ไม่พบผลการค้นหา
ศาลปกครองยกคำร้องยกคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินของทนายความเครือข่าย We Walk เดินมิตรภาพ เหตุพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ต้องรับฟังพยานฝ่ายผู้ถูกฟ้องเพิ่มเติม ส่วนคำร้องขอบรรเทาทุกข์นั้น ศาลจะมีคำสั่งในภายหลัง

วันนี้ (22ม.ค.) เครือข่าย People Go Network Forum นำโดยนายนิมิตร์ เทียนอุดม พร้อมด้วยตัวแทนจากคณะเดินเท้าในกิจกรรม 'We Walk เดินมิตรภาพ' และนายสุรชัย ตรงงาม ทนายความมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม เข้ายื่นฟ้อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง จ.ปทุมธานี ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหัวพระนครศรีอยุธยา เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-4 ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้ (1) มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ยุติการดำเนินการใดๆ ที่มีลักษณะเป็นการปิดกั้น ในการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของทางเครือข่ายที่จะเดินเท้าจากจังหวัดปทุมธานีถึงจังหวัดขอนแก่น

(2) สั่งให้ สตช. สั่งผู้ถูกฟ้องที่ 2-4 ดูแลการชุมนุม อำนายความสะดวกให้ทางเครือข่ายฯ จนกว่าจะสิ้นสุดการชุมนุม รวมทั้งเรียกร้องค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิในการชุมนุม การถูกตรวจค้น ควบคุมตัวโดยพลการ เป็นเงิน 100,000 บาท และ (3) ขอให้ศาลมีการไต่สวนฉุกเฉินและขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว โดยสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดียุติการดำเนินการใดๆ ที่เป็นการขัดขวางการชุมนุม คุ้มครองสิทธิการเดินเท้าได้ครั้งละ 50-100 คน ตามแผนเดิม โดยเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยตลอดการชุมนุม

อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองมีคำสั่งยกคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉิน หลังศาลเห็นว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอ และต้องฟังความเห็นของผู้ถูกฟ้องร้องทั้งหมดด้วย ส่วนคำร้องขอบรรเทาทุกข์นั้น ศาลจะมีคำสั่งในภายหลัง

นายสุรชัย กล่าวว่า ทางเครือข่ายเริ่มเดินตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. แต่ถูกปิดกั้น ขัดขวาง ในการใช้เสรีภาพการชุมนุม ทางเครือข่ายจึงต้องฟ้องร้องต่อศาลปกครอง โดยผู้ถูกฟ้องทั้งหมดซึ่งเป็นผู้ดูแลการชุมนุม กลับมีพฤติการณ์ คือในวันที่ 20 ม.ค.มีการปิดกั้นการเดินเท้าของเครือข่าย ตามแผนการที่มีการแจ้งไว้ มีพฤติการณ์กดดันข่มขู่ ทำให้ผู้ชุมนุมเกิดความหวาดกลัว ในการใช้สิทธิและเสรีภาพการชุมนุม ทั้งที่สิทธิเสรีภาพการชุมนุมเป็นเรื่องสำคัญในระบอบประชาธิปไตย การดำเนินการขัดขวางการชุมนุมที่ผ่านมาจึงเป็นการละเมิดเสรีภาพการชุมนุมอย่างร้ายแรง

อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าการเดินครั้งนี้ไม่ได้เป็นการกระทำผิดตามคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 แต่อย่างใด และการที่ตำรวจมองว่าการขายเสื้อ iLaw และการรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพนั้น เป็นการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งตนเห็นว่าหากคิดอย่างนั้นคำสั่ง คสช.ดังกล่าว น่าจะมีปัญหา และไม่สามารถตีความอย่างกว้างขวางได้

นายนิมิตร์ กล่าวว่า ก่อนการทำกิจกรรมครั้งนี้เราได้มีหนังสือยื่นแจ้งการชุมนุมดังแล้ว เป็นการดำเนินการตามกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 มาโดยตลอด มีการสื่อสารกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างต่อเนื่องซึ่งเราก็เชื่ออย่างเต็มเปี่ยมว่าเราอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้แล้ว มีสิทธิและเสรีภาพที่เราจะแสดงออก มีสิทธิที่เราจะเห็นด้วยหรือเห็นต่างกับรัฐบาล ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ แต่เราไม่เข้าใจว่าก่อนการชุมนุมเราได้ยื่นเอกสารแจ้งการชุมนุมที่ชัดเจน และมีการชี้แจงรายละเอียดการทำกิจกรรมว่าจะมีการเดินไปที่ไหนอย่างไร

ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนจะเข้าไปร่วมทางการเมือง ซึ่งตนคิดว่าการปิดกั้นการใช้เสรีภาพแบบนี้เป็นเรื่องที่ไม่ถูก จึงต้องการพิสูจน์ข้อเท็จจริงทำให้ต้องมาพึ่งอำนาจศาลปกครอง และหลังจากที่เริ่มเดินแล้ว มีการประสานงานกับทางวัดตามเส้นทางเดินเพื่อขอนอน ซึ่งตอนแรกทุกวัดก็ยินดีที่จะให้ไปพักค้างคืน แต่หลังจากนั้นกลับมีทหารและตำรวจเข้าไปภายในวัด แล้วข่มขู่เจ้าอาวาสวัด ว่าอย่ามายุ่งในเรื่องนี้ เดี๋ยวจะมีปัญหา ถือเป็นการคุกคามการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างวัดกับประชาชนถูกทำลาย

“เดิมที่ตั้งใจตามแผนจะเดิน 50-100 คน แต่ไม่สามารถทำได้ ขณะนี้จึงปรับเป็นการเดินเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 4 คนแทน ซึ่งเราจะพยายามเดินให้ถึงจังหวัดขอนแก่นให้ได้ จะอุ้มก็อุ้ม แต่ถ้าตอนนี้จะมีวัดไหนที่ช่วยเหลือให้ที่พักอาศัยได้ ก็อาจจะมีการจัดเวทีพูดคุยกับชาวบ้าน ซึ่งขณะนี้ถึงจังหวัดสระบุรีแล้ว แต่อย่างไรก็ตามคืนนี้ยังไม่รู้ว่าจะนอนไหน และถ้าเข้าไปนอนแล้วก็ยังไม่รู้ว่าตอนเช้าจะได้ออกมาไหม”

ภาพโดย เพจบำนาญแห่งชาติ