นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในปี 2562 ล่าสุดกรมควบคุมโรคได้รับรายงานพบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า 1 ราย เป็นเพศชาย อายุ 32 ปี ที่จังหวัดสุรินทร์ โดยก่อนเสียชีวิตได้เข้ารับการรักษาด้วยอาการมีไข้สูง สับสน และกลืนลำบาก
ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่าติดเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า ผู้เสียชีวิตมีประวัติถูกสุนัขจรจัดกัด ในช่วงเดือน พ.ย. 2561 แต่ไม่ได้พบแพทย์เพื่อรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งผู้เสียชีวิตรายดังกล่าวถือเป็นผู้เสียชีวิตรายแรกของปี 2562
อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์โรงพยาบาลศิริราช ระบุว่า หลังได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว ผู้ป่วยจะแสดงอาการโดยเฉลี่ยประมาณ 3 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน แต่ในบางรายจะใช้เวลานานหลายปีกว่าจะมีอาการ ซึ่งขึ้นกับตำแหน่งที่ถูกกัด ขนาด จำนวนและความลึกของบาดแผลรวมถึงภูมิต้านทานของคนที่ถูกสัตว์กัด
ดังนั้น กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำว่าหากถูกสุนัข แมวกัด ข่วน หรือเลียบาดแผล แม้เพียงเล็กน้อย อย่าชะล่าใจ ควรรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันทีหลายๆ ครั้ง นานประมาณ 10 นาที และใส่ยาเบตาดีน เพื่อลดการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จากนั้นรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อวินิจฉัยและรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หากฉีดวัคซีนแล้วควรไปตามนัดทุกครั้ง
นอกจากนี้ ควรสังเกตสุนัขว่ามีอาการผิดปกติหรือตายใน 10 วันหรือไม่ ภายหลังสุนัขตัวนั้นไปกัดข่วนคน ต้องรีบไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
ทั้งนี้ ขอให้ยึดหลัก "คาถา 5 ย." เพื่อลดความเสี่ยงการรับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ดังนี้
1.อย่าแหย่ ให้สัตว์โมโหเพราะอาจโดนข่วนหรือกัดได้
2.อย่าเหยียบ บริเวณลำตัว ขา หรือหางของสัตว์
3.อย่าแยก สัตว์ที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า
4.อย่าหยิบ จานข้าวหรืออาหารขณะสัตว์กำลังกิน
5.อย่ายุ่ง กับสัตว์ที่ไม่รู้จักคุ้นเคย เพื่อลดความเสี่ยงการรับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า
ทั้งนี้ ต้องนำสุนัขและแมวไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี โดยขณะนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำลังเร่งรัดรณรงค์ฉีดวัคซีนให้กับสุนัขและแมวฟรี ตั้งแต่เดือน มี.ค. - มิ.ย.นี้
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า หากเคยถูกสัตว์กัดหรือข่วนนานแล้ว แม้ว่ารอยแผลจะเพียงเล็กน้อยก็ตาม แล้วไม่ได้ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ขอให้ไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัย เนื่องจากระยะฟักตัวของโรค ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนมีอาการป่วยอาจสั้นมากตั้งแต่ 1 สัปดาห์หรืออาจนานถึง 1 ปี
ทั้งนี้ เมื่อปี 2561 จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าทั้งสิ้น 17 ราย ใน 14 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ (2 ราย) , ระยอง (2 ราย) , สงขลา (2 ราย), สุรินทร์ (1 ราย), ตรัง (1 ราย), นครราชสีมา (1 ราย), ประจวบคีรีขันธ์ (1 ราย), พัทลุง (1 ราย), หนองคาย (1 ราย), ยโสธร (1 ราย), กาฬสินธุ์ (1 ราย), มุกดาหาร (1 ราย), ตาก (1 ราย) และ สุราษฏร์ธานี (1 ราย)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :