ไม่พบผลการค้นหา
'ก้าวไกล' จัดเสวนา ถกการจัดการผังเมือง กทม. สส. จี้แก้กฎหมาย หวั่นความเจริญกระจุกตัว นักวิชาการชี้ผังเมือง กทม. ขาดส่วนร่วมจากประชาชน

วันที่ 17 ธ.ค. ที่อาคารอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล จัดเสวนาในหัว 'กรุงเทพ (ผัง) เมืองในหมอก ชีวิตดีดีย์ที่คุณเลือกไม่ได้' โดยทีม สส.กทม. ได้แก่ ธีรัจชัย พันธุมาศ , ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ , สิริลภัส กองตระการ และ เอกกวิน โชคประสบรวย มาร่วมเล่าปัญหาที่พบเจอในพื้นที่ รวมถึงพูดคุยเรื่องการก่อสร้างกรุงเทพฯ ในย่านต่างๆ 

นอกจากนี้ ยังมีผู้แลกเปลี่ยนความเห็นที่เป็นนักวิชาการ ได้แก่ ผศ.ดร. พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร. บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย


นักวิชาการชี้ผังเมือง กทม. ขาดส่วนร่วมจากประชาชน

ผศ.ดร. พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การศึกษาเรื่องผังเมืองในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ผังเมืองจะเป็นตัวกำหนดทิศทาง และควบคุมการพัฒนาเมือง ซึ่งผู้ที่กำหนดคือประชาชน ขณะที่ในประเทศไทยนั้น การกำหนดผังเมืองจะอยู่ในอำนาจของผู้รู้

ผศ.ดร.พิชญ์ กล่าวต่อไปว่า ผังเมืองเปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญของเมือง เป็นตัวกำหนดว่าอำนาจของเมืองควรอยู่ที่ใด ซึ่งผังเมืองจะศักดิ์สิทธิ์ได้ก็ต่อเมื่อมาจากประชาชน อย่างไรก็ตาม ประชาชนมักไม่ได้รับรู้ว่าผังเมืองมีความใกล้ตัวกับชีวิต และมีรายละเอียดต่างๆ ในการออกแบบที่ละเมิดสิทธิในการใช้ชีวิตของประชาชนในบางพื้นที่

ด้าน รศ.ดร. บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาฯ ธรรมศาสตร์ มองผังเมืองของกรุงเทพฯ ว่า ไม่ค่อยเห็นความสำคัญของคนตัวเล็ก ความสำคัญของผังเมืองอยู่ที่กระบวนการออกแบบผังเมือง มีส่วนร่วมของประชาชนอยู่หรือไม่ บางชุมชนอยู่ในเมืองไม่ได้ เนื่องจากประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

รศ.ดร.บุญเลิศ ระบุว่า เมืองจำเป็นต้องตอบสนองผู้คนที่หลากหลาย ไม่ใช่เพียงแค่ทุนใหญ่เท่านั้น หากเทียบกับสิงคโปร์หลังได้รับเอกราช ได้มีการออกแบบผังเมืองด้วยแนวคิดว่าต้องพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของคนส่วนใหญ่เป็นเป้าหมายสำคัญ ส่วนการจัดระเบียบผังเมืองนั้น ก็ต้องโอบรับรายละเอียดที่แตกต่างหลากหลายในแต่ละพื้นที่ของเมือง และไม่กีดกันคนกลุ่มใดออกไป


สส. จี้แก้กฎหมายผังเมือง หวั่นความเจริญกระจุกตัว

ขณะที่ ธีรัจชัย กล่าวว่า ในพื้นที่ของตนส่วนมากเป็นพื้นที่รับน้ำ ตั้งคำถามว่าการสำรวจความเห็นเรื่องผังเมือง มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งการทำผังเมืองต้องคำนึงถึงภูมิศาสตร์ด้วย ตนคิดว่าประเทศไทย ผังเมืองมุ่งสู่ศูนย์กลางอย่างเดียว ซึ่งมองว่าเป็นการเอื้อต่อนายทุน เอื้อต่อการสร้างตึกสูงบนแนวรถไฟฟ้ามากขึ้น ส่วนพื้นที่โดยรอบต้องเป็นพื้นที่รับน้ำ ทำไมคนถึงไม่เท่ากัน ผังเมืองที่ดีต้องกระจายความเจริญไปด้วย ซึ่งลักษณะแบบนี้ เป็นการกดทับชาวกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกไม่ให้เติบโต 

