ไม่พบผลการค้นหา
มองภาพใหญ่ปัญหามลพิษฝุ่นละออง ผ่านสายตาผู้เชี่ยวชาญเรื่องการออกแบบเมืองและสิ่งแวดล้อม เพื่อหาทางออกที่ไกลกว่าการวิ่งหาซื้อหน้ากากและห้ามรถยนต์หยุดวิ่ง

คนไทยกำลังตกอยู่ในม่านหมอกและความสับสนในการป้องกันปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งกระทบต่อสุขภาพในระดับน่ากังวล โดยกรีนพีซ องค์การสาธารณประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม รายงานว่า กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหลวงที่มีสภาพอากาศเลวร้ายติดอันดับหนึ่งในสิบของโลก  

ที่ผ่านมาแม้รัฐบาลจะมีมาตรการเฉพาะหน้าออกมาเเก้ไข กระนั้นไม่วายเกิดคำถามขึ้นตามมาว่า แล้วเราจะเเก้ไขปัญหาระยะยาวได้อย่างไร รวมถึงมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน ?

ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่าประเด็นนี้ หากจะมองในภาพใหญ่เพื่อหาทางออกจากปัญหาเมืองดมไม่ได้ต้องไม่ใช่แค่สวมหน้ากาก นับวันรอฝนตกโปรยปราย แล้วก็ลืมๆ มันไปซะ 

“ความจริงแล้วเรื่องสุขภาพกับการพัฒนาเมือง สองเรื่องนี้ไปด้วยกัน ประเด็นคือเราจะมีสุขภาพดี เราคงพึ่งแต่หมอกับการดูแลตัวเองไม่ได้ เราต้องดูแลสิ่งแวดล้อมของเราด้วย สุขภาพจะดีได้ก็ต้องออกแบบสิ่งแวดล้อมที่ทำให้สุขภาพดีด้วย สิ่งแวดล้อมที่จะพูดวันนี้คือ เรื่องของเมือง” ผศ.ดร.พิชญ์ เริ่มต้นกล่าว


เรียกมันว่ามลพิษ ไม่ใช่ฝุ่นจิ๋ว

ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่ได้เพิ่งขึ้นในเมืองไทย แต่เมื่อปีที่แล้ว (2561) ก็ปรากฎเป็นข่าวดัง เพียงแต่ท่าทีการตอบสนองทั้งจากประชาชนและภาครัฐดูจะบางเบา เสมือนไม่เห็นถึงความสำคัญอย่างจริงจัง กระทั่งแรงตื่นตัวเพิ่งปรากฎชัดในช่วงปีนี้ 

“มันแสดงถึงความอ่อนแอของเรา ภูมิต้านทานเราต่ำ ความสนใจที่มีในเรื่องนี้เลยมาช้า ในความหมายที่ว่า ยุคแรก เราเรียกมันว่าฝุ่นหรือฝุ่นจิ๋ว เรายังไม่อธิบายว่า ฝุ่นนี้มันทำให้เกิดอะไร ผมย้ำไว้ตั้งแต่ปีที่แล้วว่า เราต้องเรียกมันว่า ‘มลพิษ’ แล้วต้องถูกมองในสเกลของภัยพิบัติทางอากาศ ไม่ได้หมายความความว่าเราต้องตื่นตระหนก แต่เวลาพูดถึงภัยพิบัติ เราต้องเริ่มตระหนักและหาวิธีรับมือกับมัน” 

อย่างไรก็ตามเมื่อทุกคนเริ่มตระหนัก ปัญหาต่อมาคือความตระหนกที่มาพร้อมๆ กัน และส่งผลต่อความหวาดกลัวในระดับที่แตกต่างกันออกไป 

“เมื่อความสนใจไปไกล มันเริ่มคุมไม่ได้ เริ่มมีการหาสาเหตุของปัญหามากมาย แต่การหาสาเหตุมันไปบวกรวมกับมุมมอง อคติ การรับรู้ และความรู้ที่เรามีต่อเรื่องนั้นๆ ไล่ตั้งแต่ ร้านหมูกระทะ การเผาไหม้ทางด้านการเกษตรทั้งจากในและนอกประเทศอย่างกัมพูชา เครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งคนรวยหลายคนก็เลือกใช้รถยนต์ดีเซล เนื่องจากมีราคาถูกและได้ประโยชน์จากโครงสร้างการอุดหนุนราคาน้ำมัน”

“วิธีการแก้ปัญหา มาพร้อมกับวิธีการมองปัญหา เมื่อเรามองว่ารถยนต์เป็นปัญหา ก็เริ่มมีการบอกว่า ต้องห้ามรถเก่าวิ่ง ต้องขึ้นภาษี หรือห้ามรถเข้าไปในเขตเมืองชั้นใน แต่คำถามก็คือแล้วธุรกิจในเมือง กลุ่มคนตัวเล็กตัวน้อย จะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน หากเลือกทำแบบนั้น มันไม่หายหมดเลยเหรอ ? ” ผศ.ดร.พิชญ์ ตั้งคำถามและเห็นว่าการแก้ไขปัญหาควรตั้งต้นพิจารณาในภาพใหญ่ของเมือง ก่อนตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจนว่าจะเดินหน้าไปทางไหน 

ฝุ่น.jpg

วิเคราะห์โครงสร้างพื้นที่ให้ชัด - เปลี่ยนทิศทางเมือง 

ผศ.ดร.พิชญ์ ซึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาเอก ด้านการวางแผนภาคและเมือง จากมหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เห็นว่า เรื่องใหญ่ที่ทุกคนควรพิจารณาและมีส่วนร่วมคือ “ทิศทางการพัฒนาเมือง” เนื่องจากปัญหามลพิษ ไม่ได้แก้ไขหรืออธิบายง่ายๆ ผ่านปัญหารถยนต์ดีเซล หรือปัญหาจากภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ต้องเข้าใจว่า มันคือส่วนหนึ่งของภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) และ Microclimate หรือสภาพอากาศเฉพาะพื้นที่หรือเฉพาะจุดย่อย

“เรื่องที่เราต้องคุยเป็นคอนเซปต์ที่มาพร้อมกับปัญหาภัยพิบัติคือ Resilience หรือการอยู่รอด ความคงทน และความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ประเด็นคือเรายังไม่มีการวิเคราะห์โครงสร้างของแต่ละพื้นที่ที่มีมลภาวะสูงเลยว่า มันเกิดจากอะไร มีแต่การรายงานตัวเลขมลพิษสูง ยังไม่เคยลงไปดูว่า ในพื้นที่เขาอยู่กันอย่างไร สภาพเมืองเขาเป็นยังไง เราต้องวิเคราะห์สถานการณ์มลพิษโครงสร้างแต่ละพื้นที่ก่อน ไม่ใช่จะไปประกาศเหมารวมว่า ห้ามรถวิ่ง แล้วปัญหาจบ” 

สถานการณ์ฝุ่นละอองและปัญหามลพิษในกรุงเทพฯ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ในเขตพื้นที่เชิงพานิชย์หรือพื้นที่เศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังอยู่ในเขตประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่น ซึ่งหมายความว่า ผู้อยู่อาศัยในบ้านเรือนและคอนโดต้องเผชิญกับสภาพอากาศขั้นเลวร้ายตั้งแต่หน้าระเบียงบ้านของตัวเอง ไม่ใช่แค่เฉพาะระหว่างเดินทางไปทำงาน 

“คุณฝันว่าเมืองจะเปลี่ยนเป็นเมืองกระชับ มีคอนโด มีรถไฟฟ้า แต่มันไม่สวยงามแค่นั้น เพราะคุณกำลังจะไปอยู่ในที่มลพิษสูง ลองนึกดูว่า ทุกคนในคอนโดมีรถยนต์ มีที่จอดรถ ห้างสรรพสินค้าในเมืองมีที่จอดรถ คุณยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ แต่อีกด้านคือ ถ้าคุณไปห้ามคนใช้รถหรือจอดรถในพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่น ธุรกิจเล็กๆ ในพื้นที่ก็ได้รับผลกระทบ ไม่ตายหมดหรอ” 

จากสถานการณ์ปัจจุบันหากเดินหน้าสร้างเมืองกระชับ ส่งเสริมการมีที่อยู่อาศัยที่หนาแน่น และการผสมผสานการใช้ประโยชน์ที่ดิน อาจไม่ใช่เรื่องง่าย

“ถ้าคุณต้องการสร้างเทรนด์เมืองกระชับ ขนคนกลับมาในพื้นที่หนาแน่น ไม่รอดหรอกครับ อากาศแบบนี้มาทุกปีและมาทุกเมือง หากคุณต้องการแบบนี้จริงๆ ก็ต้องมีมาตรการจำนวนหนึ่งในการจัดการ แต่มันไม่ง่าย เพราะในเมืองยังมีคนตัวเล็กตัวน้อยอีกมากอยู่ในชุมชนเก่า ซึ่งเราควรจะไปดูว่า เขาอยู่กันยังไง เปราะบางยังไง จากการเผชิญปัญหาหรือการแก้ไขปัญหา” 

ฝุ่นละออง.jpg

อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ย้ำว่า สิ่งสำคัญคือการเตรียมเมืองในระยะยาว จะเปลี่ยนทิศทางเมืองอย่างไร ไม่ใช่คิดแค่ห้ามรถวิ่งหรือห้ามเกษตรกรเผาไหม้เท่านั้น  

“ถ้าเมืองไม่เปลี่ยนทิศทาง ห้างสรรพสินค้าใหญ่ยังมีพื้นที่จอดรถจำนวนมาก พื้นที่เขตดินแดง เขตลาดพร้าวมีถนนกี่เลน ก็ไม่แปลกที่มลพิษจะสูง แต่อย่าไปโทษแค่รถติด จำนวนรถมีมาก ปัญหาคือคุณพัฒนาถนน พัฒนาเมืองแบบนี้แล้วคุณก็ไปโทษรถ หรือถ้าเราปล่อยให้มีการสร้างตึกมากขนาดนี้ คำถามคือตึกบังลมหรือเปล่า เดิมเราคำนวณแต่ความรุนแรงของลมที่กระทบกับความแข็งแรงของตึก แต่เราได้คิดหรือเปล่าว่า ตึกสูงส่งผลต่อทิศทางลม ทิศทางมลพิษ ทิศทางความร้อนอย่างไร ฉะนั้นมันต้องเริ่มคิดได้แล้วว่าจะปรับเปลี่ยนเมืองอย่างไร”


รัฐอ่อนแอ - ประชาชนไม่มีส่วนร่วม

เมื่อสุขภาพและการพัฒนาเมืองต้องเดินไปด้วยกัน ผศ.ดร.พิชญ์ จึงเห็นว่า สุขภาพจะดีได้ต้องออกแบบสิ่งแวดล้อมที่ทำให้สุขภาพดีด้วยนั่นเอง ซึ่งการทำความเข้าใจเมือง ไม่ใช่ง่ายๆ แค่ว่าเป็นศูนย์กลางเจริญ แต่สิ่งที่ต้องเข้าใจคือ ท่ามกลางการเติบโตของเมือง คนรอบข้างหรือใครในเมืองบ้างที่เดือดร้อน

ขณะที่วิธีการออกแบบเมือง จำเป็นต้องวิเคราะห์สถานการณ์ในพื้นที่ของเราให้ได้ก่อน มากกว่าดูเพียงว่าเป็นผลกระทบ เมื่อได้รับผลกระทบมา บทบาทหน้าที่ของการบริหารจัดการในพื้นที่ได้ตอกย้ำให้สิ่งเหล่านี้ขยายตัวหรือลดลง แล้วทำให้สุขภาพคนดีขึ้นหรือแย่ลง 

“การแก้ปัญหาแบบนี้ แก้ระดับเมืองอย่างเดียวไม่ได้ ต้องแก้ในระดับเขต เราต้องมีข้อมูลที่เข้าไปกดดันให้แต่ละเขตมีแผนการรองรับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งมาจากข้อตกลงกับประชาชนในพื้นที่ การพัฒนาแต่ละเขต การวางพื้นที่แต่ละเขต ตึกสูงเกินไปไหม การก่อสร้างจะต้องดูแลเรื่องฝุ่นอย่างไร ซึ่งไม่ใช่แค่ PM 2.5 อย่างเดียวที่เราต้องกังวัล ยังมีประเภทอื่นๆ ที่กระทบกับคุณภาพอากาศด้วย”  


พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการพัฒนาเมือง วิเคราะห์ว่า โครงสร้างการบริหารในระดับเขต ปัจจุบันนั้นอ่อนแอมาก มีผู้อำนวยการเขตที่มาจากข้าราชการกทม. ซึ่งถูกแต่งตั้งจากผู้ว่าฯ กทม. สภาเขตไม่มีอำนาจ และคนในเขตไม่มีส่วนร่วมทางการเมือง ตลอดจนไม่มีโครงสร้างเชิงสถาบันและแผนผังระดับเขต

“เรายังไม่รู้เลยว่า เขตเรามีอะไรตรงไหน มีใครรู้ไหมว่าผอ.เขตเราชื่ออะไร ขึ้นมาได้อย่างไร รับผิดชอบอะไร ปล่อยให้กรุงเทพฯ บริหารโดยผอ. เขตที่เราไม่รู้จักได้อย่างไร ถ้าค่าคุณภาพอากาศมันแย่ เราจะปล่อยให้มีการก่อสร้างมากกว่านี้ไหม ถนน รถมากเกินไปไหม ไม่ใช่ปล่อยให้รัฐบาลกลางลงมาสั่งอย่างเดียว แต่ละเขตต้องตกลงกัน เราอยากให้เขตเรามีลักษณะแบบไหน มีพื้นที่สีเขียว อากาศแบบไหน เมืองเราจะดมได้ไหม” 

เขาบอกว่าถ้าไม่ช่วยกันวางทิศทางเมืองใหม่ จะไม่สามารถจะมีชีวิตรอดจากมลภาวะได้ และการตั้งหน้าตั้งตารอฟ้าฝนหรือสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงเพียงอย่างเดียว ถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ใช้ไม่ได้ 

“รอฝนอย่างเดียวแล้วผ่านไป นั่นเป็นการแก้ปัญหาแบบแห่นางแมวหรือบั้งไฟพญานาค ชีวิตเราจะย้อนกลับไปสู่ยุคนั้นหรอ ประเทศนี้รอฟ้าฝนอย่างเดียว เหมือนคุณทำลายธรรมชาติทุกวันแล้วรอให้มันมาล้างให้คุณหรอ ฝนตกเป็นJudgement Day ของคุณหรอ” ผศ.ดร.พิชญ์ทิ้งท้าย 


พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ภาพโดย สุรัสวดี มณีวงษ์

----

หมายเหตุ เนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ เมือง-กิน-คน โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์



วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog