ไม่พบผลการค้นหา
นับจากรัฐไทยเลือกใช้หลัก 'สันติวิธี'ตามวิถีทางสากล เพื่อแก้ไขปัญหาไฟใต้ ที่ยืดเยื้อเรื้อรังนานเกิน 1 ทศวรรษ ด้วยการพูดคุยสันติภาพ ที่มีการเซ็นเอ็มโอยูครั้งแรกในปี 2556 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย จนมีพัฒนาการยกระดับให้เป็น 'วาระแห่งชาติ' ในเวลาต่อมา

ล่าสุด วันที่ 17 เมษายน 2561 การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เดินมาถึง “จังหวะก้าว” ที่สำคัญอีกขั้น เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกฯ เปิดเผยด้วยตนเองว่า เตรียมประกาศให้ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส นำร่องเป็น “พื้นที่ปลอดภัย (Safety Zone)”

หวังสร้าง 'ความไว้เนื้อเชื่อใจ' ระหว่าง รัฐไทย ในฐานะปาร์ตี้เอ กับ กลุ่มมาราปาตานี ปาร์ตี้บี ให้เกิดขึ้นได้ โดยมี มาเลเซีย อยู่ในฐานะผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) ตามกรอบการพูดคุยสันติสุข (PeaceTalk)   

เช่นเดียวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม ก็ออกโรงยืนยันภายหลังการประชุม คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือคปต.ว่า อำเภอเจาะไอร้องมีความพร้อม แต่ภาครัฐยังต้องเน้นสร้างความเข้าใจ ต่อคนในพื้นที่มากขึ้น   

ตลอด 5 ปี ที่รัฐบาลทหารซอยเท้า กว่าจะหน้าเดินมาถึงจุดนี้ ก็ต้องผ่านหนทางอันขรุขระชนิดต้องลุ้นกันจนหวาดเสียวว่า การพูดคุยสันติสุข จะสะดุดหรือไม่

โดยเฉพาะช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา สุกรี ฮารี หัวหน้าทีมฝั่ง 'มาราปาตานี' ถึงกับต้องออกมาตั้งแถลง แสดงถึงความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ ต่อบทบาทของฝ่ายรัฐไทย ที่เสมือนดูแบ่งบทกันเล่น

ระหว่าง 'ฝ่ายนโยบาย' นำโดย พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะ พูดคุยสันติสุข กับ 'ฝ่ายปฏิบัติ' ในพื้นที่ อย่าง พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ที่ให้ข่าวสวนทางกัน ในเรื่องการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งรายหลังชิงประกาศพื้นที่ปลอดภัยด้วยตนเองว่า มี 14 เขต จน สุกรี เห็นว่า นี่คือ ความระส่ำระสาย ในพื้นที่

ร้อนจนถึง พล.อ.ประยุทธ์ ต้องมาทำหน้าที่ 'กาวใจ' ประสานทัศนคติ เพื่อให้หนทางดับไฟใต้ยังคงมุ่งหน้าต่อไป ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นผู้ออกมาเปิดเผย อำเภอนำร่อง พื้นที่ปลอดภัย ด้วยตนเอง แทนที่จะเป็น พล.อ.อักษรา ในฐานะหัวหน้าทีมพูดคุย

ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ตรงนี้เองเป็นสิ่งที่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการ สมช. ในฐานะที่เริ่ม 'คิกออฟ' การพูดคุย กับ ฮัสซัน ตอยิบ ผู้นำจิตวิญญาณกลุ่มบีอาร์เอ็น ตั้งข้อสังเกตถึงการที่นายกฯ ต้องออกมาสื่อสารด้วยตนเอง ทั้งยังเสนอแนะว่า ในเรื่องการให้ข่าวสารต่อสาธารณะ ระหว่างฝ่ายนโยบายและฝ่ายปฏิบัติ ในวันข้างหน้าต้องมีความชัดเจน เพื่อสะท้อนถึง 'ความจริงใจ' และ 'ลดความหวาดระแวง' กับฝ่ายเห็นต่าง        

ส่วนการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยนั้น พล.ท.ภราดร มองว่า จะเป็นการช่วยให้พิสูจน์ทราบของคู่พูดคุย เพื่อลดข้อครหาที่ยังสงสัยกันเรื่องตัวจริงหรือตัวปลอม ที่มีผลต่อศักยภาพการก่อความรุนแรงในพื้นที่ ซึ่งต้องใช้เวลาในการชี้วัดและประเมินผล

หากเหตุความรุนแรงลดลงก็จะยิ่งส่งผลต่อความไว้เนื้อเชื่อใจกัน แต่ขณะเดียวกัน หากยังมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น ก็ยังไม่ได้หมายความทั้งหมดว่า ตัวแทนแต่ละกลุ่มผู้เห็นต่าง ซึ่งมีความหลากหลาย แยกย่อย ที่เข้ามาร่วมกับมาราปาตานี ในการพูดคุย ไม่มีอำนาจในปีกกองกำลัง”ที่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้จริง

เนื่องจากขบวนการของกลุ่มเหล่านี้ โดยเฉพาะ บีอาร์เอ็น มีลักษณะ 'ปิดลับ' มาก จนบางทีไม่รู้ใครเป็นใคร ก็อาจทำให้การสื่อสารจากระดับแกนนำ ไปจนถึง 'เซลล์ (Cell)' ในระดับปฏิบัติการยังต้องใช้เวลา

นอกจากนี้ อดีตเลขาฯ สมช. ยังเน้นย้ำว่า หัวใจสำคัญอีกอย่างหนึ่งต่อการดับไฟใต้คือ การมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ ที่จะช่วยเป็นตัวเร่งให้สถานการณ์คลี่คลายได้ดีมากขึ้น

เพราะไฟใต้ ไม่ใช่แค่เรื่องศาสนา แต่ยังรวมถึง เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ที่สะท้อน 'อัตลักษณ์' ของคนในพื้นที่ ที่ต้องการใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ที่ต้องวางอยู่บนความยุติธรรมและความเท่าเทียม


ด้าน ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มองว่า เมื่อ สร.1 ในฐานะหัวหน้าทีมพูดคุยชุดใหญ่ เปิดเผยเองแบบนี้ ก็น่าจะมีการอนุมัติให้เจาะไอร้อง เป็นพื้นที่ปลอดภัยนำร่อง แต่เพื่อความชัดเจนก็ต้องรอมาราปาตานีปาร์ตี้บีและมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวก ยืนยันด้วย ซึ่งเชื่อว่า อย่างช้าที่สุดก็ไม่น่าเกินเดือน พ.ค. นี้

ศรีสมภพ วิเคราะห์ว่า 5 ปีที่ผ่านมา เจาะไอร้อง ไม่ถือว่า มีความรุนแรนสูงเหมือนช่วงแรกๆ ระดับความรุนแรงจะอยู่ในระดับกลางค่อนไปทางต่ำ จึงเชื่อว่า นี่เป็นเหตุผลที่ถูกเลือก เนื่องจากน่าจะสามารถคุมพื้นที่ได้มากกว่าพื้นที่มีความร้อนแรงสูงอย่างใน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี หรือ อ.บันนังสตา จ.ยะลา จนควบคุมไม่ได้      


ไฟใต้ นราธิวาส _Del6135947.jpg

สำหรับท่าที่สวนทางกันระหว่างฝ่ายนโยบายกับฝ่ายปฏิบัติ เขาเชื่อว่า เมื่อนายกฯ ออกโรงปรามด้วยตนเองแล้ว ก็ย่อมมีการสั่งการให้ กองทัพภาค 4 ปรับเปลี่ยนบทบาทของตนเองให้ผ่อนลง

ส่วนตัวชี้วัดเพื่อประเมินผลเซฟตี้โซนนั้น เป็นหน้าที่ของคณะเทคนิคชุดเล็ก ที่จะกำหนดรายละเอียด แต่ยังไม่มีการเปิดเผย แต่ก็เป็นเรื่องน่ายินดีที่จะมีผู้แทนภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมสังเกตการณ์และประเมินผลด้วย (Joint Action Committee: JAC)     

"การเลือก อ.เจาะไอร้องถือว่าโอเค และน่าสนใจ ตรงที่ ที่นี่คือจุดเริ่มต้นของความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ จากการปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ซึ่งในอดีตที่นี่จะมีกลุ่มขบวนการอยู่เยอะและหนาแน่นมาก จึงเชื่อว่า พื้นที่นี้น่าจะใช้เป็นที่ตรวจสอบความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันได้"  นักวิชาการผู้คลุกคลีกับปัญหาไฟใต้ ทิ้งท้าย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง