"ประชาชนเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตย" คือความหมายของ พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดในเมืองไทยเวลานี้ พรรคการเมืองที่ผ่านเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองมาหลายยุคถึง 72 ปี
"สจฺจํเว อมตา วาจา" คำสัตย์แลเป็นวาจาไม่ตาย คือคำขวัญของพรรคประชาธิปัตย์
ผ่านสมรภูมิการเลือกตั้งมาถึง 22 ครั้ง ชนะเลือกตั้ง 6 ครั้ง แพ้เลือกตั้ง 13 ครั้ง
มีหัวหน้าพรรค 7 คน 4 ใน 7 คน เป็นถึงนายกรัฐมนตรี
โดยหนึ่งในนั้นมีชื่อของ 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' ที่นั่งในเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 7 ยาวนานเป็นอันดับ 2 ของพรรค คือนับตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน
ชีวิตทางการเมืองของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในวัย 53 ปี เคยผ่านเหตุการณ์รัฐประหารมาถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกเหตุการณ์ที่ร่วมต่อสู้กับพรรคประชาธิปัตย์กับ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เมื่อปี 2535
ครั้งที่ 2 เหตุการณ์ที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เข้ายึดอำนาจเมื่อปี 2549
และครั้งล่าสุดคือเหตุการณ์ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศมาเป็นเวลาเกือบ 4 ปี
แต่การเลือกตั้งยังไม่อาจคาดได้แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด
'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' บอกเหตุผลของแนวคิดการต่อสู้เผด็จการทุกรูปแบบผ่าน 'วอยซ์ ออนไลน์' รวมถึงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ หากหลังการเลือกตั้งต้องเผชิญกับการต่อสู้เพื่อได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีคนนอก
การเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคประชาธิปัตย์จะทำยังไงให้คนไม่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์กลับมาเลือกพรรคประชาธิปัตย์
ผมได้แถลงไปเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2561 ที่เปิดให้ยืนยันสมาชิก ว่าทิศทางพรรคประชาธิปัตย์ในอนาคตเป็นอย่างไร หัวใจที่เราสื่อสารในขณะนี้ โลกเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ทุกองค์กรต้องมีการเปลี่ยนแปลง เราถึงพูดว่าพรรคประชาธิปัตย์ยุคใหม่ ที่จะเน้นคือตัวตนของเรา
1.เรามองว่า 10 กว่าปีที่ผ่านมา การเมืองไทยเป็นเรื่องการต่อสู้ที่รุนแรงมีขั้วอะไรหลายอย่าง คนก็เริ่มไม่ชัดเจนว่าพรรคประชาธิปัตย์ อุดมการณ์จุดยืนคืออะไร เราต้องกลับไปสู่วันก่อตั้งเมื่อ 72 ปีที่แล้วว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคแนวเสรีนิยมประชาธิปไตย คำว่า เสรีนิยมประชาธิปไตย คือต้องสนับสนุนประชาธิปไตย ประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง ต้องเป็นประชาธิปไตยที่เคารพเสียงข้างน้อย ต้องไม่เอาอำนาจรัฐที่ได้มาแม้จะมาจากการเลือกตั้งไปละเมิดสิทธิคนอื่น ไปใช้อำนาจเกินขอบเขต แทรกแซงองค์กรอิสระ ฝ่ายตุลาการต่างๆ
เราเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ไม่ใช่ทางเลือกของผู้มีอำนาจในปัจจุบัน เขาอาจกำลังตั้งพรรคอยู่ และคงจะใช้แนวทางว่า ผลงานที่เขาทำมาช่วงนี้ เป็นรูปแบบรัฐราชการไปทางอนุรักษ์นิยม อีกด้านหนึ่ง พรรคเพื่อไทย เป็นแนวทางประชานิยม
2.เรายืนยันความเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่ภายในพรรค วันนี้ต้องการขยายบทบาทสมาชิกพรรคเพิ่มอีก ให้มีส่วนร่วมเลือกหัวหน้าพรรคโดยตรง ใช้เทคโนโลยีสื่อสาร
3. ต้องปรับปรุงการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว เมื่อปรับแนวทางนี้ ในแง่ของสังคมและประเทศ วันนี้ตัวขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงประเทศ มีเรื่องเทคโนโลยี เศรษฐกิจเหลื่อมล้ำ สังคมสูงวัย โลกร้อน ดังนั้น วันนี้ต้องถึงเวลาสร้างใหม่สังคมไทย นำเสนอความคิดเบื้องต้น เช่น เศรษฐกิจยุคใหม่ ยกเลิกที่พูดกันว่าจีดีพี 3-4 % ปัจจุบันไม่ได้สะท้อนเศรษฐกิจอีกแล้ว แต่การทำโครงการต่างๆ ต้องตอบโจทย์คนธรรมดามากน้อยแค่ไหน พรรคผลักดันสวัสดิการ เบี้ยยังชีพ ยืนยันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การออม เป็นตัวอย่างของเศรษฐกิจยุคใหม่ การศึกษายุคใหม่ไม่ใช่การให้ความรู้ท่องจำ ฝึกคนให้เป็นผู้ประกอบการอิสระ เหล่านี้เป็นข้อเสนอชุดใหม่ ที่ไม่เคยเลือกเรามาก่อน คนที่เหลือพรรคอื่น คนที่อยู่กลางๆ พร้อมเปิดใจดู รวมทั้งผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก
การขึ้นเฟซบุ๊กว่า พรรคประชาธิปัตย์ต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ ถือเป็นการรีแบรนด์พรรคครั้งใหม่หรือไม่
จริงๆ ไม่ใช่หรอกครับ แต่เป็นการอธิบาย คำว่าเผด็จการทุกรูปแบบ รวมหมายถึง คนที่เข้ามาด้วยวิถีทางของการเลือกตั้งแล้วไม่เคารพเจตนารมณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย มันไม่ใช่แค่มีการเลือกตั้งอย่างเดียว ตรงนี้คือสิ่งที่เขียนในอุดมการณ์พรรคประชาธิปัตย์มา 72 ปี เอาล่ะมีข้อโต้แย้ง สุดแล้วแต่ แต่ผมอธิบายมาตลอดว่าการตัดสินของเราแต่ละครั้งเพื่อให้ก้าวไปสู่ เสรีนิยมประชาธิปไตย ภัยคุกคามระบอบประชาธิปไตยวันนี้ มีทั้งเผด็จการแบบเดิมๆ และมีทั้งกระบวนการเลือกตั้งสร้างผู้นำที่ไม่เป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย อันนี้เป็นที่ยอมรับทั่วโลกแล้ว ทุกวันนี้ในกลุ่มคนพรรคการเมืองที่นิยมเสรีนิยมประชาธิปไตย ตื่นตัวกันมากกับเรื่องนี้ว่าเกิดปรากฎการณ์คนที่มาจากการเลือกตั้งแต่ไม่เคารพระบอบประชาธิปไตย
ที่พรรคประชาธิปัตย์บอกว่าต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ ทางพรรคเพื่อไทยก็ต่อต้านเผด็จการ มีโอกาสที่จะจับมือกับพรรคเพื่อไทยในอนาคตหรือไม่
ผมก็พูดไปค่อนข้างชัด ถ้าพรรคเพื่อไทยยังก้าวไม่พ้นร่มเงาของครอบครัว มีปัญหาแบบเดิมๆ มาจากการเลือกตั้งใช้อำนาจเกินขอบเขตของรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยพึงกระทำ อย่างนั้นก็เป็นไปได้ยาก แต่ตอนนี้ไม่ใช่ผมแล้วนะ มีนักวิชาการก็เรียกร้องด้วย ต้องดูว่าเขาจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไหม แต่ถ้าเป็นแนวทางเดิมๆ ก็ต้องเป็นคู่แข่งขันกันต่อไป
ตอนนี้คนในรัฐบาลออกมาเปิดตัวว่าสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ มาตามกติกา ทางพรรคประชาธิปัตย์จะรับได้หรือไม่
ผมเป็นคนแรกที่บอกว่า กติกาที่รัฐธรรมนูญได้เขียนไว้ คือเอา ส.ว.มาลงคะแนนด้วย ผมก็บอกว่า ส.ว. ควรเคารพเจตนารมณ์ของประชาชน เพราะฉะนั้น ผมยืนยันว่าถ้าในหมู่ ส.ส. 500 คน ถ้าใครรวบรวมเสียงได้เกินครึ่ง ส.ว.ก็ไม่ควรไปขัดเจตนารมณ์ตรงนั้น และผมบอกว่าเรื่องนี้สำคัญกว่าคนใน คนนอกด้วยซ้ำ
วันนี้คนพูดคนนอก หากมีการตั้งพรรคการเมืองใหม่สนับสนุนบุคคลไม่ลง ส.ส. แต่บอกว่าอยู่ในบัญชีพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง แปลว่าเป็นคนในหรือเป็นคนนอก แล้วถ้าคนๆนั้นได้เสียงเพียง 126 เสียง แต่ไปรวมกับอีก 250 เสียง (ส.ว.) เพื่อให้ได้เสียงข้างมาก เราบอกคนนั้นเป็นคนในแล้วชอบธรรมไหม ผมบอกว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นใหญ่กว่า คนใน คนนอก ประเด็นอยู่ที่ว่า ควรจะให้การตัดสินใจของประชาชนผ่านการเลือกตั้ง ใครได้เสียงข้างมากเกิน 250 เสียงควรมีสิทธิจัดตั้งรัฐบาล
แสดงว่า ถ้าคนเป็นนายกฯ ไม่ได้เป็น ส.ส. คือไม่สง่างาม
ถ้าเขารวบรวมเสียง ได้เกิน 250 เสียงในสภาผู้แทนราษฎรก็เป็นเรื่องปกติ อย่างที่่ผมบอก เขาไม่ได้สนใจตรงนั้น เขาคิดว่ามี 250 เสียง ส.ว.อยู่ เพื่อมาเอาชนะ อย่างนี้ไม่ตรงเจตนารมณ์ของประชาชน
ถ้าใช้วิธีนี้จะเท่ากับเป็นเผด็จการสืบทอดอำนาจ อีกรูปแบบหนึ่งของเผด็จการหรือไม่
คือเป็นความตั้งใจของเขาที่จะเอา ส.ว. เข้ามามีส่วนร่วม
ล่าสุดรัฐบาลตั้งคนในพรรคพลังชลเข้ามาเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
ผมว่ามันก็ชัด ตอนนี้เขาอยู่ในช่วงสร้างฐานการเมืองเพื่อมารองรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป
จะคล้ายโมเดลของคณะรัฐประหารในอดีตหรือไม่ ที่ทหารเมื่อจะลงมาเล่นการเมืองก็ต้องอาศัยพรรคการเมืองอื่นๆ มาเป็นฐานเสียงปูทางให้ทหารกลับมามีอำนาจอีกครั้งหนึ่ง
ก็ตอนนี้ทางพล.อ.ประยุทธ์ คงเปิดทางไว้ทุกทาง เรายังไม่ทราบว่า เขาจะเลือกเส้นทางไหน แต่เขาไม่ปิดเส้นทาง มาในฐานะคนนอก มาในฐานะที่พรรคการเมืองพรรคใดสนับสนุนก็แล้วแต่
ช่วยบอกจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าวันหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้กลับมาเป็นรัฐบาล
ไปพูดตรงนั้นก็เร็วเกินไป เพราะผมก็บอกว่า เรายังไม่รู้เลยว่าเขาจะเลือกเส้นทางไหน ผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร เราต้องดูว่าประชาชนเขาแสดงออกอย่างไร พรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันจะยึดแนวทางการบริหารประเทศเป็นหลัก จะร่วมงานกับใคร ไม่ว่าเราร่วมงาน หรือเขาจะมาร่วมงานกับเรา ต้องยึดเป้าหมายว่าเราบอกกับประชาชนว่าจะทำอะไร แนวทางที่พูดว่าการกระจายอำนาจ เลือกผู้ว่าฯ ทำหรือเปล่า เสรีนิยมประชาธิปไตยเป็นตัวตั้ง
ถ้าสมมุติว่าผมได้รับเลือกตั้งมาเยอะ ก็ไม่ต้องพึ่งใคร ก็ง่าย แต่ถ้าเยอะแต่มันไม่พอ ผมก็ต้องไปดูว่า ใครพร้อมจะมาร่วมกับผม แต่ถ้าผมได้รับเลือกตั้งมาน้อย อย่างนี้ผมไม่ค่อยมีอำนาจต่อรอง ก็ต้องเจียมตัว แต่ผมจะสนับสนุนใครหรือไม่ พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้อยู่เพื่อการเลือกตั้งครั้งใดครั้งหนึ่ง ถ้าพรรคประชาธิปัตย์จะไปร่วมงานกับใคร ตรงนั้นต้องเป็นคำตอบในทิศทางที่เหมือนกับที่เราบอกกับประชาชนไว้ ถ้าเราร่วมงานกับใครแล้วบริหารคนละเรื่องเลย ผมว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่รับผิดชอบกับประชาชน ก็จะเสียหาย และสุดท้ายจะไม่ยั่งยืน ที่อยู่มาได้ก็อยู่ที่หลายสถานการณ์ เช่น ถอนตัวจากรัฐบาลก็เคยมาแล้ว การตัดสินใจไม่เป็นรัฐบาลก็เป็นมาแล้ว
คนในพรรคประชาธิปัตย์มีหลายคนออกจากพรรค ไปร่วมตั้งพรรคร่วมกับ กปปส. จะกระทบฐานเสียงพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่
ต้องมองการแข่งขันเป็นเรื่องปกติ ถ้ามีใครเคยทำงานกับเรา มีฐานเสียงเดียวกัน ก็กระทบอยู่บ้าง แต่ก็เป็นสิทธิและเสรีภาพของเขา โดยเฉพาะจะเกิดขึ้นเมื่อมีความแตกต่างในเรื่องแนวทาง การพูดของคนบางกลุ่มว่าจะไปอยู่กับพรรคใหม่หรือเปล่าก็เคยมาถามว่า พรรคประชาธิปัตย์จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ไหม ผมก็บอกพรรคประชาธิปัตย์ต้องสนับสนุนหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่ผมนะ เราเป็นพรรคการเมืองที่เป็นสถาบัน เรามีอุดมการณ์ มีบุคลากร มีแนวคิด นโยบายเชื่อมั่น
ถ้าพรรคจะผูกติดสนับสนุนตัวบุคคล���ี่ไม่ได้อยู่ในพรรค ไม่ได้หล่อหลอมอุดมการณ์เดียวกันพรรค ผมว่าไม่ใช่สถาบันทางการเมืองอีกต่อไป ผมว่าพรรคประชาธิปัตย์แม้คนบอกว่าไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่ที่ยืนหยัดมาได้ 72 ปี เพราะการพัฒนาเป็นสถาบัน ถ้ามีใครบอกว่าควรมีพรรคการเมืองสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ผมว่าเขาก็คงต้องหาทางเลือกอื่นเท่านั้นเอง ส่วนเมื่อเลือกตั้งแล้ว พล.อ.ประยุทธ์จะเป็น คนใน หรือคนนอก ก็ต้องดูแนวทางของแต่ละคนที่เสนอให้ประเทศคืออะไร แต่ก็อยากให้ ส.ส. 250 เสียงในสภาเป็นผู้ชี้ขาด
กปปส.ตั้งพรรคการเมืองถือเป็นพรรคสาขา 2 ของพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่
ไม่ใช่ครับ พรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีพรรคตัวแทน ไม่มีสาขา ไม่มีนอมินี แต่ถามว่ามีจุดร่วมอะไรตรงไหนไหม ที่ กปปส. เคยเคลื่อนไหวต่อต้านทุจริต มีแนวคิดปฏิรูป ก็มีแนวคิดคล้ายกันอยู่
จุดยืนพรรคประชาธิปัตย์ไม่สนับสนุนนายกฯ คนนอก แต่ถ้าเกิดมีพรรคการเมืองอื่นไปสนับสนุนนายกฯคนนอก พรรคประชาธิปัตย์จะทำอย่างไร
ต้องดูตัวเลขของใครเท่าไร ดูทิศทางตกลงการทำงานคืออะไร ผมยังบอกว่าวันนี้ไปถามใครก็ตอบกันยาก คนนอกยังไม่รู้จะเป็นคนอื่นหรือไม่ แล้วมาด้วยเงื่อนไขอะไร แต่เราจะไปขอคะแนนเสียงประชาชน ถ้าเขาให้มามากก็ต้องผลักดัน ถ้าให้มาน้อยก็ต้องดูว่าเหมาะสมไหมจะไปสนับสนุนคนอื่น
ยังคาดหวังไหมว่าการเลือกตั้งยังเป็นปี 2562
ผมก็ยังประเมินว่า ปี 2562 น่าจะเป็นปีที่มีการเลือกตั้ง ถามว่าปี 2561 ก็ยังเป็นไปได้ แต่โอกาสมันน้อย เพราะยังมีขั้นตอนการตีความกฎหมาย กว่าจะปลดล็อก ปี 2561 คงไม่ง่าย ถามว่าเลยปี 2562 ผมว่าจะเกิดความตึงเครียด ขัดแย้งสูงมาก ผมไม่คิดว่าใครจะเอาประเทศไปเสี่ยงอย่างนั้น
กฎหมายเลือกตั้งยังอยู่ในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ มองว่าจะไม่กระทบโรดแมปเลือกตั้ง
ผมเห็นประเด็นตีความ มันไม่น่าจะเป็นประเด็นกระทบกระเทือนกฎหมายทั้งฉบับ ดูการตัดสิทธิคนเกินเลยหรือไม่ การช่วยอำนวยความสะดวกคนพิการกระทบการเลือกตั้งเป็นความลับไหม ผมว่าถ้าขัดก็แค่ตัดข้อความนั้นออก ทั้งหมดก็อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ สมมุติตีความกฎหมายเดิมคิดว่ากฎหมายการเลือกตั้ง จะประกาศใช้เดือน มิ.ย. แต่ประกาศใช้เดือนก.ค. ความจริง คสช.ก็แก้กฎหมายใหม่ได้ว่าให้ประกาศใช้ 90 วัน ก็ลดมาเป็น 60 วัน ก็กลับสู่โรดแมปเดิม มันอยู่ที่ว่าอยากจะทำหรือไม่
การสร้างความแน่นอนจะดีต่อความเชื่่อถือของประเทศ ถ้าคนในประเทศมองว่าอนาคตของบ้านเมืองก็แล้วแต่อะไรก็ไม่รู้ว่าจะอภินิหารกฎหมายไม่เป็นผลดีกับประเทศ
ไม่กลัวอุกกาบาตจะลงใส่จนโรดแมปเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไปตามที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เคยบอกไว้ใช่ไหม
ผมมองว่าสังคมไทยก็มีเหตุมีผล ที่ผ่านมาก็มีการเลื่อนตารางเวลามาพอมีเหตุผลที่สังคมบอกว่าไม่เป็นไรก็ไปได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องเจตนาจะยื้อ หวังความได้เปรียบทางการเมือง อันนี้ไม่ดี เพราะอันนี้จะเกิดแรงต้านในสังคมขึ้นมา และจะเกิดความขัดแย้ง
ตัว พล.อ.ประยุทธ์ก็อยู่ยาวมาจะ 4 ปีจะครบเทอมแบบรัฐบาลเลือกตั้ง ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ ยังคงอยู่ยาวไปกว่านี้จะบั่นทอนเสถียรภาพของรัฐบาลชุดนี้หรือไม่
ผมว่าหัวใจอยู่ที่ว่า เขาเดินตามปฏิทินตารางเวลาที่คนไทยและชาวโลกเข้าใจหรือไม่ คือมาถึงวันนี้คนชอบ ไม่ชอบก็ไม่ค่อยเปลี่ยนใจแล้วมั้ง คนที่เห็นว่างานเศรษฐกิจไม่ดี งานปฏิรูปไม่เดินหน้า เขาก็ไม่คาดหวังเท่าไรว่า เหลือเวลาเพียงเท่านี้จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากมาย แต่สิ่งที่เขาคิดว่าจะสำคัญมากกว่า คือว่า ดูแลรักษาความสงบ ทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่การเลือกตั้งจะราบรื่น ไม่มีการสร้างความไม่แน่นอนให้เกิดปัญหา
เล่นการเมืองมานาน เป็นหัวหน้าพรรคก็นาน เคยคิดจะเริ่มวางมือหรือไม่
ผมประเมิน 2 อย่าง เรายังมีไฟ และตั้งใจที่จะทำอะไรไหม วันนี้ที่ผมยังอยู่ตรงนี้ ตั้งใจตรงนี้ เพราะผมเห็นความท้าทายใหม่ๆ กับการเปลี่ยนแปลง ผมเห็นว่าประเทศและสังคมต้องเปลี่ยนแปลงเยอะพอสมควร ผมก็เข้าหาคนต่างๆ ดังนั้น ไฟผมยังมี กับ 2.ผมเป็นนักการเมืองในวิถีทางประชาธิปไตย ผมอยู่ในพรรคการเมืองที่ผมไม่ได้เป็นเจ้าของ ผมต้องประเมินว่าคนในพรรคและประชาชนสนับสนุนผมแค่ไหน ผมสบายใจ ผมไม่สามารถบอกว่าผมอยากอยู่ อยู่ต่อไปได้เรื่อยๆ มันเป็นไปไม่ได้สำหรับคนที่อยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ และคนที่อยู่ในการเลือกตั้ง ถ้าสิ่งที่เราคิดจะทำไม่ตรงกับสิ่งที่สังคมต้องการเขาก็คงไม่ให้ผมเป็นหัวหน้าพรรค ประชาชนก็ไม่เลือกผมมาเป็น ส.ส. ผมเคยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรคก็แพ้มาแล้ว
ส่วนตัวเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มาก็นานถึง 10 กว่าปีแล้ว เป็นรองแค่นายควง อภัยวงศ์ เคยผ่านการเลือกตั้งมาหลายครั้ง การเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ คิดว่าพรรคประชาธิปัตย์จะชนะเลือกตั้งได้หรือไม่
เราลงสู่สนาม ต้องการชนะ ต้องทำให้ชนะ แต่ทำภายใต้กฎหมาย อุดมการณ์ จะให้ไปทำอะไรนอกกติกาเพื่อเอาชนะ จะไม่ทำ และจะไปหาเสียงโดยไม่รับผิดชอบต่อประเทศชาติ พูดอะไรก็ได้เพื่อให้ได้คะแนนเสียงจะไม่ทำ แต่ตั้งใจเต็มที่ว่าจะได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้นและต้องได้รับชัยชนะ
ตอนนี้สมาชิกพรรคยังสนับสนุนให้เป็นนายกฯใช่หรือไม่
สนับสนุนหัวหน้าพรรค เราต้องมีการเลือกกรรมการบริหารพรรคและหัวหน้าพรรคก่อนการเลือกตั้งอยู่แล้ว เป็นหลักการของพรรคประชาธิปัตย์
ส่วนตัวมองว่าคนไม่เบื่อชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
คนอยู่มานานก็มีทั้งความชอบและไม่ชอบ มีความเบื่อเป็นเรื่องปกติ ยิ่งสังคมเปลี่ยนแปลงเร็ว ยิ่งช่วงที่ผ่านมาผู้มีอำนาจประณามนักการเมืองเก่าแทบรายวัน ก็มีความต้องการจะหาสิ่งใหม่ก็ปกติ แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็มีคนรุ่นใหม่พร้อมทำงานกับเราให้มุมมองใหม่ๆกับเรา มีความเข้าใจเทคโนโลยี ธุรกิจแบบใหม่ เราต้องหาความลงตัวตอบสนองคนรุ่นใหม่ เข้าใจคนรุ่นเก่าด้วย
ภาพ - ฐานันด์ อิ่มแก้ว / สุรศักดิ์ บงกชขจร
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง