ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลจีนประกาศนโยบายแก้ปัญหาชาวจีนรุ่นใหม่นิยมจัดงานแต่งหรูหราฟุ่มเฟือย ขัดหลักการพรรคคอมมิวนิสต์ กระตุ้นแนวคิดวัตถุนิยม ทำให้เกิดหนี้สินและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจตามมา

กระทรวงกิจการพลเรือนของจีนออกคำสั่งให้หน่วยงานท้องถิ่นทั่วประเทศหาทางกำกับดูแลและปรับเปลี่ยนค่านิยมการจัดการแต่งงานในสังคมจีนยุคใหม่ หลังจากคู่บ่าวสาวจำนวนมากนิยมจัดพิธีเฉลิมฉลองอย่างหรูหรา รวมถึงมีการเรียกค่าสินสอดเจ้าสาวเป็นทรัพย์สินเงินทองจำนวนมาก ขัดแย้งกับหลักการของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ระบุว่ายึดมั่นในความสมถะเรียบง่ายและเท่าเทียมกันของคนในสังคม

เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษ รายงานอ้างอิงการประชุมเพื่อปฏิรูปการแต่งงานซึ่งจัดขึ้นที่ชานตงเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมา ระบุว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการส่งเสริมค่านิยมของพรรคคอมมิวนิสต์ต้องรณรงค์ให้ความรู้แก่ชาวจีนยุคใหม่ไม่ให้ยึดติดกับแนวคิดวัตถุนิยม

เจ้าหน้าที่ผู้เข้าร่วมประชุมระบุว่า ค่านิยมงานแต่งงานหรูหราคือการบูชาทรัพย์สินเงินทอง เห็นได้จากการแจกของขวัญราคาแพงในงานแต่งงาน หรือการทุ่มเงินจัดงานเลี้ยงอย่างยิ่งใหญ่เพื่อเชิญแขกเป็นจำนวนมากเพื่อเป็นหน้าตาแก่ครอบครัวบ่าวสาว ยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และหลายครอบครัวประสบภาวะหนี้สินในเวลาต่อมา

สถานีโทรทัศน์ CCTV ของจีนรายงานด้วยว่า ค่านิยมเรื่องการจัดงานแต่งหรูหรามีสถิติสูงขึ้นเรื่อยๆ ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา เช่นเดียวกับค่าสินสอดที่ครอบครัวเจ้าสาวเรียกจากฝ่ายเจ้าบ่าว โดยสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เจ้าสาวสามารถเรียกร้องสินสอดจำนวนมาก เป็นเพราะสัดส่วนประชากรชายในประเทศจีนมีมากกว่าประชากรหญิงประมาณ 30 ล้านคน เนื่องจากจีนบังคับใช้นโยบายลูกคนเดียวมานานหลายสิบปี เพื่อควบคุมจำนวนประชากร ทำให้ครอบครัวชาวจีนส่วนใหญ่เลือกที่จะมีลูกชายแทนลูกสาว เพราะต้องการผู้สืบทอดสกุลตามความเชื่อเก่าแก่ของจีนที่ให้ความสำคัญกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

ซีซีทีวีรายงานด้วยว่า พิธีแต่งงานของบ่าวสาวคู่หนึ่งในมณฑลชานตงเมื่อปี 2559 กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วประเทศ เพราะครอบครัวเจ้าสาวเรียกร้องสินสอดเป็นตุ้มหูทองคำ สร้อยคอทองคำ บ้าน รถยนต์ และเงินสดอีก 150,050 หยวน (ประมาณ 709,000 บาท) ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นในหลายพื้นที่เริ่มออกคำสั่งห้ามประชาชนจัดพิธีแต่งงานที่เข้าข่ายฟุ่มเฟือยบูชาวัตถุ 

โดยที่เมืองต้าอันหลิว มณฑลหูเป่ย เจ้าหน้าที่มีคำสั่งห้ามครอบครัวเจ้าสาวเรียกเงินสินสอดจากฝ่ายเจ้าบ่าวเกิน 20,000 หยวน หลังจากที่เคยมีการเรียกเงินค่าสินสอดให้แก่เจ้าสาวที่อาศัยอยู่ในเมืองดังกล่าวสูงถึง 200,000 หยวน ในขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของประชากรในเมืองอยู่ที่ 20,000 หยวนต่อปีเท่านั้น หากพบว่าครอบครัวเจ้าสาวเรียกร้องสินสอดสูงกว่านั้นอาจถูกตั้งข้อหา 'ค้ามนุษย์'

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ สื่อของฮ่องกง รายงานว่าการปรับเปลี่ยนทัศนคติของประชากรจีนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในยุคที่จีนเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจและสังคมต่างจากยุคหลังปฏิวัติการปกครองจีน และก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนมีคำสั่งปฏิรูปพิธีศพไม่ให้มีการจัดงานฟุ่มเฟือย แต่ก็ยังทำได้ไม่สำเร็จ

ภาพ: Anthony Tran on Unsplash

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: