'เครือข่ายเฉพาะกิจเพื่อปกป้องพลเรือนและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น' เป็นการรวมตัวของกลุ่มประชาชน และองค์กรภาคประชาสังคมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งได้รวมตัวกันออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 2 มี.ค. เรียกร้องให้ทางกองทัพภาคที่ 4 ทบทวนการปฏิบัติการณ์ทางทหารในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งพบว่ามีการกระทำที่เข้าข่ายการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง
หลังจากออกแถลงการณ์เพียงข้ามวัน พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ออกมาให้ข่าวตอบโต้ว่าข้อเรียกร้องของเครือข่ายเป็น 'แถลงการณ์ลวงโลก' พร้อมร้องเรียกให้องค์กรเครือข่ายดังกล่าว "ยุติหลอกลวงประชาชน" โดยระบุว่าเป็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มที่แอบอ้างว่าเป็น 'นักปกป้องสิทธิมนุษยชน' ที่คอยเคลื่อนไหวบิดเบือนข้อเท็จจริงและทำลายความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการละเมิดสิทธิและการซ้อมทรมาน
ท่าทีดังกล่าวของ โฆษก กอ.รมน. ทำให้มีการล่ารายชื่อรอบใหม่เพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องให้ยุติการคุกคามและเปิดพื้นที่ทางความคิดในจังหวัดชายแดนใต้ ของเครือข่ายเฉพาะกิจเพื่อปกป้องพลเรือนและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ล่าสุดมีผู้ลงนามผ่านเฟซบุ๊กแล้ว 123 คน และจะสิ้นสุดการลงชื่อวันที่ 9 มีนาคม 2561
นายรอมฎอน ปันจอร์ ตัวแทนเครือข่ายฯ เล่าถึงการร่วมกันออกแถลงการณ์ครั้งนี้กับวอยซ์ ออนไลน์ ว่า เกิดจากการพูดคุยของหลายเครือข่าย ทั้งภาคประชาชนสังคม รวมถึงกลุ่มเยาวชน ที่มีความกังวลกับสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และเป็นความรู้สึกที่สะสมมานาน แม้ว่าจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองต่างขั้ว หรือเคลื่อนไหวในประเด็นต่างกัน
'เสียงสะท้อนที่แตกต่าง'
เรื่องที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยในวงประชุมกันคือผลกระทบต่อเด็กและผู้หญิง เรื่องการดำเนินคดีต่อประชาชน และการกดดันปิดล้อมตรวจค้นภายในหมู่บ้าน ล้วนดังขึ้นมาจากประชาชนในพื้นที่ทั้งชาวไทยพุทธและชาวไทยมลายู ที่รู้สึกเหนื่อยหน่ายกับความรุนแรงและการบังคับใช้กฎหมายจากทั้งกลุ่มก่อความไม่สงบและภาครัฐ จึงอยากส่งเสียงว่า 'พอได้แล้ว' ด้วยการให้พื้นที่ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น และการตรวจสอบภาครัฐควรถูกเปิด ขณะเดียวกันยังเป็นการส่งเสียงไปยังฝ่ายก่อความไม่สงบ ขอให้ยุติการโจมตีพลเรือน ถ้ายังมีการโจมอยู่เสียงประชาชนก็จะถูกกดทับอยู่แบบนี้
"ที่น่าสนใจคือเราพบว��าความรู้สึกอึดอัดนี้ มีทั้งคนที่เป็นเชื้อสายมลายูและไทยพุทธ ความรู้สึกของพวกเขาคือความรุนแรงของทั้งสองฝ่ายมันจะหนักเกินไปแล้ว การกดดันพื้นที่และการปฏิบัติทางทหารหรือแม้กระทั่งการบังคับใช้กฎหมายของทั้งสองฝ่าย ก็เป็นการบังคับกดดันชาวบ้านมากเกินไป"
อย่างไรก็ดี การรวมตัวครั้งนี้ถือเป็นครั้งใหญ่ที่สุดของการรวมกลุ่มจากเครือข่ายต่างๆ ที่มองเห็นพ้องร่วมกัน และขอยืนยันว่ามีเจตนาที่อยากให้ความขัดแย้งครั้งนี้คลี่คลาย และอยากให้เห็น 'หัว' ประชาชนที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งนั่นคือจุดประสงค์หลักของการออกแถลงการณ์ครั้งนี้
'โครงการพาคนกลับบ้าน' สร้างความกังขาในพื้นที่
แม้ว่าจะมีการออกโครงการต่างๆ ของภาครัฐ 'รอมฎอน' ระบุว่า โดยส่วนตัวมีข้อสังเกตจากการพูดคุยกันระหว่างกลุ่มเครือข่ายต่างๆ ที่ชาวไทยพุทธจำนวนหนึ่งมีความกังขาและไม่พอใจโดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบ อีกทั้งการสื่อสารโดยภาครัฐนำเสนอว่าเป็นการช่วยเหลือ ทำให้มีการตั้งคำถามว่าโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ถูกต้องหรือไม่
ขณะที่เสียงของชาวไทยมลายูบางส่วน มักจะมีเรื่องเล่าว่าโครงการนี้ใช้เวลารวบรัด และมีแนวโน้มในการกดดัน ซึ่งมิใช่วิธีการที่ถูกต้องนัก และไม่แน่ใจว่าภาครัฐได้ยินเสียงเหล่านี้บ้างหรือไม่ ถ้าไม่มีการเปิดพื้นที่อาจทำให้ 'เสียงที่แตกต่าง' ถูกกดทับไว้และชาวบ้านไม่กล้าพูด รัฐควรมีการเปิดพื้นที่ถกเถียงอภิปรายต่อสิ่งที่ปรากฎขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเสียงที่มาจากคนไทยพุทธหรือไทยมุสลิม
'ความอึดอัด' ไม่ใช่แค่ในพื้นที่ชายแดนใต้
เมื่อปัจจุบันพื้นที่ทางความคิดยังไม่ถูกเปิด การลงชื่อสนับสนุนเพื่อเรียกร้องจึงปรากฎบนพื้นที่โลกออนไลน์ โดย 'รอมฎอน' ได้ประกาศผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเพื่อล่ารายชื่อผู้สนับสนุน พบว่า 'ความอึดอัด' มิได้เกิดขึ้นแค่ในพื้นที่ชายแดนใต้ พิสูจน์จากรายนามที่ใช้ลงชื่อพบว่ามีคนนอกพื้นที่ที่สนใจปัญหานี้ และสะท้อนว่าข้อเรียกร้องของทางเครือข่ายมีน้ำหนักและเหตุผล ไม่ได้มีประสงค์ร้ายต่อทางเจ้าหน้าที่
ซึ่งที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 14 ปี มีการทำวิจัยมีการเสนอนโยบายที่มากกว่าการแบ่งแยกดินแดนหรือปลดปล่อย 'ปาตานี' ให้มีเอกราช ในทางกลับกันรัฐไทยไม่ได้เปิดกว้างให้มีการอภิปรายนำเสนอทางเลือก อย่างไรก็ตาม หากมีการจัดเลือกตั้ง และมีการชูนโยบายต่างๆ ให้มีการแข่งขันคาดว่าจะเห็นข้อเสนอเหล่านี้มากขึ้น
" 14 ปีที่ผ่านมา มีงานวิจัยมีข้อเรียกร้อง และเสนอนโยบาย ที่ไม่จำเป็นต้องแบ่งแยกดินแดนหรือปลดปล่อยปาตานีเป็นเอกราช แต่ปัญหาก็คือรัฐไทยไม่ค่อยเปิดกว้างให้คนถกเถียงอภิปรายเรื่องแบบนี้ มันก็ทำให้เราไม่ได้ยิน จริงๆ แล้วชีวิตมีทางเลือกของผู้คนมากว่าสองทาง"
รัฐไม่กั้นหากยึดหลักประชาธิปไตย
ฟาก 'พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์' ให้ความเห็นกับ วอยซ์ ออนไลน์ ในฐานะของหน่วยงานจากภาครัฐที่รับผิดชอบเรื่องความมั่นคงในพื้นที่ โดยระบุว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ไม่ได้คุกคาม แต่เป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเข้าไปคุกคามประชาชนในพื้นที่ ส่วนการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เป็นเพียงการบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มคนในคราบของเอ็นจีโอ มักจะออกมาบิดเบือนทุกครั้งที่มีการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ก่อเหตุ และกล่าวหาเจ้าหน้าที่ว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน
ในส่วนการเปิดพื้นที่ทางการเมือง ปกติก็ไม่ได้มีการปิดกั้นอยู่แล้ว นอกจากเป็นการแสดงออกนัยยะแอบแฝง เพื่อออกมาเรียกร้องเอกราชเราก็ไม่ยอม หากเป็นพื้นที่การเมืองตามระบอบประชาธิปไตยเราไม่มีปัญหาอะไรอยู่แล้ว
อ่านเพิ่มเติม: