ไม่พบผลการค้นหา
กรมควบคุมโรค เผยพบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าอีก 1 ราย เป็นชาวจังหวัดสงขลา ถูกสุนัขกัด แต่ไม่มีประวัติรับวัคซีนป้องกันโรค พร้อมแนะประชาชนให้ยึดหลัก "คาถา 5 ย." ลดความเสี่ยงการรับเชื้อ

นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในปี 2561 ล่าสุด กรมควบคุมโรคได้รับรายงานในสัปดาห์นี้พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มอีก 1 ราย เป็นเพศชาย อายุ 65 ปี ที่จังหวัดสงขลา โดยก่อนเสียชีวิตได้เข้ารับการรักษาด้วยอาการแน่นหน้าอก กลืนลำบาก ผู้เสียชีวิตมีประวัติเลี้ยงสุนัขที่บ้านประมาณ 80 ตัว ช่วงเดือน ม.ค. 2561 โดนสุนัขไม่ทราบชนิดและที่อยู่ กัดบริเวณข้อมือด้านซ้าย และไม่มีประวัติได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

หลังจากได้รับรายงานดังกล่าวทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) จากสำนักงานป้องกันควบคุมโรค ที่ 12 จังหวัดสงขลา ได้ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ สอบสวนควบคุมโรคและค้นหากลุ่มเสี่ยงเพื่อรับวัคซีนโดยเร็ว โดยขณะนี้เมื่อรวมกับรายล่าสุดแล้ว ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าในปี 2561 รวมเป็น 17 ราย ใน 14 จังหวัด (จากบุรีรัมย์ ระยอง และสงขลา จังหวัดละ 2 ราย สุรินทร์ ตรัง นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง หนองคาย ยโสธร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ตาก และสุราษฎร์ธานี จังหวัดละ 1 ราย)

นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวต่อไปว่า หากถูกสุนัข-แมวกัด ข่วน หรือเลียบาดแผล แม้เพียงเล็กน้อย อย่าชะล่าใจ ควรรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันที หลายๆ ครั้ง นานประมาณ 10 นาที และใส่ยาเบตาดีน เพื่อลดการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จากนั้นรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อวินิจฉัยและรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หากฉีดวัคซีนแล้วควรไปตามนัดทุกครั้ง

นอกจากนี้ ควรสังเกตสุนัขว่ามีอาการผิดปกติหรือตายใน 10 วันหรือไม่ ภายหลังสุนัขตัวนั้นไปกัดข่วนคน ต้องรีบไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งนี้ ขอให้ยึดหลัก “คาถา 5 ย.” เพื่อลดความเสี่ยงการรับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ดังนี้ 

1.อย่าแหย่ ให้สัตว์โมโหเพราะอาจโดนข่วนหรือกัดได้ 

2.อย่าเหยียบ บริเวณลำตัว ขา หรือหางของสัตว์ 

3.อย่าแยก สัตว์ที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า 

4.อย่าหยิบ จานข้าวหรืออาหารขณะสัตว์กำลังกิน 

5.อย่ายุ่ง กับสัตว์ที่ไม่รู้จักคุ้นเคย

ทั้งนี้ ขอแนะนำประชาชนโดยเฉพาะเจ้าของสัตว์เลี้ยงว่า หากสัตว์เลี้ยงได้รับการขึ้นทะเบียนกับปศุสัตว์จังหวัดอย่างถูกต้อง จะช่วยทำให้ทราบจำนวน ทำให้การดูแลสุนัข-แมวดีขึ้น และลดความเสี่ยงผู้เลี้ยงได้ รวมถึงการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าก็สามารถทำได้ตามที่มีอยู่จริงและได้ครบทุกตัว 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: