ไม่พบผลการค้นหา
จักรพรรดิญี่ปุ่นผู้ทรงมีพระประสงค์จะ 'สละราชสมบัติ' ครั้งแรกในรอบ 200 ปี ทรงเป็นเชื้อพระวงศ์ 'พระองค์แรก' ที่ปฏิเสธโบราณราชประเพณีอีกหลายด้าน ช่วยให้ภาพลักษณ์ราชวงศ์ญี่ปุ่นดู 'ติดดิน' เข้าถึงประชาชนมากขึ้น

พระราชพิธีสละราชสมบัติของสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะแห่งญี่ปุ่นจะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในเวลา 17.00 น. วันที่ 30 เม.ย. 2562 ตามเวลาญี่ปุ่น และเป็นวันสิ้นสุดรัชศก 'เฮเซย์' ซึ่งกินเวลานาน 30 ปี นับตั้งแต่ พ.ศ. 2532 เป็นต้นมา หลังจากนั้น 1 วันจึงจะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของเจ้าชายนะรุฮิโตะ มกุฎราชกุมารพระองค์ปัจจุบัน ซึ่งจะครองราชสมบัติเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ที่ 126 ของญี่ปุ่น

นับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.เป็นต้นไป ประเทศญี่ปุ่นจะเข้าสู่รัชศกใหม่อย่างเป็นทางการ โดยชื่อเรียกรัชศกใหม่ คือ 'เรวะ' โดย เร (令 Rei) มีความหมายว่า ความเป็นสิริมงคล หรือสมถะ ขณะที่คำว่า 'วะ' ( 和 Wa) หมายถึง ความสุขสงบ หรือความสามัคคีกลมเกลียว

ทั้งนี้ พระราชพิธีสละราชสมบัติของสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ถือเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 200 ปีของญี่ปุ่น และบลูมเบิร์กระบุว่า จักรพรรดิอะกิฮิโตะทรงเป็น 'พระองค์แรก' ซึ่งผลักดันประเด็นทางสังคมและการเมืองในหลายด้าน ทั้งยังทรงเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของราชวงศ์ญี่ปุ่นให้มีความ 'ติดดิน' และประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ต่างจากสมเด็จพระจักรพรรดิยุคก่อนหน้านี้ที่ถูกยกเป็น 'เทพเจ้า' ผู้สืบเชื้อสายจากสวรรค์

AFP-ราชวงศ์ญี่ปุ่น-จักรพรรดิอะกิฮิโตะ-จักรพรรดินีมิชิโกะทรงเล่นเทนนิส.jpg
  • จักรพรรดิอะกิฮิโตะและจักรพรรดินีมิชิโกะทรงเล่นเทนนิสร่วมกันเป็นประจำ

'โลกเปลี่ยน' ราชวงศ์ญี่ปุ่นจึงเปลี่ยนตาม

สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะทรงครองราชสมบัติภายหลังจากการสวรรคตของพระราชบิดา ซึ่งก็คือ 'สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ' หรือจักรพรรดิโชวะ และเป็นสมัยที่ญี่ปุ่นพยายามฟื้นฟูประเทศหลังพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 พระองค์จึงทรงเป็นจักรพรรดิญี่ปุ่นพระองค์แรกที่อยู่ภายใต้ 'รัฐธรรมนูญที่เขียนโดยสหรัฐอเมริกา' ซึ่งป้องกันไม่ให้กองทัพญี่ปุ่นมีอำนาจในการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์หรือก่อสงครามโจมตีรุกรานประเทศอื่น

ญี่ปุ่นจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้จักรพรรดิอะกิฮิโตะทรงเติบโตมาในสังคมที่แตกต่างจากพระราชบิดา พระองค์ไม่นิยมใช้คำราชาศัพท์ในพระบรมราโชวาท และในยุค 1950 ซึ่งพระองค์ยังทรงเป็น 'มกุฎราชกุมารอะกิฮิโตะ' พระองค์ทรงพบรักและเข้าพิธีเสกสมรสกับหญิงสาวสามัญชน 'มิชิโกะ โชดะ' และถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เกือบ 2,000 ปีที่เจ้าชายผู้สืบทอดราชบัลลังก์ของญี่ปุ่นทรงเลือก 'สามัญชน' เป็นชายาเพียงพระองค์เดียว

ความรักของเจ้าชายกับหญิงสามัญชน เปลี่ยนโฉมหน้าของราชวงศ์ญี่ปุ่นสมัยโบราณ เข้าสู่ยุคสมัยใหม่ที่ญี่ปุ่นกำลังก่อร่างสร้างตัวขึ้นเป็นมหาอำนาจทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี การไม่ยึดติดกับ 'โบราณราชประเพณี' ของเจ้าชายอะกิฮิโตะจึงทรงช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของญี่ปุ่นในยุคดังกล่าวให้เป็นที่ยอมรับในประชาคมโลกมากขึ้น เพราะมีความถ่อมตนและพร้อมจะเปิดรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

AFP-ราชวงศ์ญี่ปุ่น-จักรพรรดิอะกิฮิโตะ-จักรพรรดินีมิชิโกะกางร่มทักทายประชาชน.jpg

นอกจากนี้ เจ้าชายอะกิฮิโตะและพระชายามิชิโกะยังทรงยืนยันที่จะเลี้ยงดูโอรสและธิดาด้วยพระองค์เองอย่างใกล้ชิด และภาพลักษณ์ที่ถูกสื่อสารผ่านทางสำนักพระราชวังญี่ปุ่น ทำให้พระองค์ทรงถูกมองว่า 'ไม่แตกต่าง' จากพ่อแม่ชาวญี่ปุ่นคนอื่นๆ ที่ต้องการดูแลลูกๆ ด้วยตัวเอง 

