ไม่พบผลการค้นหา
'พิชัย' ชี้ 'พล.อ.ประยุทธ์' ตั้งคณะทำงานซ้ำซ้อน หวังกลบปมด้อยขาดความรู้เรื่องเศรษฐกิจ ซัดยิ่งสร้างปัญหา พร้อมติงต้องตัดงบทหารก่อนตัดงบคมนาคม แนะลาออกก่อนม็อบลุกลาม

พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองทรุดหนัก การขยายตัวติดลบถึง 12.2% ซ้ำเติมเศรษฐกิจเดิมที่ย่ำแย่อยู่แล้ว โดยแนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาส 3 และ 4 ยังมีทิศทางย่ำแย่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ บริษัท ห้างร้าน ต้องปิดตัวกันอีกมาก คนจะตกงานเพิ่มขึ้น หนี้เสียในระบบธนาคารจะพุ่งขึ้นอีก แต่รัฐบาลยังไม่มีทิศทางชัดเจนจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้เลย หลังจากที่บริหารเศรษฐกิจล้มเหลวมาตลอด 6 ปี จึงเป็นสาเหตุให้นักศึกษา นักเรียน และประชาชนต้องออกมาขับไล่เป็นจำนวนมากในปัจจุบันแม้จะถูกรัฐบาลข่มขู่ เพราะมองไม่เห็นอนาคตของตัวเองและของประเทศ 

พิชัย ระบุว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปรับคณะรัฐมนตรีล่าสุด โดยปรับรื้อทีมเศรษฐกิจที่บริหารกันมา 6 ปี ออกทั้งหมด เท่ากับยอมรับถึงความล้มเหลวที่ผ่านมา แต่การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งใหม่นี้ ไม่เพียงไม่สร้างความมั่นใจ แต่กลับยิ่งสร้างความสับสนมากขึ้น ตั้งแต่การเลื่อนขั้น ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ให้เป็นรองนายกรัฐมนตรีด้วย ทั้งที่ไม่มีผลงานเลย การตั้ง รมว.พลังงาน ควบรองนายกรัฐมนตรี แต่ รมว.คลังกลับไม่ได้ควบ ทั้งที่ กระทรวงการคลังสำคัญกว่ากระทรวงพลังงานมาก แถมยังให้ รองนายกรัฐมนตรี ควบ รมว.พลังงาน มากำกับกระทรวงการคลังอีก ยิ่งสร้างความสับสน เหมือนกับจะขาดความรู้ และขาดความเข้าใจในระบบการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ อีกทั้งการแต่งตั้ง รมต.ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ ที่ทำให้พรรคพลังประชารัฐ ดูด้อยค่าอย่างมาก โดยเฉพาะการตั้ง รมช. แรงงาน ที่ไม่ทันไรทำท่าจะขัดแย้งแย่งซีนกับ รมว.แรงงานแล้ว 

เท่านั้นยังไม่พอ พล.อ.ประยุทธ์ ยังตั้ง ศบค.เศรษฐกิจ และตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ ขึ้นมาโดยให้ ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ที่เพิ่งปฏิเสธการเป็นรัฐมนตรี ในการปรับคณะรัฐมนตรีมาเป็นประธาน โดยมีข้าราชการระดับสูงและปลัดกระทรวงอยู่ในคณะนี้ ยิ่งสร้างความสับสนและซ้ำซ้อนการทำงานให้มากขึ้นไปอีก ซึ่งจะยิ่งเพิ่มขั้นตอนการทำงานและการสั่งการ อีกทั้งทำให้ประชาชนและข้าราชการสับสนว่าหน่วยงานไหนจะมีอำนาจสูงสุดในการสั่งการ และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในกรณีที่เศรษฐกิจล่มสลาย ซึ่งในปัจจุบันทิศทางน่าจะไปในแนวทางนั้น

"เพราะพล.อ.ประยุทธ์ ที่รับเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเอง อาจจะขาดความรู้ความสามารถทางเศรษฐกิจจึงพยายามจะกลบจุดอ่อนปมด้อยของตนเองโดยการตั้งคณะกรรมการหลายชุดขึ้นมาเพราะคิดว่าจะเป็นการทำให้ดูเหมือนฉลาดแต่แท้จริงแล้วยิ่งเป็นการแสดงความไม่รู้ และจะสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นมาก ทั้งนี้ หากพล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจที่เก่งและฉลาดพอ ก็ไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการอะไรมากมาย และสามารถสั่งการได้เองเลย แต่ในอดีตแค่พูดเรื่องเศรษฐกิจต่อสาธารณะ พล.อ.ประยุทธ์ยังพูดผิดพลาดมาโดยตลอด โดยเฉพาะล่าสุดที่พล.อ.ประยุทธ์พูดว่าเศรษฐกิจไทยดีขึ้นมาตลอดตั้งแต่เข้ามา ได้สร้างความขบขันให้กับประชาชนทั้งประเทศ" พิชัย ระบุ

ดังนั้นในปัจจุบันการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล นอกจากจะมีพล.อ.ประยุทธ์ที่ไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจและยอมรับเอง เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจแล้ว ยังมีคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตราการบริหารเศรษฐกิจโดยไพรินทร์ มีรองนายกฯ ควบ รมว.พลังงาน กำกับ กระทรวงการคลัง มี รองนายกฯ ควบ รมว.สาธารณสุข กำกับกระทรวงคมนาคม และ กระทรวงท่องเที่ยวฯ มี รองนายกฯ ควบ รมว.พาณิชย์ กำกับ กระทรวงเกษตรฯ มี รองนายกฯ ดูแลกฎหมาย กำกับกระทรวงอุตสาหกรรม รองนายกฯ ควบ รมว.ต่างประเทศ ติดต่อการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งถ้าเห็นภาพที่สับสนนี้ก็ไม่ต้องสงสัยแล้วว่าทำไมเศรษฐกิจไทยจะไม่ฟื้น และประชาชนจะยิ่งลำบากเพิ่มขึ้นกันขนาดไหน  

นอกจากนี้ หลังจากรับตำแหน่งแล้วยังไม่เห็นทีมเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาลได้แสดงวิสัยทัศน์ว่าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างไร ทั้งที่ควรจะต้องพร้อมและบอกประชาชนได้แล้วตั้งแต่วันแรกในการทำงานเพื่อแสดงการเตรียมพร้อมและสร้างความมั่นใจที่มีอยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว เท่าที่ได้ยินมีแต่คำพูดเพื่อเอาใจ พล.อ.ประยุทธ์เท่านั้น โดยมีการโยนหินถามทางมาจากกระทรวงการคลังที่จะรื้อกฎเกณฑ์การปล่อยกู้ซอฟท์โลนให้กับธุรกิจ SMEs ในวงเงิน 5 แสนล้านบาทใหม่ทั้งหมด ทำให้สงสัยว่า แม้เป็นจะเป็นเรื่องที่ควรจะทำ แต่ รมว.คลัง ที่เป็นนักกฎหมายมาจากธนาคารพาณิชย์น่าจะสับสน เพราะซอฟท์โลนดังกล่าวเป็นส่วนของ ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ใช่เป็นของกระทรวงการคลัง ซึ่งรัฐบาลได้ชี้แจงไว้เองในสภาฯ ตอนอภิปรายงบเงินกู้เพื่อเยียวยาและฟื้นเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด

พิชัย ระบุว่า อยากให้ รมว.คลังคนใหม่ที่เป็นนักกฎหมายได้ตรวจสอบข้อกฎหมายก่อน ก่อนที่จะเสียฟอร์มตั้งแต่เริ่มทำงาน เพราะในกรณีที่มีการรื้อเกณฑ์ในการปล่อยกู้แล้วเกิดหนี้เสียมาก ผู้ที่ต้องรับผิดชอบคือธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ใช่กระทรวงการคลัง ดังนั้นกระทรวงการคลังควรจะต้องหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน 

นอกจากนี้ยังมีแนวคิดที่จะตัดงบกระทรวงคมนาคมลงถึง 30-40% ซึ่งหากพิจารณาแล้วเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องใช้ก็ควรตัด แต่ต้องคำนึงการการพัฒนาประเทศทางด้านคมนาคมซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในอนาคต ซึ่งกระทรวงที่ต้องถูกหั่นงบก่อนกระทรวงอื่นเลยน่าจะเป็นงบกระทรวงกลาโหมและงบประมาณการซื้ออาวุธซึ่งมีความจำเป็นน้อยสุด เพราะไทยคงยังไม่ได้รบกับใคร อีกทั้งระยะหลังกองทัพยังซื้อเครื่องบินรับวีไอพีเป็นเงิน 1,348.5 ล้านบาท เพื่อความสะดวกสบายของวีไอพีกองทัพ ไม่ได้มีเกี่ยวกับการป้องกันประเทศด้วยซ้ำ และยังจะซื้อเครื่องบินลักษณะนี้อีก 3 ลำ มูลค่า 531 ล้านบาทด้วย ดังนั้นหากพิจารณาด้วยใจเป็นธรรม และเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศอย่างแท้จริง จะต้องลดงบกระทรวงกลาโหม โดยเฉพาะการลดงบการจัดซื้ออาวุธลงให้มากที่สุด นอกจากนี้ รัฐบาลต้องตรวจสอบปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นซึ่งล่าสุดคือปัญหา ส.ส. เรียกเงินจากอธิบดีกรมน้ำบาดาลเพื่อให้ผ่านงบประมาณ โดยต้องทำเรื่องนี้ให้ชัดเจนโดยเร็ว 

พิชัย ระบุว่า ในภาวะที่ประเทศกำลังผันผวนทั้งเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่หนัก และยังจะตกต่ำลงไปอีก ปัญหาการเมืองที่หนักหนาสาหัส สืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญที่บิดเบี้ยว การชุมนุมของนักศึกษาและนักเรียนทั่วประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากและจะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ สังคมที่เสื่อมทรามมีการ ปล้น จี้ ขโมย โกง กันแทบทุกวันจากพิษเศรษฐกิจ ระบบยุติธรรมที่เสื่อมทราม ตำรวจที่ไม่ทำหน้าที่ของตัวเองแต่เที่ยวไล่จับนักศึกษาและยังบุกค้นบ้าน ซึ่งหากมาตั้งสติและพิจารณาให้ดีจะพบว่าสาเหตุหลักของปัญหาทั้งหมดนี้ น่าจะเกิดมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ แทบทั้งสิ้น

"เพื่อเป็นการตัดตอนปัญหาไม่ให้ลุกลามต่อไป พล.อ.ประยุทธ์ ควรจะต้องรีบลาออก หรือต้องหาทางให้พล.อ.ประยุทธ์ออกไป เพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้ลุกลามไปมากกว่านี้ ซึ่งเชื่อว่าหากพล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เป็นผู้นำประเทศนี้แล้ว ปัญหาต่างๆจะเบาบางลง และประเทศไทยจะสามารถหาทางออกที่เหมาะสมร่วมกันได้" พิชัย กล่าว