เมื่อวันที่ 9 พ.ค.2562 ที่ผ่านมา คริส ฮิวจส์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเฟซบุ๊ก ซึ่งลาออกเมื่อปี 2007 และยังเป็นอดีตรูมเมตสมัยมหาวิทยาลัยของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้บริหารเฟซบุ๊ก ได้ออกมาชี้ถึงปัญหาของโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ผ่านบทความในเดอะนิวยอร์กไทมส์ ว่าในปัจจุบัน เฟซบุ๊กมีอำนาจควบคุมทิศทางการเสพข้อมูลของคนมากเกินไปแล้ว เนื่องจากสถานะของเฟซบุ๊กในตลาดเรียกได้ว่า 'ผูกขาด' เฟซบุ๊กมีอำนาจกำหนดว่าจะให้คนเห็นอะไรหรือไม่เห็นอะไรบนหน้าฟีด
ฮิวจส์จึงเสนอให้หน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ เพิกถอนการควบรวมกิจการวอตซ์แอป และอินสตาแกรม ให้บริษัทถือครองสื่อโซเชียลมีเดียในมือน้อยลง เปิดให้มีพื้นที่สำหรับมีการแข่งขันได้มากขึ้น พร้อมออกกฎที่เกี่ยวข้องกับความเป็นส่วนตัวเพื่อควบคุมว่าข้อมูลส่วนตัวแบบไหนที่เฟซบุ๊กสามารถเก็บได้บ้าง
“อเมริกาเป็นประเทศที่สร้างมาด้วยแนวคิดว่าอำนาจไม่ควรกระจุกอยู่ใครคนใดคนหนึ่ง เพราะเราต่างย่อมผิดพลาดกันได้ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมบรรดาผู้ก่อตั้งประเทศจึงสร้างระบบการตรวจสอบและถ่วงดุล” ฮิวจส์ ระบุในบทความ
ด้วยสัดส่วนหุ้นของเฟซบุ๊กที่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กถือ ทำให้เขามีเสียงโหวตกว่าครึ่งในการตัดสินใจ คณะกรรมการบริหารจึงดูจะเป็นเพียงที่ปรึกษามากเสียกว่าผู้สอดส่องดูแล เขาเพียงคนเดียวก็มีอำนาจในการตัดสินใจอัลกอริทึมของเฟซบุ๊กว่าใครจะเห็นอะไรบนนิวส์ฟีด หรือใครจะมีสิทธิเก็บความเป็นส่วนตัวของข้อมูลตัวเองได้แค่ไหน หรือกระทั่งกำหนดว่าข้อความใดส่งได้หรือไม่ได้
หนึ่งในตัวอย่างสุดโต่งที่ฮิวจส์ยก คือหลังพบว่ามีการส่งข้อความผ่านเฟซบุ๊กเมสเซนเจอร์จากทั้งฝ่ายผู้นับถือศาสนาพุทธและอิสลามในพม่าในปี 2017 ว่าอีกฝ่ายก่อการจราจลขึ้นแล้ว ให้ทุกคนจับอาวุธและไปยังที่เกิดเหตุกัน ซักเคอร์เบิร์กได้ตัดสินใจบล็อกไม่ให้สามารถส่งข้อความที่สร้างความเกลียดชังเหล่านี้ได้ เพื่อเลี่ยงความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น
แม้การกระทำนี้จะดูสมเหตุสมผล แต่สิ่งที่ฮิวจส์เป็นห่วง คือการที่ซักเคอร์เบิร์กทำไปโดยไม่ต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลหรือองค์อิสระใดๆ ในทำนองเดียวกัน โดยทฤษฎีแล้ว ข้อความของชาวอเมริกันเองก็มีสิทธิถูกลบได้เช่นกัน หากสร้างความไม่พอใจให้กับประธานเฟซบุ๊กคนนี้
นอกจากนี้ ยังกล่าวได้ว่าเฟซบุ๊กยึดตลาดไว้ให้ผู้ใช้ไม่สามารถย้ายไปยังแพลตฟอร์มอื่นได้ ต่อให้ผู้คนจะไม่พอใจแค่ไหน แต่ก็ยากจะเลี่ยงการอยู่ภายใต้การควบคุมของเฟซบุ๊ก ซึ่งผูกขาดโลกโซเชียลมีเดีย ด้วยการครอบครองสามแพลตฟอร์มใหญ่ของสื่อสังคมออนไลน์ไว้ นั่นคือ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และวอตซ์แอป ซึ่งมีคนนับพันล้านใช้กันเป็นประจำทุกวัน