เมื่อพระองค์ครองราชสมบัติอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2532 สื่อต่างประเทศจึงขนานนามพระองค์ว่าเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิที่ทรง 'ติดดิน' และ 'เข้าถึงประชาชน' ทั้งยังเป็นจักรพรรดิญี่ปุ่นพระองค์แรกที่เสด็จเยือน 'จีน' และให้การต้อนรับประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ทั้งยังทรง 'ขออภัย' ต่อการกระทำของกองทัพญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งรุกรานและยึดครองทั้งสองประเทศ รวมถึงก่อเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงหลายกรณี

ไม่ยึดติดกับอำนาจ

นอกจากจะถูกขนานนามว่าทรง 'ติดดิน' แล้ว สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะยังทรงได้รับการยกย่องว่า 'ไม่ยึดติด' กับสถานะประมุขญี่ปุ่นอีกด้วย เพราะทรงเป็นจักรพรรดิพระองค์แรกที่มีพระประสงค์จะสละราชสมบัติ โดยพระองค์ตรัสถึงปัญหาสุขภาพเมื่อปี 2559 ทำให้พระองค์ไม่สามารถปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้เหมือนกับสมัยที่ยังทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง แต่ญี่ปุ่นไม่มีกฎหมายรองรับการสละราชสมบัติของสมเด็จพระจักรพรรดิมาก่อน รัฐบาลจึงต้องแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาและปรับแก้กฎหมายเพื่อเปิดทางให้มีการสละราชสมบัติได้อย่างราบรื่น

AFP-ราชวงศ์ญี่ปุ่น-จักรพรรดิอะกิฮิโตะ-จักรพรรดินีมิชิโกะร้องเพลงและเต้นรำร่วมกับเด็กๆ ในโรงเรียน.jpg
  • จักรพรรดิอะกิฮิโตะและจักรพรรดินีมิชิโกะทรงทำกิจกรรมร่วมกับเด็กนักเรียนประถม

วันที่ 1 พ.ค. 2562 เจ้าชายนะรุฮิโตะ มกุฎราชกุมาร พระชนมายุ 59 พรรษา จะทรงครองราชสมบัติเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่แห่งญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ และจักรพรรดิอะกิฮิโตะจะทรงยุติบทบาทในด้านต่างๆ อย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้ พระองค์และพระจักรพรรดินีมิชิโกะจะทรงย้ายออกจากพระราชวังหลวงในชิโยะดะ กรุงโตเกียว แต่ยังไม่มีการเปิดเผยให้สาธารณชนทราบว่าพระองค์จะเสด็จไปประทับที่ใด

ส่วนพระราชกรณียกิจที่สำคัญของสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น ได้แก่ การลงนามในเอกสารสำคัญต่างๆ การต้อนรับอาคันตุกะจากต่างประเทศ รวมถึงการเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวญี่ปุ่น เพราะทุกครั้งที่เกิดเหตุภัยพิบัติหรือเหตุการณ์ร้ายแรงในประเทศ สมเด็จพระจักรพรรดิและจักรพรรดินีจะสเด็จไปเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจแก่ผู้ประสบภัย รวมถึงพระราชทานความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ตามที่เหมาะสม

AFP-ราชวงศ์ญี่ปุ่น-จักรพรรดิอะกิฮิโตะ-จักรพรรดินีมิชิโกะ-เจ้าชายนะรุฮิโตะและอื่นๆ.jpg

ขณะที่วอชิงตันโพสต์ สื่อของสหรัฐฯ รายงานถึงเจ้าชายนะรุฮิโตะ มกุฎราชกุมาร ซึ่งจะทรงครองราชสมบัติต่อจากจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ทรงมีภาพลักษณ์ที่อ่อนน้อมถ่อมตน และเป็นผู้ที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้เช่นเดียวกับพระบิดา ทั้งยังทรงเสกสมรสกับหญิงสามัญชน อดีตนักการทูต ทำให้พระองค์ทรงได้รับความชื่นชมจากประชาชนชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติเช่นกัน

นอกจากนี้ เจ้าชายนะรุฮิโตะยังทรงสนใจและศึกษาความรู้ด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยเฉพาะภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งไม่จำกัดแค่เฉพาะในญี่ปุ่น แต่รวมถึงสถานการณ์ในต่างประเทศ ทำให้สื่อสหรัฐฯ ประเมินว่าญี่ปุ่นในรัชศกเรวะ ภายใต้สมเด็จพระจักรพรรดิองค์ใหม่ จะมุ่งเน้นบทบาทความร่วมมือในการบรรเทาสาธารณภัยและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในประเทศต่างๆ ทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น

ส่วนผู้ที่จะมาเป็นมกุฎราชกุมารพระองค์ต่อไปของญี่ปุ่น คือ เจ้าชายฟุมิฮิโตะ เจ้าอะกิชิโนะ พระอนุชาในว่าที่สมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ เนื่องจากกฎมณเฑียรบาลของญี่ปุ่นไม่อนุญาตให้ผู้หญิงครองราชสมบัติ ทำให้เจ้าหญิงไอโกะ พระธิดาพระองค์โตของเจ้าชายนะรุฮิโตะ ไม่สามารถสืบทอดพระราชบัลลังก์ได้

ที่มา: Aljazeera/ Bloomberg/ CNN/ Washington Post

ข่าว���ี่เกี่ยวข้อง: