจว่าทำไมตอนนี้ เวียดนาม ถึงเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทย แต่เรากลับไม่เคยสนใจ 

พีระพันธุ์ กล่าวอีกว่า ช่วงปี 2542 ตนเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตอนนั้นรัฐมนตรีว่ากระทรวงพาณิชย์ต้องการให้ประเทศไทยมีกฎหมายว่าด้วยการกำกับดูแลการเข้ามาลงทุนของคนต่างชาติ ซึ่งในต่างประเทศมีกฎหมายฉบับนี้ แต่ตอนนั้นประเทศไทยมีแต่ฉบับเดียวคือ ปว.281 หรือ ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 ในปี 2535 ว่าด้วยการ กำกับดูแลการประกอบธุรกิจคนต่างด้าว ทำให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงต่างประเทศอับอายเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ซึ่งในปี 2535 ตนได้เข้าไปเป็นอนุกรรมการกฎหมายฉบับดังกล่าว โดยมี สุรเกียรติ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต รมว.ต่างประเทศ เป็นประธานอนุกรรมการ 

พีระพันธุ์ ระบุอีกว่า วันนี้มองย้อนกลับไป ไม่ได้มองแค่ว่ากฎหมายเป็นเครื่องมือเอาผิดเอาถูก แต่ต้องมองกฎหมายเป็นโครงสร้างทางสังคม เขียนแบบโครงสร้างเศรษฐกิจในการพัฒนาประเทศ และสร้างสังคมที่เป็นธรรม เพื่อให้นักรัฐศาสตร์ที่บริหารบ้านเมืองคอยดูแลให้โครงสร้างเป็นไปตามแบบเหล่านั้น นี่คือกฎหมายกับการพัฒนาประเทศ 

นอกจากนี้ หลังจากประเทศเกาหลีใต้เจอวิกฤตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกับประเทศไทย แต่ตอนนี้ทางประเทศเกาหลีใต้มีการเขียนกฎหมายขึ้นมาใหม่ เพื่อบริหารประเทศให้ขับเคลื่อนไปได้ ดังนั้นต้องมองกฎหมายในฐานะของโครงสร้างทางสังคม 

พีระพันธุ์  -23B4A026EC8A.jpegพีระพันธุ์  B1348F05B.jpegพีระพันธุ์  A-02FC1C9DD95B.jpeg