โดยข้อมูลจากสำนักวิจัยพิว (Pew Research Center) เผยว่า 69 เปอร์เซ็นต์ของชาวอเมริกันอายุ 18 ปี ขึ้นไปใช้โซเชียลมีเดีย โดยในจำนวนนั้น 68 เปอร์เซ็นต์ใช้เฟซบุ๊ก 35 เปอร์เซ็นต์ใช้อินสตาแกรม และ 22 เปอร์เซ็นต์ใช้วอตซ์แอป และจากข้อมูลที่ฮิวจส์รวบรวมมา เฟซบุ๊กมีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2.3 พันล้านคน เมสเซนเจอร์มี 1.3 พันล้านคน วอตซ์แอปมี 1.6 พันล้านคน และอินสตาแกรมมี 1 พันล้านคน
ด้วยอำนาจผูกขาดความเป็นเจ้าตลาดเช่นนี้ ฮิวจส์ชี้ว่าซักเคอร์เบิร์กสามารถกำจัดคู่แข่งได้โดยการ ซื้อ บล็อก หรือลอกเลียนแบบกิจการคู่แข่ง ดังในกรณีที่มีการรายงานว่าเฟซบุ๊กลำดับความสำคัญของวิดีโอที่ลงในเฟซบุ๊กมากกว่าวิดีโอที่แชร์จากแพลตฟอร์มอื่นอย่าง ยูทูบหรือวิมีโอ (Vimeo) และในปี 2012 ทวิตเตอร์ได้เข้าซื้อไวน์ (Vine) เครือข่ายวิดีโอขนาดสั้น 6 วินาที ซึ่งต่อมาเฟซบุ๊กบล็อกผู้ใช้ไวน์ จึงไม่สามารถเข้าถึงรายชื่อเพื่อนบนเฟซบุ๊กได้ โดยเฟซบุ๊กระบุว่าเป็นมาตรการตอบโต้บริษัทที่จงใจใช้ประโยชน์จากเฟซบุ๊ก โดยไม่สร้างมูลค่าให้กับเฟซบุ๊ก การตัดสินใจนี้เป็นหนึ่งในสาเหตุที่สั่นคลอนไวน์กระทั่งปิดตัวลงในปี 2016 (ในบทความ ฮิวจส์ไม่ได้เอ่ยถึงเหตุการณ์ก่อนหน้าว่าทวิตเตอร์จำกัดไม่ให้ผู้คนแชร์ไวน์ไปลงเฟซบุ๊กได้โดยสะดวก)
สำหรับกรณีของสแนปแช็ต (Snapchat) ซึ่งมีระบบสตอรีและการส่งข้อความชั่วคราว ก็ดูเป็นทางเลือกแทนที่เฟซบุ๊กและอินสตาแกรม โดยต่างจากไวน์เพราะสแนปแช็ตไม่ยุ่งเกี่ยวกับระบบนิเวศน์ของเฟซบุ๊กอยู่แล้ว เฟซบุ๊กจึงไม่สามารถคว่ำบาตรได้ แต่สิ่งที่เฟซบุ๊กทำคือทำการเลียนแบบ กลายเป็นเฟซบุ๊กสตอรีและข้อความลับในเมสเซนเจอร์ซึ่งตั้งเวลาให้ข้อความหายไปได้ โดยฮิวจส์อ้างบทความจากไวร์ด ว่าในปี 2016 ซักเคอร์เบิร์กได้บอกกับพนักงานของเฟซบุ๊กว่าอย่าให้ 'ศักดิ์ศรี' ขัดขวางการให้ในสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการ ซึ่งกลายเป็นสโลแกนภายในองค์กรอย่างไม่เป็นทางการ : "อย่าหยิ่งเกินที่จะลอก"
ในบทความของฮิวจส์ เขาได้เสนอข้อเสนอหลักสองประการ เพื่อลดการผูกขาดของเฟซบุ๊ก และส่งเสริมความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน
ข้อเสนอประการแรก คือให้แยกเฟซบุ๊กออกเป็นหลายบริษัท โดยให้กรรมาธิการการค้ารัฐบาลกลางสหรัฐฯ ร่วมกับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เพิกถอนการควบรวมกิจการอินสตาแกรม และวอตซ์แอป ซึ่งเฟซบุ๊กซื้อกิจการมาในปี 2012 และ 2014 ตามลำดับ พร้อมกำหนดห้ามการซื้อกิจการในอีกหลายปีข้างหน้า เพื่อลดการผูกขาด และกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน เอื้อให้เกิดโซเชียลเน็ตเวิร์กรายใหม่ๆ ซึ่งเสนอทางเลือกอื่นนอกจากเฟซบุ๊ก ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กที่รักษาความเป็นส่วนตัวมากกว่า หรือโซเชียลเน็ตเวิร์กที่มีโฆษณาน้อยกว่า
ฮิวจส์อ้างถึงตัวอย่างในทศวรรษ 1950 ของอเมริกา ที่เอทีแอนด์ที (AT&T) บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ของสหรัฐฯ ซึ่งผูกขาดอุปกรณ์และบริการโทรศัพท์ ในคราวนั้น รัฐบาลได้สั่งฟ้องบริษัทภายใต้กฎหมายต่อต้านการผูกขาด และคดีจบลงโดยความยินยอมของทุกฝ่าย เอทีแอนด์ทียุติการผูกขาดสิทธิบัตร และงดเว้นการขยายกิจการไปยังอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ซึ่งขณะนั้นยังอยู่ในระยะตั้งไข่ ฮิวจส์อ้างว่าเหตุการณ์นี้เปิดโอกาสให้ในเวลาต่อมาเกิดการพัฒนานวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ มากมาย โดยหากไม่มีการยุติการผูกขาดในวันนั้น ก็คงไม่มีการแข่งขันในตลาดที่ทำให้เกิดคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปสมัยใหม่และโทรศัพท์อย่างไอโฟนในวันนี้
นอกจากนี้ ฮิวจส์มองว่าการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของตลาดยังไม่เพียงพอจะแก้ปัญหาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน จึงเสนอเพิ่มเติมว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องตั้งองค์กรมาเพื่อคอยกำกับระเบียบบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ ดังที่ยุโรปมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป (General Data Protection Regulation) โดยกฎระเบียบที่สหรัฐฯ จะออกมาควรกำหนดชัดว่าชาวอเมริกันมีอำนาจอะไรในการควบคุมข้อมูลดิจิทัลของตัวเองบ้าง พร้อมกำหนดให้บริาทเปิดเผยตัวเองต่อผู้ใช้งานอย่างชัดเจนโปร่งใส่มากขึ้น พร้อมให้ความยืดหยุ่นให้ทางองค์กรตรวจสอบสามารถสอดส่องบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ และท้ายที่สุด องค์กรดังกล่าวควรออกแนวทางว่าข้อความลักษณะใดจึงนับว่ายอมรับได้ในโซเชียลมีเดีย เพื่อให้มีมาตรฐานที่บริษัทเทคโนโลยีต่างๆ สามารถใช้ได้
สำหรับฝ่ายเฟซบุ๊กนั้น มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ได้ตอบโต้ในการสัมภาษณ์ผ่านฟรองซ์ 2 ช่องโทรทัศน์ของฝรั่งเศส ว่าปัญหาของเฟซบุ๊กคือความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัย และข้อมูลเท็จ ซึ่งไม่ได้แก้ได้ด้วยการซอยแยกบริษัท กลับกัน นั่นจะเป็นสิ่งที่ขัดขวางความพยายามในการสร้างความปลอดภัยให้โซเชียลเน็ตเวิร์กอีกต่างหาก เนื่องจากจะทำให้แอปฯ ในเครือของเฟซบุ๊กจะสูญเสียการประหยัดด้วยขนาด (economies of scale) ลง ส่งผลเสียเวลาลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัย เช่น ปัญญาประดิษฐ์ที่จะตรวจจับบอทที่คอยสร้างเนื้อหาขัดขวางไม่ให้ผู้ใช้สิทธิที่สนับสนุนพรรคฝ่ายตรงข้ามไปออกเสียงเลือกตั้ง
"งบประมาณด้านความปลอดภัยของเราในปีนี้ สูงกว่ารายได้ที่บริษัทของเราได้เมื่อเปิดตัวในตลาดเมื่อต้นทศวรรษนี้เสียอีก สิ่งนี้เกิดขึ้นได้เพราะเราประสบความสำเร็จทางธุรกิจกระทั่งหันมาสนับสนุนเรื่องนี้ได้
"รู้อะไรไหม เราลงทุนในความปลอดภัยมากกว่าใครในธุรกิจโซเชียลมีเดียเสียอีก"
ซักเคอร์เบิร์กชี้ว่าขนาดที่ใหญ่ของบริษัทจะช่วยส่งเสริมความปลอดภัยของโลกโซเชียล พร้อมแสดงจุดยืนว่าประเด็นปัญหาอยู่ที่ว่าในโซเชียลมีเนื้อหาที่อันตรายนั้นอยู่จริง และต้องการจุดสมดุลระหว่างการแสดงออกกับความปลอดภัย เพื่อหลีกเลี่ยงการแทรกแซงการเลือกตั้ง โดยยังรักษาความเป็นส่วนตัวไปด้วย
ทางด้าน นิก เคลกก์ รองประธานฝ่ายกิจการต่างประเทศและการสื่อสารของเฟซบุ๊ก ก็ได้ลงบทความชี้แจงใน เดอะนิวยอร์กไทมส์เช่นกันหลังจากบทความของฮิวจส์ลงไปได้สองวัน ว่าเฟซบุ๊กต้องการกฎระเบียบมาควบคุมจริง แต่การแตกบริษัทออกเป็นหลายๆ บริษัทนั้นไม่ช่วยแก้ปัญหา
"แม้ว่าขณะนี้เราจะทำงานภายใต้กฎระเบียบมากยิ่งกว่าช่วงเวลาในในประวัติศาสตร์ของบริษัทแล้วก็ตาม แต่เราก็เชื่อว่าควรมีกฎมากำกับเพิ่มอยู่ดี" เคลกก์ ระบุพร้อมเสริมว่า มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เองก็ได้เดินทางไปยังกรุงปารีส เพื่อพบกับเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และผู้ออกกฎระเบียบ เพื่อหารือถึงผลกระทบของเทคโนโลยี และความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายมาควบคุม
นอกจากนี้ ในบทความของเคลกก์ยังชี้แจงว่าในด้านแอปฯ ส่งข้อความ เฟซบุ๊กไม่ใช่แม้แต่ผู้นำในตลาดที่ใหญ่ที่สุดสามแห่งคือ จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ด้วยซ้ำ อีกทั้งยังเต็มไปด้วยคู่แข่งอย่าง วีแชต ไลน์ สไกป์ของไมโครซอฟต์ และไอเมสเสจของแอปเปิล นอกจากนี้รายได้เกือบทั้งหมดของเฟซบุ๊กมาจากการโฆษณาดิจิทัล ซึ่งเฟซบุ๊กมีส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ เพียง 20 เปอร์เซ็นต์ จึงไม่ถูกนักที่จะบอกว่าเฟซบุ๊กผูกขาดตลาดอยู่
เคลลก์ ยังชี้อีกว่าฮิวจส์ มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับกฎหมายต่อต้านการผูกขาด ซึ่งมีเจตนาในการการันตีว่าผู้บริโภคจะเข้าถึงสินค้าที่มีราคาถูกและมีคุณภาพดี ซึ่งเฟซบุ๊กก็เป็นเช่นนั้น คือฟรีสำหรับผู้ใช้งาน โดยหารายได้จากผู้ประสงค์จะโฆษณา กฎหมายต่อต้านการผูกขาดไม่ใช่เรื่องของขนาดบริษัทเพียงอย่างเดียว
"การที่บริษัทใหญ่โตไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ความสำเร็จไม่ควรกลายเป็นความผิดที่ต้องถูกลงโทษ" เคลกก์ ระบุ
ที่มา: The New York Times / Tech Crunch / CNN
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: