ไม่พบผลการค้นหา
ว่าที่มกุฎราชกุมารพระองค์ใหม่ของญี่ปุ่น ทรงตั้งคำถามถึงการใช้งบประมาณรัฐจัดพิธีทางศาสนาตามธรรมเนียมของราชวงศ์ อาจ 'ไม่เหมาะสม' เพราะขัด รธน. แต่รัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันใช้งบหลวงจัดพิธีตามแผนเดิม

เจ้าชายฟุมิฮิโตะ เจ้าอะกิชิโนะ พระโอรสพระองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะแห่งญี่ปุ่น ประทานสัมภาษณ์แก่สื่อในประเทศญี่ปุ่น ก่อนถึงวันคล้ายวันประสูติของพระองค์ในวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยพระองค์ทรงตั้งคำถามว่าการใช้งบประมาณของรัฐเพื่อจัดพระราชพิธีทางศาสนาชินโตภายหลังจากที่เจ้าชายนะรุฮิโตะ มกุฎราชกุมาร และพระเชษฐา (พี่ชาย) ของพระองค์ขึ้นครองราชย์ในปีหน้า อาจเป็นเรื่องไม่เหมาะสม

เจ้าชายฟุมิฮิโตะตรัสว่า รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นระบุไว้ชัดเจน เรื่องที่รัฐบาลจะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวหรือสนับสนุนพิธีกรรมของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง เมื่อรัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในพระราชพิธีทางศาสนาของราชวงศ์ จึงอาจเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ

พระราชพิธีดังกล่าว คือ 'ไดโจะไซ' เปรียบได้กับพิธีเฉลิมฉลองเพื่อความอุดมสมบูรณ์ตามความเชื่อของศาสนาชินโตที่ระบุว่าสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นเป็นทายาทของเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ที่จะประทานพรให้กับประชาชน ซึ่งตามธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว พระราชพิธีดังกล่าวจะจัดขึ้นในปี 2563 ประมาณ 1 ปีหลังจากที่สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะสละราชสมบัติ และเจ้าชายนะรุฮิโตะขึ้นครองราชย์ในวันที่ 1 พ.ค. 2562

สื่อญี่ปุ่นรายงานข่าวดังกล่าวตรงกัน ทั้งอาซาฮี, ไมนิชิ, เจแปนไทม์ส และเอ็นเอชเค ขณะที่สื่อต่างประเทศอย่างเทเลกราฟ ระบุว่า พระดำรัสในเจ้าชายฟุมิฮิโตะทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และข้อถกเถียงในสังคมญี่ปุ่น เพราะเจ้าชายฟุมิฮิโตะได้ตรัสเพิ่มเติมว่าพระองค์ทรงตั้งคำถามเดียวกันนี้มาก่อนแล้ว หลังจากที่สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะครองราชย์เมื่อปี 2532 โดยทรงระบุด้วยว่า พระองค์ได้ทรงหารือกับเลขาธิการสำนักพระราชวัง และเสนอให้ทางวังเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย แต่น่าเสียดายที่ไม่มีผู้ใดรับฟังพระองค์

เจ้าชายฟุมิฮิโตะ-เจ้าอะกิชิโนะ-เจ้าชายญี่ปุ่น
  • เจ้าชายฟุมิฮิโตะ (ขวา) และพระชายา

จากกรณีดังกล่าวทำให้ 'ชินอิจิโระ ยามะโมะโตะ' เลขาธิการสำนักพระราชวังของญี่ปุ่น ออกมาชี้แจงว่า เขารู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้งที่เจ้าชายฟุมิฮิโตะตรัสเช่นนั้น แต่เนื่องจากรัฐบาลได้ลงมติไปแล้วว่าจะเป็นผู้รับผิดชอบงบประมาณในการจัดพระราชพิธี 'ไดโจะไซ' หลังจากที่มกุฎราชกุมารนะรุฮิโตะขึ้นครองราชย์ เพราะถือว่าเป็นพิธีสำคัญของประเทศ 

ไมนิชิรายงานว่าหลังจากที่สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะขึ้นครองราชย์ รัฐบาลญี่ปุ่นในสมัยนั้นก็เห็นชอบที่จะใช้งบหลวงในการจัดพระราชพิธีไดโจะไซในปีถัดมา แต่ในปีนี้ เจ้าชายฟุมิฮิโตะทรงแนะนำว่า พระราชพิธีครั้งแรกในสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่อาจจะใช้งบของรัฐบาลตามแผนเดิม แต่พระราชพิธีที่จะจัดในปีต่อๆ ไปควรจะใช้ทรัพย์สินในส่วนของราชวงศ์แทน 

ทั้งนี้ เจ้าชายฟุมิฮิโตะจะทรงเป็นมกุฎราชกุมารพระองค์ใหม่หลังจากที่เจ้าชายนะรุฮิโตะ พระเชษฐา ขึ้นครองราชย์ในเดือน พ.ค. ปีหน้า ถ้อยแถลงของพระองค์จึงถือว่ามีน้ำหนักพอที่จะส่งผลต่อความมั่นคงทางการเมืองและราชวงศ์ญี่ปุ่น


นักวิชาการ-ประชาชนญี่ปุ่น 'เสียงแตก' 

เจ้าชายฟุมิฮิโตะไม่ใช่ผู้เดียวที่ตั้งคำถามเรื่องพระราชพิธีดังกล่าว เพราะชาวญี่ปุ่น 120 คน ซึ่งนับถือศาสนาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชินโต เตรียมตัวยื่นฟ้องศาลให้พิจารณาตัดสินว่ากรณีดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นหรือไม่ โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในช่วงต้นเดือน ธ.ค. 

นอกจากนี้ ภายหลังจากที่สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิโตะขึ้นครองราชย์เมื่อปี 2532 ก็มีผู้ยื่นฟ้องศาลในหลายพื้นที่ของญี่ปุ่นด้วยเหตุผลเดียวกัน แต่ผู้พิพากษาทุกศาลลงมติ 'ไม่รับคำร้อง' แต่ในปี 2538 ศาลสูงนครโอซะกะมีคำสั่งให้บันทึกไว้ว่า ยังไม่มีคำตัดสินชี้ขาดว่าการใช้งบประมาณของรัฐในการจัดพิธีทางศาสนาที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์ญี่ปุ่น เข้าข่ายละเมิดรัฐธรรมนูญหรือไม่

AFP-จักรพรรดิ-อะกิฮิโตะ-ญี่ปุ่น-ครองราชย์-พิธีสถาปนา-จักรพรรดินีมิชิโกะ
  • สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะทรงขึ้นครองราชย์เมื่อปี 2532

ส่วนการตั้งคำถามของเจ้าชายฟุมิฮิโตะในครั้งนี้ ทำให้เกิดข้อถกเถียงในหมู่นักวิชาการของญี่ปุ่นเช่นกัน โดยบางส่วนเห็นด้วย เช่น ศาสตราจารย์ภิชาน อิซาโอะ โทะโคะโระ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งมหาวิทยาลัยเกียวโตซังเกียว บอกกับไมนิชิว่า พระราชพิธีดังกล่าวมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของราชวงศ์ ไม่ถือว่าเป็นพิธีกรรมทางศาสนาเพียงอย่างเดียว เขาจึงหวังว่าเจ้าชายฟุมิฮิโตะจะทรงปรึกษาหารือกับเชื้อพระวงศ์พระองค์อื่นๆ ก่อนที่จะตรัสแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะ

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้งบประมาณของรัฐในการจัดพระราชพิธีไดโจะไซ เช่น ศาสตราจารย์ภิชาน โคอิจิ โยะโคะตะ แห่งมหาวิทยาลัยคิวชู ระบุว่า มาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นกล่าวว่า สมเด็จพระจักรพรรดิมิได้ทรงมีอำนาจเกี่ยวข้องกับรัฐบาล และอีกตอนหนึ่งของรัฐธรรมนูญก็ระบุด้วยว่า รัฐบาลญี่ปุ่นต้องไม่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางศาสนา การที่เจ้าชายฟุมิฮิโตะทรงแสดงความคิดเห็นดังกล่าว จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรรับฟัง

นอกจากนี้ โยะโคะตะกล่าวด้วยว่า กำหนดจัดพระราชพิธีจริงๆ จะเกิดขึ้นในปี 2563 ถือว่ามีเวลามากพอที่จะพิจารณาทบทวนหาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม แต่รัฐบาลกลับยืนยันที่จะยึดตามแบบเดิมที่เคยทำมาโดยไม่คิดจะปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ งบประมาณในการจัดพระราชพิธีไดโจะไซเมื่อปี 2533 หลังจากที่สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะขึ้นครองราชย์ รวมเป็นเงินกว่า 2,250 ล้านเยน หรือประมาณ 653 ล้านบาท แต่รัฐบาลญี่ปุ่นชุดปัจจุบันยังไม่เปิดเผยงบประมาณที่จะใช้จัดพระราชพิธีครั้งต่อไป

ที่มา: Asahi/ Japan Times/ Mainichi/ NHK/

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เจ้าอะกิชิโนะเจ้าชายฟุมิฮิโตะ, เจ้าอะกิชิโนะ พระอิสริยยศเจ้าชายญี่ปุ่น