ด้าน ศุภณัฐ กล่าวว่า มีใครชอบความแออัดบ้าง คงไม่มีใครชอบ แต่ในขณะเดียวกันเราปฏิเสธไม่ได้ว่าความเจริญนำมาให้ ซึ่งแหล่งงาน แหล่งอาชีพ สุดท้ายความเจริญนี้นำมาซึ่งความแออัด มองว่าความเจริญแบบนี้ไม่ใช่ความเจริญที่แท้จริง ผังเมือง กทม. ทำให้เกิดความเจริญแบบกระจุก โดยไม่ได้ส่งเสริมให้มีแหล่งงานในแถบชานเมืองเลย ไม่ได้ส่งเสริมให้มีการลงทุน มองว่าผังเมืองถูกบีบให้ความเจริญมาอยู่ในเมือง 

"บางกระเจ้าของสมุทรปราการต้องเป็นปอดให้คนกรุงเทพฯ คนกรุงเทพฯ จะแออัด มีมลพิษขนาดไหน แค่ไหนก็ได้ แล้วเดี๋ยวคนบางกระเจ้าจะดูดซับให้เอง นี่เป็นโลจิกส์ของคนเห็นแก่ตัว" ศุภณัฐ กล่าว

ศุภณัฐ ระบุว่า หากแก้กฎหมายผังเมืองได้ คาดว่าราคาบ้านเดี่ยวที่ขายอยู่ในปัจจุบัน อาจจะลดลงจาก 5 ล้านลงมาเหลือ 3 ล้านบาทก็ได้ ทั้งนี้ ผังเมืองที่ใช้ในปัจจุบันนั้น ยังไม่ได้อัพเดต ไม่ได้สอดคล้องกับการใช้งานจริง 

"ทุกวันนี้รับมอบพื้นที่สีแดงให้นายทุน ไม่มีข้อแลกเปลี่ยนใดๆทั้งสิ้น เอาไปพัฒนาได้เลยเป็นที่ของคุณ" ศุภณัฐ กล่าว

ศุภณัฐ กล่าวว่า สิ่งที่ กทม. ทำได้ คือใช้ผังเมืองนำความเจริญ ไม่ใช่มาตามรถไฟฟ้าบีทีเอส สิ่งที่ควรทำคือหยิบผังเมืองในอนาคตวางเทียบกันแล้วปลดล็อก พัฒนาตามแนวทางของรัฐบาล ยอมรับว่าปัญหาส่วนหนึ่งเป็นเพราะขนส่งมวลชนไม่มี

"ถามว่าทำไมไม่มีรถเมล์ จะมีได้ยังไง จะคุ้มได้ยังไง ความหนาแน่นก็ต่ำ รัฐบาลก็กดเขาไว้อยู่ ชาตินี้ผมพูดเลยว่าอีก 10 ปีข้างหน้า ต่อให้คุณมีรถเมล์ก็จะเป็นรถเมล์ที่ขาดทุน แล้วรถเมล์เอกชนทำ 30 นาทีมาคันหนึ่ง" ศุภณัฐ กล่าว

ศุภณัฐ กล่าวต่อว่า กทม. ยังไม่รู้ตัวคือผังเมืองที่ตัวเองอยู่คืออาวุธ สำหรับตนเหมือนสายฟ้าเลย ถ้าใช้เป็น มองว่าวิสัยทัศน์ของ กทม.สามารถนำรัฐบาลได้ องค์กรท้องถิ่นสามารถควบคุมรัฐบาลได้ถ้าปลดล็อกก่อน แต่ขึ้นอยู่กับว่าท้องถิ่นจะกล้าหรือไม่ หรือจะเป็นแค่ผู้ตามอย่างเดียว