ไม่พบผลการค้นหา
รมต.กระทรวงพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ฯ ของอินโดนีเซีย เสนอแนวทางแก้ปัญหาความยากจน หนุนให้คนรวยแต่งงานกับคนจนเพื่อยกระดับทางเศรษฐกิจ ขณะที่องค์กรศาสนาอิสลาม 'เห็นด้วย'

มูฮัดจีร์ เอฟเฟนดี รัฐมนตรีประสานงานกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และวัฒนธรรมแห่งอินโดนีเซีย กล่าวปาฐกถาในงานประชุมระดับชาติด้านสาธารณสุขเมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า การแก้ปัญหาความยากจนในประเทศสามารถกระทำได้ด้วยการเปลี่ยนมุมมองใหม่ พร้อมยกตัวอย่างคำสอนในศาสนาอิสลามที่ระบุว่า การแต่งงานควรเกิดขึ้นจากคู่ที่เหมาะสมกัน แต่อาจจะต้องตีความเรื่องความเหมาะสมเสียใหม่ 

รมต.มูฮัดจีร์ เสนอความเห็นว่า คู่แต่งงานที่เหมาะสมคือ 'คนรวย' กับ 'คนจน' เพราะคนรวยจะช่วยยกระดับฐานะคู่แต่งงานที่เป็นคนยากจนได้ แต่ถ้าคนจนแต่งงานกับคนจน ก็จะยิ่งทำให้ยากจนยิ่งกว่าเดิมทั้งสองฝ่าย และเป็นการขยายจำนวนครอบครัวที่ยากจนในอินโดนีเซียต่อไปเรื่อยๆ 

ทั้งนี้ ประชากรที่มีฐานะยากจนในอินโดนีเซียมีจำนวนประมาณ 5 ล้านครัวเรือน คิดเป็น 9.4 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร 57.1 ล้านครัวเรือน ส่วนประชากรที่มีฐานะปานกลาง คิดเป็น 45 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด คิดเป็น 115 ล้านคน 

ส่วนสภาอูลามะแห่งอินโดนีเซีย หรือ MUI องค์กรศาสนาอิสลามขนาดใหญ่ระดับประเทศ สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวของ รมต.มูฮัดจีร์ โดยระบุว่า ผู้หญิงยากจน รวมถึงแม่ม่ายที่สามีเสียชีวิต ต้องเผชิญความยากลำบากในชีวิตประจำวัน ถ้าหากผู้ชายที่ฐานะร่ำรวยและผู้หญิงฐานะยากชอบพอกันจนถึงขั้นแต่งงานได้ก็ถือเป็นเรื่องดี เพราะจะได้มีการยกระดับฐานะ ลดจำนวนประชากรที่ยากจนลงได้ และคนรวยไม่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนรวยด้วยกันอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม ยังไม่อาจระบุได้ว่าสภาอูลามะจะวินิจฉัยชี้ขาด หรือ 'ฟัตวา' เป็นแนวทางปฏิบัติตัวของผู้นับถือศาสนาอิสลามหรือไม่ เพราะการกำหนดฟัตวาเรื่องใดก็ตาม จะต้องผ่านการพิจารณาและลงมติเห็นชอบจากคณะกรรมาธิการศาสนาอิสลามระดับประเทศเสียก่อน

Photo by Ramiz Dedaković on Unsplash

ที่มา: Channel News Asia/ Jakarta Post