ไม่พบผลการค้นหา
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เตือน คสช.ถึงแรงกดดันภายในที่เพิ่มมากขึ้นชี้จะทำให้มีปัญหาเสถียรภาพ เพราะการที่ไม่สามารถแสดงออกทางการเมือง แถมยังมีปัญหาเศรษฐกิจ ระบุตัวเลขจีดีพีสูงไม่สะท้อนว่าชาวบ้านได้ประโยชน์ เชื่อว่าประชาชนจะมองเห็นว่าพรรคพลังดูดเป็นเพียงกลุ่มแนวอนุรักษ์ รวบอำนาจ ที่จะสานต่อแนวทางการทำงานในปัจจุบันซึ่งไม่ส่งผลดีต่ออนาคตของประเทศ

เว็บไซต์เอเชียไทมส์ลงบทสัมภาษณ์พิเศษอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมหลายประเด็น ตั้งแต่เรื่องจุดยิืนของพรรคในเรื่องรัฐประหาร ความเห็นต่อการทำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และโอกาสในการทำงานกับพรรคการเมืองอื่นๆ 

นายอภิสิทธิ์บอกกับเอเชียไทมส์ว่า เขาไม่ได้มีความตั้งใจจะนำทหารเข้าสู่การเมือง และว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาทหารได้ขอร้องให้เขาลดการวิพากษ์วิจารณ์ลงตลอดเวลา ในส่วนของพรรคเอง นสพ.ก็รายงานว่า ต้องรับมือกับความขัดแย้งภายในระหว่างคนที่ไม่เห็นด้วยและเห็นด้วยกับการเข้ามาคุมอำนาจของทหาร เอเชียไทมส์ระบุว่า นายอภิสิทธิ์ แสดงความวิตกด้วยว่ าคสช.จะทำตามสัญญาในเรื่องให้เลือกตั้งจริงหรือไม่ ในขณะที่อีกด้านก็ห่วงด้วยว่า หากมีการเลือกตั้งจริง การเลือกตั้งนั้นจะบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่ ในเมื่อทหารลงไปแข่งขันเสียเอง แทนที่จะทำหน้าที่เป็นกรรมการในการแข่งขัน

เมื่อขอให้ประเมิน คสช. หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์บอกว่า ประชาชนทั่วไปให้คะแนน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาที่ทำให้บ้านเมืองมีขื่อมีแปและสงบลงได้ ในขณะเดียวกันประชาชนก็หวังด้วยว่า ถ้าจะต้องชะลอประชาธิปไตยไว้ชั่วคราว ก็จะมีการปรับปรุงระบบจนกระทั่งไทยมีพื้นฐานที่ดีมากขึ้น แต่สี่ปีที่ผ่านมานี้ น้อยคนนักที่จะเชื่อว่าระบบได้รับการปรับปรุงแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องของการวางระบบจัดการปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม อภิสิทธิ์ระบุว่าแม้ผู้คนทั่วไปไม่พอใจกับผลงานของรัฐบาล แต่คนบางส่วนชอบ พล.อ.ประยุทธ์ซึ่งอาจเป็นเพราะท่วงทำนองของเขา หรือไม่อีกทีก็เพราะการที่ พล.อ.ประยุทธ์มักจะมีวิธีลดความน่าเชื่อถือของนักการเมืองลง เขาบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์มีฐานสนับสนุนส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มคนที่ไม่ชอบนักการเมือง ในขณะที่พวกสนับสนุนประชานิยมและเผด็จการมีอย่างหนึ่งที่เหมือนกัน คือ "พวกเขาไม่เคยบอกว่าตัวเองเป็นนักการเมือง”

ในประเด็นเส้นทางการแข่งขันของพรรคการเมืองกับปรากฎการณ์การ 'ดูด' อดีต ส.ส.นั้น มีการพาดพิงถึงพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ระบุว่า จนถึงขณะนี้พรรคพลังประชารัฐยังไม่ประสบความสำเร็จในการดึงอดีต ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะที่ชนะการเลือกตั้งหนหลังสุด แต่แน่ใจว่าพวกเขาคงพยายามต่อไป อย่างไรก็ตามเขาบอกว่า ปัญหาไม่ใช่เรื่องว่าพรรคจะเสียคนของพรรคไปหรือไม่


ปัญหาอยู่ที่ว่า “ขณะนี้มีคนกลุ่มหนึ่งที่เคยบอกเอาไว้เมื่อสี่ปีที่แล้วว่าจะเข้ามาแก้ไขปรับปรุงสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น แต่กลับมีความเป็นไปได้มากว่าคนกลุ่มนั้นจะยังคงอยู่ในอำนาจต่อไปเพราะเต็มใจทำในสิ่งต่างๆ ที่พวกเขาบอกว่าจะเข้ามาแก้ไขนั่นเอง”


เรื่องดังกล่าวกลายเป็นสิ่งสนับสนุนความเชื่อของคนทั่วไปในเวลานี้ว่าการเมืองเป็นเรื่องของการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างคนกลุ่มต่างๆ โดยที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ซึ่งเขาเห็นว่า ถ้าจะนำประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องฟื้นฟูความศรัทธาในระบบ การกลับไปใช้วิธีการแบบเดิมๆ ไม่ได้ช่วยให้ดีขึ้น

อภิสิทธิ์บอกว่า เขาเชื่อว่าคนไทยคงจะมองออกว่าหนทางแบบอนุรักษ์ แบบที่ยึดติดกลไกแบบราชการและการรวบอำนาจชนิดที่ คสช.ทำนั้นไม่ใช่หนทางที่จะเป็นอนาคตของพวกเขาได้ วิธีการเหล่านั้นปรากฎให้เห็นในการรับมือเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมทั้งการที่ประชาชนอึดอัดใจกับการมีข้อจำกัดทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ เขาไม่เชื่อว่ากลุ่มการเมืองใหม่จะดึงคะแนนได้แม้ว่าขณะนี้จะดูดคนไปไว้ในกลุ่มได้ก็ตาม เขาเชื่อว่าคนจะมองเห็นว่าพรรคใหม่ที่ตั้งขึ้นมาจากบารมีผู้มีอำนาจในเวลานี้ ที่จริงแล้วเป็นกลุ่มที่อนุรักษ์ รวบอำนาจ มีท่วงทำนองอิงกลไกระบบราชการ

มอง 'การเลือกตั้ง' เป็นโอกาสออกจากกรอบความขัดแย้ง

มองต่อไปถึงพรรคเพื่อไทย อภิสิทธิ์ชี้ว่า พรรคเพื่อไทยยังได้รับความนิยมในหลายส่วน มีประวัติการทำงานด้านเศรษฐกิจดี แต่ในสายตาหลายคน พรรคนี้มีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นและมีแนวทางบางอย่างที่ทำให้เกิดความไม่มั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่ออกจากร่มเงาของตระกูลชินวัตร ส่วนพรรคประชาธิปัตย์มีฐานเสียงที่ชัดเจน สิ่งที่ต้องทำคือยื่นมือออกไปหาคนที่กลางๆ และคนรุ่นใหม่ 

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ.jpg

“ส่วนหนึ่งของปัญหาของเราตอนนี้คือ การต่อสู้่ของเรากับพรรคของทักษิณที่ผ่านมาทำให้เราดำเนินบทบาทที่แตกต่างออกไป ซึ่งผมไม่คิดว่านั่นมันสะท้อนคุณค่าที่แท้จริงของเรา ผมหวังว่าคนจะมองเห็นเราชัดเจนมากขึ้นว่าที่จริงเรามาจากขนบเสรีประชาธิปไตย”

กับคำถามว่าเขามองว่าการเลือกตั้งหนนี้จะทำให้คนไทยก้าวข้ามความขัดแย้งระหว่างคนที่สนับสนุนและไม่สนับสนุนทหารได้หรือไม่ อภิสิทธิ์บอกว่า เขาก็หวังเช่นนั้น รวมทั้งหวังว่าจะทำให้คนไทยก้าวข้ามการเมืองแบบตัวบุคคลหรือกลุ่มด้วยเช่นคนที่สนับสนุนหรือต่อต้านทักษิณ เขาบอกว่าอยากให้คนไทยมองการเลือกตั้งหนนี้เป็นโอกาสที่จะออกจากกรอบเช่นว่าแล้วพาประเทศไปข้างหน้า “เราจะเป็นทางเลือกจากเพื่อไทยและทหาร” 

เขายันยันว่า ประชาธิปัตย์แตกต่างจากกลุ่มการเมืองที่ทหารสนับสนุนเพราะประชาธิปัตย์เชื่อในประชาธิปไตย การกระจายอำนาจ และการมีพลวัตรใหม่โดยเฉพาะในการจัดการกับเศรษฐกิจ เพราะโครงสร้างทางเศรษฐกิจในปัจจุบันสร้างความเหลื่อมล้ำสูงมาก และปัญหานี้จะไม่หมดไปถ้ายังใช้วิธีการแบบเดิมๆ ตัวอย่างสำคัญก็คือการที่รัฐบาลพอใจกับตัวเลขอัตราการเติบโตของผลผลิตมวลรวมประชาชาติหรือจีดีพีว่าของปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 4 แต่ตัวเลขนี้ไม่มีความหมายต่อประชาชนส่วนใหญ่ เพราะผลพวงจากความเหลื่อมล้ำซึ่งเขาระบุว่าขยายตัวเรื่อยมารวมทั้งในช่วงที่มีการยึดอำนาจ และเพราะผลกระทบอย่างหนักในช่วงของการยกเลิกนโยบายจำนำข้าว ซึ่งเขาบอกว่าเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่ยกเลิก แต่ที่ไม่สมเหตุสมผลก็คือ ไม่มีทางเลือกอื่นมาทดแทน พร้อมกับบอกว่า หากเป็นพรรคประชาธิปัตย์ก็จะสนับสนุนให้มีการอุดหนุนรายได้เพื่อประกันรายได้ขั้นต่ำ

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์วิจารณ์ว่านโยบายเศรษฐกิจของ คสช.ที่ผ่านมาได้อิทธิพลจากธุรกิจรายใหญ่ๆ ซึ่งในช่วงสี่ปีมานี้เติบโตอย่างมาก แต่ คสช.ไม่ได้รับมือกับปั���หาความไม่เท่าเทียมกันและทำให้เกิดการผูกขาดมากขึ้น

"การเมืองต้องไม่เป็นเรื่องของตัวบุคคล"

กับคำถามในเรื่องที่ให้มองไปข้างหน้า โอกาสในอันที่จะร่วมงานกับพรรคอื่นๆ เช่น พรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐ อภิสิทธิ์กล่าวว่าเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการวางตัวของพรรคเหล่านั้น พรรคที่จะร่วมงานกันได้จะต้องเชื่อมั่นในคุณค่าแบบเดียวกัน และ “ถ้าพรรคเพื่อไทยยังคงอยู่ใต้ร่มเงาของตระกูลชินวัตร ผมก็ไม่เชื่อว่าเราจะทำงานกับพวกเขาได้ แต่ถ้าจะให้ร่วมในรัฐบาลที่ทำอะไรในแบบที่ทำอยู่ในปัจจุบัน นั่นก็ไม่ใช่เราเหมือนกัน” พร้อมกับย้ำว่าพรรคประชาธิปัตย์อยู่เพื่อจะอยู่ต่อไปไม่ใช่แค่เพื่อการเลือกตั้งหนนี้หรือตั้งรัฐบาลใหม่นี้เท่านั้น

พรรคเพื่อไทยนั้น อภิสิทธิ์มองว่า “มีทั้งตัวของทักษิณ และยี่ห้อของทักษิณ พลังของยี่ห้อทักษิณยังมีอยู่เพราะความสำเร็จในอดีต แต่ตัวของทักษิณมีของพ่วงมาด้วย เท่ากับว่าเมื่อมีทักษิณก็จะต้องมีคำถามตามมาเสมอในเรื่องของการนิรโทษกรรม การทุจริต การใช้อำนาจในทางที่ผิด มันขึ้นอยู่กับว่าผู้สนับสนุนของเขาเห็นว่ายี่ห้อทักษิณ หรือว่าตัวตนของทักษิณ อะไรกันแน่ที่จะเป็นตัวหลัก”

ยังมีเรื่องของบทเรียนจากการมีรัฐประหาร อภิสิทธิ์ตอบคำถามชุดนี้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้บทเรียนว่าควรจะต้องทำให้การเมืองไม่เป็นเรื่องของตัวบุคคล กลุ่มบุคคลหรือความขัดแย้ง ต้องทำให้การเมืองเป็นเรื่องว่าจะทำอย่างไรจึงจะทำประโยชน์ให้กับประชาชนได้ ผ่านนโยบาย คุณค่าและอุดมการณ์ และการจะทำแบบนี้ได้ต้องมีพรรคการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยจริง ด้วยประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชนและเชื่อมโยงกับประชาชน ไม่ใช่มองแค่ว่าตัวเองเป็นคนบริหารนโยบาย แต่ต้องแสดงให้เห็นได้ด้วยว่าบริหารตามหลักการและคุณค่าของประชาธิปไตย 


ถ้าประชาธิปัตย์และเพื่อไทยต่างได้บทเรียน เราจะออกจากความขัดแย้งได้


“ผมก็หวังว่าพรรคเพื่อไทยเองจะได้บทเรียนด้วย และถ้าเราทั้งสองฝ่ายต่างได้บทเรียน เราอาจจะออกจากวงจรของความขัดแย้งได้ ผมยังหวังด้วยว่า กลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลปัจจุบันจะตระหนักด้วยว่า วิธีการบริหารในปัจจุบันไม่ใช่วิธีที่จะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศได้ในอนาคต”

"รัฐประหารไม่ได้เกิดจากฝ่ายใดฝ่ายเดียว - ทุกคนล้วนมีส่วน"

เอเชียไทมส์มีคำถามในเรื่องของบทเรียนของ กปปส.ในการขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า กลุ่ม กปปส.นั้นมีเจตนาดี เคลื่อนไหวด้วยเหตุผลที่ชัดเจน เขาไม่คิดว่าคนส่วนใหญ่ในกลุ่มต้องการให้มีรัฐประหาร พร้อมกันนั้นยังยืนยันว่าตนเองก่อนจะเกิดรัฐประหารก็บอกชัดว่าไม่ต้องการและยังพยายามบอกพรรคเพื่อไทยให้ดำเนินการเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดรัฐประหาร “คุณจะบอกว่ารัฐประหารเป็นผลพวงของการกระทำฝ่ายใดฝ่ายเดียวไม่ได้ ทุกคนล้วนมีส่วน” แม้พรรคจะพยายามแสดงความชัดเจนแต่เขาอ้างว่า “คู่แข่งของเรามักจะเหมารวมเราเข้ากับทหารเพราะอยากให้ตัวเองเป็นแชมเปี้ยนของประชาธิปไตย” เขายืนยันว่าถ้าเพื่อไทยไม่เอาแต่ผลประโยชน์ของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ รัฐประหารก็จะไม่เกิด 

เอเชียไทมส์ถามว่า ถ้าเช่นนั้นเขาคิดว่าอะไรดีกว่ากันระหว่างการมีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่นำทักษิณกลับไทย กับการมีรัฐบาลทหารและไม่มีประชาธิปไตย “ประชาธิปัตย์คือสิ่งที่บอกว่าเมืองไทยควรจะได้อะไรที่ดีกว่าทั้งสองอย่าง”

มีคำถามว่าหากประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาลจะตรวจสอบการทำงานเช่นโครงการต่างๆของรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ระบุว่า งานหลักอันแรกต้องเป็นเรื่องรื้อฟื้นเศรษฐกิจ ปรับปรุงระบบการศึกษาและทำให้ประเทศมีธรรมาภิบาล “แต่ถ้ามีนโยบายหรือโครงการที่ทุจริต ก็ต้องตรวจสอบ” เขาตอบคำถามเรื่องที่ถูกวิจารณ์ว่าแพ้เลือกตั้งและควรลาออกเปิดทางให้คนอื่นมาเป็นหัวหน้าพรรคว่า เขาลาออกทุกครั้งและได้รับเลือกใหม่ทุกหน แต่สำหรับการเลือกตั้งหนนี้ พรรคจะมีการเลือกหัวหน้าพรรคใหม่ซึ่งจะเปิดให้สมาชิกพรรคทั้งหมดได้ออกเสียง 


เลือกตั้งช้าไม่เป็นปัญหาเท่ากับว่า ยิ่งเลือกตั้งช้ายิ่งทำให้เกิดความไม่มั่นคง


นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงการที่คนไม่ค่อยเชื่อถือโรดแมปของ คสช.ว่า เห็นได้จากผลโพลหลายหนที่คนไม่แน่ใจว่าจะมีการจัดเลือกตั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีความไม่น่าเชื่อถือเพราะมีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง ความไม่แน่นอนของการจัดเลือกตั้งนี้ อภิสิทธิ์เห็นว่า คสช.ควรจะเป็นห่วงแรงกดดันภายในประเทศซึ่งเพิ่มมากขึ้นในช่วงสองสามปีให้หลัง และชี้ว่าการเลือกตั้งช้าไม่เป็นปัญหาเท่ากับว่ายิ่งเลือกตั้งช้ายิ่งทำให้เกิดความไม่มั่นคง แต่เขายอมรับว่าในสภาพปัจจุบันเป็นเรื่องยากจะบอกได้ว่าประชาชนจะแสดงออกได้อย่างไร แต่ยืนยันว่าการที่ประชาชนจำนวนมากอึดอัดใจเพราะแสดงออกไม่ได้นั้นไม่เป็นผลดี

มีคำถามว่าคนไทยต้องการประชาธิปไตยจริงๆ หรือว่าถ้าเศรษฐกิจดีก็คงอยู่กับ คสช.ได้ อภิสิทธิ์ตอบว่าสิ่งที่แลกกันได้นั้นไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจแต่เป็นเรื่องปัญหาความไม่มีเสถียรภาพมากกว่า แต่ขณะนี้เขาเชื่อว่าคนอยากไปใช้สิทธิ อยากมีสิทธิกำหนดชะตากรรมตัวเอง ในขณะที่อีกด้านก็มีความกังวลเกรงว่าไทยจะกลับไปสู่สภาพก่อนเกิดรัฐประหารด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: