ไม่พบผลการค้นหา
เฟซบุ๊กประกาศมาตรการสกัดโพสต์โฆษณาที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่มาจากต่างประเทศตั้งแต่กลางเดือน ก.พ. เป็นต้นไป เพื่อป้องกันข่าวปลอมที่อาจแทรกแซงการเลือกตั้งไทย

เฟซบุ๊กประกาศมาตรการปกป้อง “ความสุจริตของการเลือกตั้ง” ของไทยที่กำลังจะจัดขึ้นในวันที่ 24 มี.ค.ที่จะถึงนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนสามารถมีสิทธิ์มีเสียงในกระบวนการทางการเมือง โดยเฟซบุ๊กระบุว่า เฟซบุ๊กได้เรียนรู้จากการเลือกตั้งทุกครั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และได้ปรับปรุงความสามารถในการจัดการบัญชีปลอม ลดจำนวนข่าวปลอม ขัดขวางคนที่มีเจตนาร้าย ส่งเสริมให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนและมีส่วนร่วมกับการเลือกตั้ง และเพิ่มความโปร่งใสในการซื้อขายโฆษณา


มาตรการโฆษณา

เฟซบุ๊กระบุว่าจะเพิ่มความโปร่งใสสำหรับโฆษณาทั้งหมด โดยผู้ใช้จะได้เห็นโฆษณาทั้งหลายที่เพจต่างๆ โฆษณาไว้อยู่แล้ว โดยไม่จำกัดเนื้อหาการโฆษณา รวมถึงโฆษณาที่เกี่ยวข้องการเลือกตั้ง แต่ผู้ใช้ก็ยังสามารถกดรีพอร์ตโฆษณาที่ไม่เหมาะสมได้

นอกจากนี้ เฟซบุ๊กจะสกัดโพสต์โฆษณาเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่มาจากต่างประเทศชั่วคราว เพื่อปกป้องความสุจริตของการเลือกตั้งในไทย โดยคาดว่าจะเริ่มใช้มาตรการนี้ในช่วงกลางเดือนทก.พ.ที่จะถึงนี้ โดยการเปลี่ยนแปลงนี้จะถูกนำมาบังคับใช้กับโฆษณาที่เฟซบุ๊กประเมินว่ามาจากบุคคลที่อยู่นอกประเทศไทย และมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง พรรคการเมือง ส่งเสริมให้คนไปเลือกตั้ง หรือห้ามปรามไม่ให้ไปเลือกตั้ง รวมถึง โฆษณาจากต่างประเทศที่มีสโลแกนของพรรคและโลโก้ของพรรค

เฟซบุ๊กเปิดเผยว่า จะใช้วิธีการคัดกรองด้วยระบบอัตโนมัติและให้พนักงานตรวจสอบ เพื่อช่วยให้เฟซบุ๊กระบุได้ว่าโฆษณาชิ้นไหนที่ไม่ควรถูกเผยแพร่ต่อไป

การโจมตีทางไซเบอร์เป็นอันตรายต่อเรือใหญ่

มาตรการสอดส่อง

เฟซบุ๊กยังมีมาตรการเพิ่มทรัพยากรสำหรับการตอบรับที่รวดเร็ว โดยทีมงานด้านความปลอดภัยของเฟซบุ๊กจะทำงานกันตลอดเวลาในการทำงานเชิงรุกและค้นหาการใช้เฟซบุ๊กในทางที่ไม่ถูกต้อง พร้อมยืนยันว่าที่ผ่านมา เฟซบุ๊กได้กำจัดเพจ กรุ๊ปและบัญชีปลอมไปหลายพันบัญชี และมุ่งมั่นที่สร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งทั่วโลกในการค้นหาและหยุดยั้งการกระทำมิชอบต่างๆ

หลังจากร่วมกันพัฒนาระบบในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเพื่อรับมือกับการเลือกตั้งในไทยและประเทศอื่นๆ ในเอเชียแปซิฟิก เฟซบุ๊กวางแผนที่จะตั้งศูนย์ปฏิบัติการหลายแห่งในภูมิภาคนี้ เพื่อดูแลเรื่องความสุจริตในการเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้การประสานงานและความสามารถในการตอบสนองต่อข่าวปลอมและบัญชีปลอมมีประสิทธิภาพขึ้น โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญจากทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และวอทส์แอป


มาตรการจัดการข่าวปลอม

เฟซบุ๊กจะทำงานร่วมกับสมาชิกสภา คณะกรรมการการเลือกตั้ง นักวิจัย ฝ่ายตรวจสอบข้อมูล นักวิชาการ และภาคประชาสังคมในการต่อสู้กับข่าวปลอมและป้องกันการกดขี่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยเฟซบุ๊กจะต่อสู้กับข่าวปลอม 3 ทาง ได้แก่ 1. กำจัดเนื้อหาที่ละเมิดมาตรฐานของเฟซบุ๊ก เพื่อความปลอดภัยและความมั่นคง 2. หากเนื้อหาไม่ละเมิดมาตรฐานเฟซบุ๊กโดยตรง แต่ลดทอนความจริง เช่น คลิกเบตหรือเนื้อหาที่เล่นกับความรู้สึกของคน เฟซบุ๊กจะลดการมองเห็นบนนิวส์ฟีด 3. เฟซบุ๊กจะให้ข้อมูลเพิ่มเกี่ยวสิ่งที่ผู้ใช้เห็นบนนิวส์ฟีด เช่น เฟซบุ๊กจะขึ้นแท็บ “เกี่ยวกับบทความนี้” (About this article) เพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทความและสำนักข่าวที่เผยแพร่ข่าวดังกล่าว

เลือกตั้ง.jpg

เฟซบุ๊กยืนยันว่าต้องการส่งเสริมให้ผู้ใช้ตัดสินใจด้วยตัวเองว่าจะอ่าน เชื่อและแชร์อะไร และจะส่งเสริมการรู้เท่าทันข่าวและให้บริบทของข่าว เช่น ในไทยจะมีบทความโฆษณา “ทิปส์ในการสังเกตข่าวปลอม” กับองค์กรท้องถิ่น เช่น “ชัวร์ก่อนแชร์” ของสำนักข่าวไทยและจุฬาลงกรณ์วิทยาลัย นอกจากนี้ เฟซบุ๊กยังมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมข่าวในไทย โดยเฉพาะช่วงเลือกตั้ง โดยเฟซบุ๊กเพิ่งจัดการอบรมสำนักข่าวในไทยเกี่ยวกับแนวปฏิบัติสำหรับกองบรรณาธิการ รวมถึง การทำข่าวเลือกตั้ง และการอบรมเครื่องมือในการรายงานข่าวเลือกตั้ง เช่น CrowdTangle


มาตรการความปลอดภัยและความมั่นคง

เฟซบุ๊กมีพนักงานที่ดูแลด้านความปลอดภัยและความมั่นคงมากกว่า 30,000 คนเพิ่มจากปี 2017 ถึง 3 เท่า เพื่อพัฒนาเครื่องมือเรียนรู้ด้านการค้นหาและกำจัดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ปรับปรุงวิธีจัดการเพจปละบัญชีปลอมด้วยการใช้เทคโนโลยีและผู้เชี่ยวชาญ อีกทั้งยังปรับเปลี่ยนงานในแต่ละประเทศ โดยอาศัยวิจัยและการประเมินภัยคุกคามของแต่ละประเทศก่อนจะมีการจัดการเลือกตั้งเป็นเวลาหลายเดือน ดังนั้น เฟซบุ๊กจะมีทีมที่สอดส่องและขัดขวางปฏิบัติการด้านข้อมูล (IO) ในไทยและประเทศที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง

เฟซบุ๊กยังมีแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยและความมั่นคงในการปกป้องเพจของผู้สมัครและพรรคการเมืองไม่ให้ถูกแฮ็กหรือถูกปลอมแปลง รวมถึงจะทำให้การขัดขวางการเลอืกตั้งบนเฟซบุ๊กได้ยากขึ้น และอำนวยได้ยินเสียงของประชาชนในกระบวนการเลือกตั้งได้ง่ายขึ้น ป้องกันการให้ข้อมูลบิดเบือนการแทรกแซงจากต่างชาติ การหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต การคุกคามและการข่มขู่จะใช้ความรุนแรง