ไม่พบผลการค้นหา
ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์-ราชประเพณีของญี่ปุ่น หารือกันเพื่อกำหนดคำเรียกรัชศกใหม่ ก่อนที่สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะจะทรงสละราชสมบัติปีหน้า แต่การเตรียมตัวต้องดำเนินไปในทางลับ เพราะการพูดคุยเรื่องนี้ในที่สาธารณะเป็นเรื่องไม่บังควร

รัฐบาลญี่ปุ่นอนุมัติกฎหมายที่เปิดทางให้สมเด็จพระจักรพรรดิอะคิฮิโตะทรงสละราชสมบัติ พร้อมกำหนดวันจัดพระราชพิธีไว้ที่ 30 เม.ย. 2562 และหลังจากนั้นจึงจะเป็นพระราชพิธีขึ้นครองราชย์ของเจ้าชายนะรุฮิโตะ มกุฎราชกุมารพระองค์ปัจจุบัน โดยสิ่งหนึ่งที่ต้องหารือกัน ได้แก่ การคัดเลือกคำศัพท์ที่จะนำมาใช้เรียกรัชศกใหม่ในสมัยที่เจ้าชายนะรุฮิโตะทรงขึ้นเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิแทนพระบิดา 

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวในโลกที่ยังมีการเรียกยุคสมัยแบบ 'รัชศก' อย่างเป็นทางการ ควบคู่ไปกับการใช้ปฏิทินแบบโบราณและปฏิทินแบบสากล โดยจุนโซ มาโทบะ ข้าราชการอาวุโสและผู้เชี่ยวชาญด้านราชประเพณีของญี่ปุ่น ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในผู้คัดเลือกชื่อเรียกรัชศกในสมัยที่สมเด็จพระจักรพรรดิอะคิฮิโตะทรงขึ้นครองราชเมื่อปี พ.ศ. 2532 ระบุว่า การใช้รัชศกนับปีที่ผ่านไปในยุคสมัยของจักรพรรดิแต่ละพระองค์มีความหมายที่แตกต่างกัน และจะช่วยให้นักประวัติศาสตร์จดจำปรากฏการณ์หรือเหตุการณ์สำคัญๆ ในแต่ละยุคที่อยู่ภายใต้การปกครองของจักรพรรดิแต่ละพระองค์ได้ง่ายขึ้น 

รัชศกที่อยู่ภายใต้การปกครองของสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ คือยุค 'เฮเซย์' หมายถึง ช่วงเวลาแห่งความสงบสุข ทั้งในและนอกราชอาณาจักร ขณะที่ก่อนหน้านี้คือรัชศกโชวะ ไทโชะ และเมย์จิ ขณะที่คำเรียกรัชศกต่อไปจะต้องไม่ซ้ำกับคำที่เคยมีการใช้ในอดีต นับตั้งแต่ราชวงศ์ญี่ปุ่นเริ่มใช้ระบบรัชศกมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 และคำที่เคยได้รับการเสนอไปแล้ว แต่ถูกปฏิเสธเมื่อในอดีต ก็จะไม่สามารถนำกลับมาเสนอใหม่อีกรอบได้เช่นกัน

จุนโซ มาโทบะ เปิดเผยกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า กระบวนการค้นหาและคัดเลือกชื่อเรียกรัชศกเป็นเรื่องสำคัญ แต่เขาและผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ ไม่อาจจะหารือกันอย่างเปิดเผยได้ แต่ต้องประชุมกันในทางลับร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลและตัวแทนสำนักพระราชวัง เพราะการกล่าวถึงรัชศกใหม่ในขณะที่สมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ปัจจุบันยังมิได้สละราชสมบัติถือเป็นการ 'ไม่บังควร' อย่างยิ่ง ถ้าเป็นสมัยโบราณจะถือว่ามีความผิดร้ายแรง

AFP-จักรพรรดิ-อะกิฮิโตะ-ญี่ปุ่น-ครองราชย์-พิธีสถาปนา-จักรพรรดินีมิชิโกะ

(พระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระจักรพรรดิและจักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่น ทรงฉายเมื่อปี 2532)

สิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงเมื่อเข้าสู่รัชศกใหม่

นอกจากผู้เชี่ยวชาญแล้วยังมีผู้ที่ต้องเตรียมการในภาคส่วนอื่นๆ เช่นกัน โดยเฉพาะบริษัทผู้ผลิตปฏิทินรายใหญ่ของญี่ปุ่นอย่างบริษัท 'โทดัน' ซึ่งต้องเตรียมพิมพ์ปฏิทินล่วงหน้าเป็นปี

นายคุนิโอะ โควะกุชิ ประธานบริษัทโทดัน ระบุว่า ในเมื่อยังไม่มีการยืนยันข้อมูลอย่างเป็นทางการ บริษัทเขาจึงไม่สามารถเตรียมพิมพ์ปฏิทินรัชศกใหม่ได้ และต้องรอให้พระราชพิธีเถลิงราชสมบัติเสร็จสิ้นจึงจะมีความชัดเจนเกิดขึ้น

ส่วนบริษัทไมโครซอฟต์ในญี่ปุ่น ให้ข้อมูลยืนยันกับเอเอฟพีว่า ผู้เชี่ยวชาญในวงการไอทีและคอมพิวเตอร์ได้เตรียมการปรับปรุงระบบปฏิบัติการต่างๆ ให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนรัชศกใหม่ของญี่ปุ่นได้อย่างไม่มีปัญหา

ไมโครซอฟต์ยกตัวอย่างกรณีปรากฏการณ์ Y2K ที่เคยมีผู้กังวลว่าการเปลี่ยนคริสต์ศักราชจาก 1999 เป็น 2000 ในช่วงสหัสวรรษจะทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ประมวลผิดพลาดเพราะปรับปี ค.ศ.ผิดพลาด เพราะมักจะใช้เฉพาะเลข 2 ตัวท้ายในการบอกปี แต่ในที่สุดแล้วก็ไม่มีเหตุผิดพลาดร้ายแรงใดๆ เกิดขึ้น 

นอกจากนี้ เอเอฟพียังระบุด้วยว่า การเปลี่ยนผ่านสู่รัชศกใหม่ของญี่ปุ่นในอดีตจะต้องจัดพิธีหรือดำเนินการในเชิงสัญลักษณ์ประการใดประการหนึ่ง เพื่อเป็นหมุดหมายของการสิ้นสุดบางสิ่งบางอย่างที่สำคัญ ทำให้มีการประเมินว่าคำสั่งประหารชีวิตผู้ก่อตั้งและสมาชิกลัทธิโอมชินริเกียวรวม 13 คนในญี่ปุ่นเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เป็นสัญลักษณ์ว่ายุคสมัยของลัทธินอกรีตจะจบสิ้นลงเช่นกัน เนื่องจากลัทธิดังกล่าวเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการใช้แก๊สพิษซารินสังหารหมู่ประชาชนในสถานีรถไฟใต้ดินโตเกียวช่วงชั่วโมงเร่งด่วนเมื่อปี 2533 เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิต 13 ราย บาดเจ็บกว่าอีก 6,000 คน

AFP-จักรพรรดิ-อะกิฮิโตะ-ญี่ปุ่น-ครองราชย์-พิธีสถาปนา-จักรพรรดินีมิชิโกะ

(สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะและจักรพรรดินีทรงทักทายประชาชนหลังพิธีขึ้นครองราชย์)

เมื่อสละราชสมบัติแล้วจะเกิดอะไรขึ้น?

ที่ผ่านมา สมเด็จพระจักรพรรดิของญี่ปุ่นไม่เคยมีพระราชประสงค์ที่จะสละราชสมบัติด้วยพระองค์เอง แต่มักจะเปลี่ยนผ่านสู่รัชศกใหม่หลังมีเหตุการณ์ทางการเมืองหรือสมเด็จพระจักรพรรดิสวรรคต 

ด้วยเหตุนี้ พระราชดำรัสของสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะที่มีต่อประชาชนชาวญี่ปุ่นเมื่อเดือน ส.ค. 2559 ซึ่งระบุชัดว่าพระองค์ประสงค์ที่จะสละราชสมบัติ เนื่องจากพระพลานามัยไม่แข็งแรงดังเดิม กลายเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ทำให้รัฐบาลชุดปัจจุบันต้องพิจารณาหารือแนวทางปรับแก้กฎหมาย เพื่อเปิดทางให้มีขั้นตอนดำเนินการตามพระราชประสงค์

สำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่นรายงานว่า พระราชประเพณีของญี่ปุ่นกำหนดว่าผู้มีสิทธิ์สืบทอดราชสมบัติจะต้องเป็นเพศชาย และผู้ที่จะครองราชย์เป็นลำดับต่อไป คือ เจ้าชายนะรุฮิโตะ มกุฎราชกุมารพระองค์ปัจจุบัน

เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะทรงสละราชสมบัติ พระองค์จะทรงได้รับการกล่าวขานว่า 'โจโกะ' หรือ 'ไดโจ เทนโนะ' ซึ่งหมายถึงกษัตริย์ผู้สละราชสมบัติไปแล้ว และคาดว่าพระองค์และพระมเหสีจะทรงย้ายไปยังพระราชวังโทะกุในย่านอากะซะกะของกรุงโตเกียว ซึ่งจะทรงมีเวลาส่วนพระองค์เพิ่มขึ้น

ส่วนพระราชกรณียกิจในสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นยุคปัจจุบันมีหลายประการ โดยรวมถึงการลงพระปรมาภิไธยรับรองกฎหมายต่างๆ การต้อนรับประมุขและผู้นำจากต่างประเทศที่เดินทางเยือนญี่ปุ่น การเปิดประชุมสภาไดเอ็ต และการเป็นประธานในพระราชพิธีต่างๆ 

ที่มา: AFP/ Kyodo

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :