ไม่พบผลการค้นหา
กรมควบคุมโรค ติดตามสถานการณ์โรคหัดในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด พร้อมรณรงค์ให้ประชาชนไปรับวัคซีนป้องกันโรคหัดตามกำหนด หากมีอาการไข้สูง 3-4 วัน มีผื่นนูนแดงขึ้น ที่ใบหน้าแล้วแผ่กระจายไปตามลำตัว แขน ขา ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาทันที

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีมีรายงานข่าวการระบาดของโรคหัดที่ประเทศสหรัฐอเมริกา นั้น จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ขณะนี้มีรายงานผู้ป่วยโรคหัดในประเทสหรัฐอเมริกาแล้วกว่า 1,000 ราย  

สำหรับสถานการณ์โรคหัดในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2559 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน พบการระบาดของโรคเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2560 พบผู้ป่วยจำนวน 1,449 ราย ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นกว่าปีก่อนหน้าถึง 2 เท่า และในปี 2561 พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 3,626 ราย และมีผู้ป่วยเสียชีวิตจำนวน 23 ราย

สำหรับปี 2562 จากข้อมูลเฝ้าระวังโรคตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 7 มิ.ย. 2562 มีรายงานผู้ป่วยยืนยันโรคหัด 1,801 ราย เสียชีวิต 12 ราย ซึ่งในขณะนี้ กรมควบคุมโรค ได้ติดตามสถานการณ์ของโรคหัดทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด และทำการประเมินความเสี่ยงเพื่อกำหนดและดำเนินมาตรการที่เหมาะสมต่อไป

โรคหัดเกิดจากเชื้อไวรัส Measles ซึ่งเป็นไวรัสที่พบได้บ่อยในจมูกและลำคอผู้ป่วย อาการที่พบบ่อยของโรคหัด คือ ไข้ออกผื่น โดยมักมีอาการไข้สูงประมาณ 3-4 วัน แล้วเริ่มมีผื่นนูนแดงขึ้น โดยผื่นเริ่มขึ้นจากหลังหูแล้วลามไปยังใบหน้าบริเวณชิดขอบผม แล้วแผ่กระจายไปตามลำตัว แขน ขา เมื่อผื่นแพร่กระจายทั่วตัว ประมาณ 2-3 วัน ไข้จะค่อยๆ ลดลง และผื่นก็จะค่อยๆ จางหายไป ผิวหนังบริเวณที่เป็นผื่นมากอาจจะลอกเป็นขุยหรือเปลี่ยนเป็นสีคล้ำขึ้นได้

ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ คือ คออักเสบ หลอดลมอักเสบจนถึงปอดบวม หูชั้นกลางอักเสบ เยื่อบุตาอักเสบ ท้องเสีย และสมองอักเสบซึ่งเป็นภาวะที่รุนแรงที่สุด หากป่วยด้วยโรคหัดหรือสงสัยว่าเป็นโรคหัดควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย เก็บตัวอย่างเลือดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการและรับการรักษา

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรค โดยกองโรคป้องกันด้วยวัคซีน ได้กำหนดรณรงค์ให้วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR) ในเด็กอายุ 1-7 ปี โดยกลุ่มที่ 1 ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 1, 2 และ 5 ในช่วงเดือน ก.ย. - ต.ค. 2562 กลุ่มที่ 2 พื้นที่เขตสุขภาพที่ 3, 4, 6, 7, 8, 9, 10, 11, 12 และกรุงเทพมหานคร ในช่วงเดือน ม.ค. - มี.ค. 2563 และการรณรงค์ให้วัคซีนป้องกันโรคหัด-หัดเยอรมัน (MR) 

ในเด็กอายุ 7-12 ปี ทั้งเด็กไทยและเด็กต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ โดยให้วัคซีนพร้อมกันทุกจังหวัด ในช่วงเดือน ต.ค. - ธ.ค. 2562 โดยสามารถพาบุตรหลานของท่านที่ได้รับวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน ไม่ครบตามเกณฑ์ ไปรับวัคซีนได้ที่หน่วยบริการสาธารณสุขใกล้บ้านท่านในช่วงเดือนที่มีการรณรงค์

โรคหัดสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ซึ่งวัคซีนป้องกันโรคหัดมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้มากกว่าร้อยละ 95 ตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข จะฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมันจำนวน 2 เข็ม เข็มแรกเมื่อเด็ก อายุ 9 เดือน และเข็มที่สองเมื่ออายุ 2 ปีครึ่ง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโรคหัดจะมีอัตราการป่วยตายต่ำในเด็กทั่วไปที่มีสุขภาพแข็งแรง แต่ยังคงมีความเสี่ยงในเด็กเล็ก และเด็กที่มีภาวะขาดสารอาหารหรือเด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการ