อะบิดจาน (Abidjan) เมืองเศรษฐกิจในประเทศไอวอรีโคสต์ หรือโกตดิวัวร์ (Ivory Coast: Côte d'Ivoire) รีสอร์ตกลางน้ำในทะเลสาบอีบรี (Ébrié Lagoon) มีขยะชิ้นโตที่ไม่มีใครคิดจะเก็บไปทิ้ง เพราะมันคือเรือนกลางน้ำที่ลอยได้ด้วยขวดน้ำและเศษขยะลอยน้ำอื่นๆ นับ 7 แสนชิ้น
อีริก เบ็กเกอร์ กล่าวว่าผลงานของเขาสามารถช่วยให้เกิดการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อโลกมากขึ้น ก่อมลพิษต่อชายหาดและทะเลน้อยกว่ารีสอร์ตคอนกรีตตามปกติ
ผลงานของเขา อิล โฟลตองต์ (Île Flottante: Floating Island) ซึ่งเป็นภาษาฝรั่งเศสแปลว่าเกาะลอยน้ำ ซึ่งกินพื้นที่กว่า 1,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยบังกะโลสองหลัง และร้านอาหารพร้อมบาร์เครื่องดื่ม สระว่ายน้ำขนาดเล็กสองสระ และต้นไม้ น้ำที่ใช้บนเกาะนี้ต่อท่อสูบมาจากชายฝั่ง ขณะที่ไฟฟ้านั้นมาจากแผงโซลาร์เซลล์กับเครื่องปั่นไฟ
"มันเป็นเกาะเทียมที่ลอยได้จริงๆ คุณเคลื่อนย้ายมันได้ด้วยนะ" เบ็กเกอร์กล่าว
เบ็กเกอร์ เล่าว่าทีแรกเขาคิดจะสร้างเรือใบคาตามารัน แต่เมื่อได้มาเห็นทะเลสาบที่อะบิดจานก็ปรากฏภาพของเกาะลอยน้ำเคลื่อนที่ได้เข้ามาในหัว และได้ขายทุกสิ่งที่มีเพื่อทำให้มันเป็นจริงขึ้นมา โดยขั้นตอนแรกที่เบ็กเกอร์ทำคือการรวบรวมทุกสิ่งที่ลอยน้ำได้ ทั้งขวดน้ำพลาสติก เศษโฟม แม้แต่รองเท้าแตะ
"เราทั้งซื้อขวดไม่ใช้แล้วจากชาวบ้าน และรวบรวมมาจากทะเลสาบ สักพักหนึ่งเราก็เริ่มเรียนรู้ที่จะตามทิศลมไปจนพบที่ที่ขยะลอยน้ำถูกพัดไปรวมกันอยู่" เบ็กเกอร์เล่า
หลังใช้ชีวิตบนเกาะที่สร้างเองอยู่หลายปี เมื่อปีที่แล้วเขาก็เริ่มเปิดเป็นโรงแรมรับนักท่องเที่ยว โดยมีลูกค้าประมาณ 100 คนต่อสัปดาห์ ส่วนใหญ่เป็นชาวไอวอรีโคสต์ที่อยากรู้อยากเห็น ไม่ก็นักท่องเที่ยวที่รักสิ่งแวดล้อม
"เมื่อแข่งกับโรงแรมเจ้าใหญ่ๆ คุณก็ต้องมีไอเดียเป็นของตัวเองอย่างเกาะลอยน้ำ มันกลายเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวเลย" แมทูริน เยา-ซาคี เพื่อนที่คอยให้คำปรึกษาเบ็กเกอร์เกี่ยวกับแผนการนี้กล่าว
ชาร์ลส์ โมลิแยร์ ชาวฝรั่งเศสวัย 28 ปี ผู้มาพักที่เกาะลอยน้ำแห่งนี้ กล่าวว่าที่แห่งนี้มีความแปลกใหม่มาก และเป็นความคิดที่ดีในการมอบชีวิตใหม่ให้กับขยะพลาสติก
"ผมชอบที่นี่มากเลย แล้วผมก็คิดว่ามันควรจะเป็นที่รู้จักกันนะ" โมลิแยร์กล่าว
โรงแรมกลางทะเลแห่งนี้มีค่าที่พักหนึ่งวัน 15,000 ฟรังก์เซฟา (ราว 800 บาท) ต่อคน โดยราคารวมค่าเรือรับส่งและอาหารหนึ่งมื้อ และมีค่าพักหนึ่งคืนอยู๋ที่ 60,000 ฟรังก์เซฟา (ราว 3,100 บาท)
ทั้งนี้ เบ็กเกอร์ กล่าวว่าเขาตระหนักดีว่าไอเดียของเขาไม่ได้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็เป็นมิตรกว่าที่อื่น พร้อมชี้ว่าขณะนี้เขากำลังทดลองเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนของเสียจากร่างกายมนุษย์ให้เป็นปุ๋ยอยู่
ที่มา: AFP / Taipei Times
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: