องค์การอนามัยโลกประมาณว่าในทุกๆ ปี มีคนเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศราว 7 ล้านคน ขณะที่ทางออกของปัญหามลพิษคือการปลูกและรักษาต้นไม้ซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องฟอกอากาศตามธรรมชาติ ทว่าก็มีข้อจำกัดเนื่องจากต้องใช้เวลาหลายปีในการเติบโต และกินพื้นที่ในการปลูก
ไบโอมิเทค (BiomiTech) สตาร์ทอัพสัญชาติเม็กซิกัน แก้ปัญหานี้ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีการฟอกอากาศด้วยวิธีธรรมชาติ ไบโอเออร์เบิน 2.0 (BioUrban 2.0) ซึ่งเปรียบเสมือนต้นไม้เทียม
ทางไบโอมิเทค ระบุว่าระบบฟอกอากาศนี้สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และคืนออกซิเจนกลับคืนสู่ธรรมชาติได้เทียบเท่าต้นยูคาลิปตัส 368 ต้น โดยสามารถดูดซับมลพิษอื่นๆ เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ รวมถึงดักจับฝุ่น PM10 และ PM2.5 ได้ 99.7 เปอร์เซ็นต์
ไบโอเออร์เบิน 1 ต้น สูง 4.2 เมตร สามารถคืนอากาศบริสุทธิ์เทียบเท่าปริมาณที่คน 2,850 คนใช้หายใจในหนึ่งวัน ด้วยวิธีสังเคราะห์แสงโดยใช้ระบบปั๊มอากาศผ่านสาหร่ายขนาดเล็ก (Microalgae) ที่คัดเลือกสายพันธุ์มาแล้วว่าสามารถดูดซับมลพิษได้ในปริมาณมาก
คาร์ลอส มอนรอย ซีอีโอของไบโอมิเทค กล่าวว่าสาหร่ายมีคุณสมบัติในการสลายส่วนประกอบของมลพิษได้เร็วกว่าต้นไม้ และสามารถเพิ่มจำนวนได้สองถึงสามเท่าในหนึ่งวัน คุณลักษณะตามธรรมชาตินี้จึงช่วยในการผลิตก๊าซออกซิเจนปริมาณมาก
เสาเหล็กนี้ยังมีการติดเซนเซอร์ที่คอยตรวจวัดคุณภาพของอากาศ โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการทำงาน และกากจุลสาหร่ายที่เกิดขึ้นสามารถนำไปแปรรูปเป็นปุ๋ยหรือเชื้อเพลิงชีวภาพได้
อย่างไรก็ตาม ไคเม เฟร์เรร์ หุ้นส่วนผู้ก่อตั้งไบโอมิเทค อธิบายว่าไบโอเออร์เบินไม่ได้จะเข้ามาแทนที่ต้นไม้ แต่เข้ามาตอบโจทย์การแก้ปัญหามลพิษในเมืองในจุดที่ต้นไม้อาจเข้าไม่ถึงเช่น ตามสี่แยกที่พบมลพิษจากรถยนต์ได้มาก
"ในบางจุดเราอาจไม่สามารถปลูกต้นไม้ 300 ต้น ตรงนั้นได้ แต่เราสามารถฟอกอากาศในปริมาณเท่ากันได้ด้วยกระบวนการทางธรรมชาติ" เฟร์เรร์ กล่าว
จนถึงตอนนี้ ระบบฟอกอากาศไบโอเออร์เบินมีการติดตั้งแล้ว 3 ต้น โดยได้รับการติดตั้งเป็นครั้งแรกในรัฐปวยบลา (Puebla) ประเทศเม็กซิโกในปี 2017 และได้มีการติดตั้งประเทศโคลอมเบียและปานามาในเวลาต่อมา รวมถึงมีสัญญาจะติดตั้งอีก 2 ต้นในประเทศตุรกี และมีโครงการจะติดตั้งในกรุงเม็กซิโกซิตี (Mexico City) และเมืองมอนเตร์เรย์ (Monterrey) ประเทศเม็กซิโก มีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นภาครัฐ ทั้งนี้โบโอมิเทคมีระบบฟอกอากาศลักษณะเดียวกันรุ่นอื่นๆ สำหรับภายในอาคารด้วยเช่นกัน
ที่มา: CGTN / AFP / Mexico News Daily
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: