สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน พร้อมด้วย ปรีดี ดาวฉาย รมว.คลัง เรียกประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังเพื่อมอบนโยบายในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ ในโอกาสที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งใหม่ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดปัจจุบัน
สุพัฒพงษ์ กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลังจะมีมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยจะเห็นความชัดเจนภายในเดือน ส.ค.นี้ จะเป็นโครงการที่อยู่ภายใต้วงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท และหากจำเป็นต้องมีมาตรการเพิ่มเติมอีกก็สามารถกู้เพิ่มเติมได้ เช่น ถ้าเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบ 2 ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังคาดเดาไม่ได้ แต่ถ้าต้องกู้เงินเพิ่ม ก็จำเป็นต้องทำ อีกทั้งหนี้สาธารณะของประเทศวันนี้อยู่ที่ระดับกว่า 40% ของจีดีพี รัฐบาลไม่ได้มีนโยบายตั้งเป้าว่าหนี้สาธารณะต้องไม่เกินเท่าไร แต่มีเป้าหมายต้องรักษาควบคุมการระบาดโควิด-19 และต้องใช้งบประมาณอย่างเหมาะสมและดีที่สุด
ส่วนการที่สำนักงานสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย (จีดีพี) ในไตรมาส 2/63 พบว่า -12.2% นั้น เป็นผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในทุกประเทศ จะมากหรือน้อยหรือไม่เท่านั้น ขณะที่ประเทศไทยมีสัดส่วนของรายได้จากท่องเที่ยวและการส่งออกในจีดีพีค่อนข้างสูง ทำให้ได้รับผลกระทบมาก แต่ก็ยังมีประเทศอื่นที่แย่กว่าไทย
อย่างไรก็ตาม แนวทางการดำเนินโยบายเศรษฐกิจจะเป็นไปตามที่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ให้นโยบายไว้ 5 เรื่อง ได้แก่ 1.การดูแลผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และประชาชนในภาคส่วนต่าง ๆ ที่ได้รับความเดือดร้อน 2.เตรียมมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ต้องเป็นมาตรการยั่งยืนไม่ใช่แค่การเยียวยาโดยตรง 3.หาแนวทางในการจูงใจให้ภาคธุรกิจธุรกิจต่าง ๆ จ้างงาน 4.สร้างงานคนรุ่นใหม่นักศึกษาจบใหม่ให้มีงานทำ และ 5.ทำงานอย่างซื่อสัตย์โปร่งใส รับฟังความคิดเห็นของของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
ส่วนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะดูภาพรวมปัญหาและอุปสรรคในเชิงปฏิบัติให้เหมาะสม โดยจะต้องสามารถปล่อยสินเชื่อได้ตรงเป้าหมายตรงจุดให้เหมาะสมกับผู้ที่ควรจะได้รับความช่วยเหลือ
โดยในวันที่ 19 ส.ค.นี้ จะมีการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) นัดแรก โดยจะมีการเสนอมาตรการดูแลเอสเอ็มอี รวมถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ของธปท.ที่จะทำให้เหมาะสม ด้วยการเข้าไปปรับในรายละเอียด เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงได้อย่างครอบคลุม
"เชื่อว่าคือวิธีการทำงานที่จะรวดเร็วขึ้น มีการบูรณาการข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น และเป็นการทำงานร่วมมือกัน ไม่แยกหน่วยงาน ไม่แยกกระทรวง ไม่แยกรัฐ ไม่แยกเอกชน เราจะได้ทางเลือก หรือทางออกที่ดี มีประสิทธิภาพและมีความคล่องตัวสูง สอดคล้องความไม่แน่นอน หรือปัญหาที่เกิดขึ้น จึงดำริเรื่องรวมไทยสร้างชาติขึ้นมา" ยสุพัฒนพงษ์ กล่าว
ขุนคลังคนใหม่ย้ำนโยบายเร่งด่วนดูแลผู้มีรายได้น้อย-เอสเอ็มอี
ปรีดี ดาวฉาย รมว.คลัง กล่าวว่า กระบวนการทำงานของกระทรวงการคลังจะเปลี่ยนไป การตัดสินใจ การทำมาตรการต่าง ๆ อยู่ที่ ศบศ.ที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดูแล ดังนั้น บทบาทของคลังจากในอดีตจะต้องเปลี่ยนไปบ้าง โดยวันนี้กระทรวงการคลังมีเรื่องตัวเงินที่ต้องเข้าไปสนับสนุน เรื่องวินัยการเงินการคลังบทบาทเปลี่ยนชัดเจน จะมีข้อมูลและมาตรการในรายละเอียดออกมาจาก ศบศ.หลังจากนี้
สำหรับความท้าทายระยะสั้น ปรีดี มองว่า เศรษฐกิจทุกประเทศหดตัวลงเช่นเดียวกัน ส่วนจีดีพีไทยกระทบเพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวและการส่งออกเป็นหลัก ขณะที่ปัญหาเกิดจากคนเดินทางไม่ได้ ทำให้เราได้รับผลกระทบในส่วนนี้มากที่สุด ทั้งหมดเป็นเหตุและผล ทุกคนถามว่าเมื่อไหร่จะกลับที่เดิม จะ 1-2 ปีนั่นเป็นความคาดหวัง เป็นกำลังใจ เพราะความไม่แน่นอนยังมีอยู่ เราจะแก้ปัญหากัน 1-2 เดือนหรือแก้ปัญหาจนถึงวัคซีนมา บางเรื่องยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจน เพราะมีเหตุและผลของตัวเอง
นโยบายเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าจะเน้นดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อย ทั้งค่าครองชีพ และการจ้างงาน ธุรกิจเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหา ซึ่งจะเข้าไปดูเป็นกลุ่ม เช่น กลุ่มเอสเอ็มอีรายเล็ก จะเข้าไปช่วยเสริมสภาพคล่อง และปรับโครงสร้างหนี้ หากติดในกฎระเบียบส่วนใด ก็จะพยายามเข้าไปแก้ไข และจะเน้นดูแลในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการท่องเที่ยว และการบริโภค เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยว การเดินทางและมีการจับจ่ายใช้สอยลดลง
ในการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินและสถาบันการเงิน จะพัฒนากลไกการรักษาเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน และจะกำกับดูแลสถาบันการเงินของรัฐ (SFIs) ให้ดำเนินการตามพันธกิจท่ามกลางปัจจัยท้าทาย ทั้งนี้ จะทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพการคลัง การเงินในระบบของประเทศ และจะมีการทำงานร่วมกันกับ ธปท.
"ผมมานั่งคลัง ผมจะไม่ตอบอะไรที่มันไม่มีความชัดเจน เพราะจะทำอย่างนั้นไม่ได้ เช่น เรื่องการกู้เงิน เราก็เป็นหนี้ พอเป็นหนี้ ถามต่อไปว่าเป็นหนี้ต้องใช้คืน เพราะฉะนั้นเป็นหนี้ต้องมีการคืน ก็โยงกลับไปสู่แหล่งรายได้ แต่ถ้าถามความจำเป็น ต้องเป็นหนี้เพิ่มไหม รัฐบาลก็ต้องเป็นหนี้แน่นอน และรู้ว่าทุกคนมีความคาดหวัง เมื่อมีคนใหม่เข้ามาทำงานจะก่อให้เกิดสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลง และกระทรวงการคลังยืนยันจะดูแลประชาชนทุกคนให้มีกิน" ปรีดี กล่าว
รองโฆษกรัฐบาลแจงรัฐตั้ง 'ศบศ.' แก้ปัญหาศก.ตรงจุด รวดเร็วไม่ซ้ำซ้อน
ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มั่นใจว่า การตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด- 19) หรือ ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) จะแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจจากผลกระทบของโรคโควิด-19 ได้อย่างตรงจุด รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ โดยไม่ซ้ำซ้อนกับการทำงานของกระทรวงและหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ แต่เป็นการระดมความเห็น ความต้องการในระยะจำเป็นเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาได้ตรงตามสถานการณ์ แก้ไขผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างทันท่วงที เพื่อลดผลกระทบในระยะกลางและระยะยาวด้วย
นอกจากนี้ ศบศ.ยังเป็นข้อเสนอจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น กระทรวง หรือ ภาคธุรกิจ โดยมองตรงกันว่า จะช่วยให้การทำงานด้านการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจมีความคล่องตัวมากขึ้น สามารถมอบถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาได้อย่างรอบด้านมากขึ้น โดยการประชุมศบศ.นัดแรกในวันที่ 19 ส.ค. นี้ มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ประชุมจะมีการประเมินแนวโน้มของผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ พิจารณาข้อเสนอของกระทรวงต่างๆ รวมถึงภาคธุรกิจ เชื่อว่าจะได้เห็นทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ดียิ่งขึ้นในเวลาอันใกล้นี้
ส่วนการตั้งคณะกรรมการสร้างไทยไปด้วยกันนั้น นายกรัฐมนตรี ต้องการรับฟังข้อเสนอแนะในความต้องการของจังหวัด เพื่อเสนอถึงรัฐบาลโดยตรง โดยให้จังหวัดได้มีการประชุม ระดมความเห็นของทุกภาคส่วน จัดทำเป็นข้อเสนอในระยะเร่งด่วนถึงรัฐบาล โดยมีรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลจังหวัดนั้นๆ คอยติดตาม ช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ ผลัดดันให้การทำงานสัมฤทธิ์ผลโดยเร็ว และยืนยันว่า การทำงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยนั้น ไม่ซ้ำซ้อนกับกลไกรัฐที่มีอยู่ แต่เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: