กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) โดยนายอุกกฤต สตภูมินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ภูเก็ต) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กำกับการดูแล ลงพื้นที่ปฏิบัติการสำรวจโลมา และเก็บข้อมูลชุมชนบริเวณเกาะไม้ท่อน จังหวัดภูเก็ต เพื่อสำรวจจำนวนประชากรโลมาด้วยวิธีการ Photos Identification ซึ่งผลจากการสำรวจพบโลมาปากขวดบริเวณด้านหลังเกาะไม้ท่อน จำนวน 10 ตัว โดยพบคู่แม่ลูกจำนวน 1 คู่ และใช้เครื่องอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน ในการศึกษาพฤติกรรมของโลมาปากขวด ขณะที่ทำการสำรวจมีเรือนักท่องเที่ยวจำนวน 3 ลำเข้ามาชมโลมา แต่เรือนักท่องเที่ยวไม่ได้ขับเรือไล่ฝูงโลมา
ทั้งนี้ จากการรายงานของเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยฯ พบว่า ผลการตรวจสุขภาพด้วยการประเมินสุขภาพจากการสังเกตระยะไกล (Far Inspection) ด้วยสายตา พบสัตว์ทะเลหายากจำนวน 1 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ โลมาปากขวด พบว่ามีสุขภาพโดยรวมสมบูรณ์แข็งแรง และแสดงพฤติกรรมการหาอาหาร และเล่นกันภายในกลุ่ม โลมามีความคุ้นชินกับเรือท่องเที่ยว จึงแสดงพฤติกรรมการว่ายเล่นกับคลื่นเรือชัดเจน ภายในฝูงพบคู่แม่-ลูก 1 คู่ แสดงถึงความสมบูรณ์ภายในฝูง พบโลมาหนึ่งตัวมีรอยแหว่งบริเวณครีบหลังชัดเจน แต่ไม่พบบาดแผลอื่นๆ ตามลำตัว อย่างไรก็ตามโลมาฝูงนี้มีสุขภาพโดยรวมสมบูรณ์แข็งแรง และหากินได้ตามปกติ
นายอุกกฤต กล่าวต่อว่า โลมาปากขวด หรือ โลมาหัวขวด มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Bottlenose dolphin เป็นสกุลของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลสกุลหนึ่ง ใช้ชื่อสกุลว่า Tursiops จัดอยู่ในวงศ์โลมามหาสมุทร มีลำตัวสีน้ำเงินเข้มอมเทา สีจางหรือบางครั้งอมชมพูด้านท้อง จะงอยปากค่อนข้างสั้นใหญ่ครีบหลังขนาดค่อนข้างใหญ่ เป็นรูปโค้งอยู่กึ่งกลางหลัง รูปร่างค่อนข้างอ้วน ไม่มีลายหรือจุดประแต่ประการใด ขนาดเมื่อโตเต็มที่ยาวประมาณ 2.3-3.1 ม. มีพฤติกรรมอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง ในบางฝูงอาจพบได้ถึงหลายร้อยตัวจนถึงหลักพัน และชอบว่ายน้ำแข่งกับเรือขณะที่เรือเดินอยู่ในทะเลได้หลายไมล์ และมีความเร็วในการว่ายน้ำประมาณ 40.5 กม./ชม. โลมาปากขวด เป็นโลมาที่ฉลาด มีความแสนรู้ ขี้เล่น เป็นมิตรกับมนุษย์ จึงนิยมเลี้ยงไว้แสดงตามสวนสัตว์และสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำทั่วไป พบกระจายพันธุ์ตามทะเลเปิดและมหาสมุทรเขตร้อนและเขตอบอุ่นรวมถึงเขตหนาวทั่วโลก
สำหรับการชมโลมาทางเรือนั้น หากไม่ปฏิบัติตามคู่มือการชมและจํากัดจํานวนเรือแล้ว ย่อมรบกวนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของโลมาแน่นอน เช่น การกินอาหาร การเลี้ยงดูลูก หรือการผสมพันธุ์ ก่อให้เกิดอันตรายกับโลมา ทําให้บาดเจ็บ หรืออาจเป็นสาเหตุทําให้สัตว์เกิดการเจ็บป่วยเรื้อรังจากเรื่องเสียงใต้น้ํา การเฉี่ยวชนจากเรือ เป็นต้น ผลกระทบของเสียง (Noise as a stressor) จะไปรบกวนการสื่อสารระหว่างกันในฝูง ลดความสามารถในการได้ยินเสียงระหว่างกัน ทําให้สูญเสียความสามารถในการกําหนดทิศทางการเดินทางและการหาเหยื่อ รบกวนการพักผ่อน หรือปฏิกิริยาของสัตว์ต่อสังคมในฝูงเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจเปลี่ยนไปทั้งในระยะสั้นหรือระยะยาวขึ้นกับผลกระทบที่เกิดขึ้นว่ามีมากหรือน้อยเพียงใด
สุดท้ายนี้ ขอฝากถึงนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สนใจจะชมโลมาทางเรือ ควรเตรียมตัวให้พร้อมและเตรียมอุปกรณ์เบื้องต้นสำหรับชมโลมา ดังนี้
1. ศึกษาคู่มือการชมโลมา และปฏิบัติตาม
2. ศึกษาชนิดของโลมาที่คาดว่าจะได้พบเห็นและจดจําลักษณะเด่นเช่นครีบหลัง ลักษณะส่วนหัว สีลําตัว เป็นต้น
3. แว่นตากันแดด
4. หมวก
5. เสื้อแขนยาว
6. ครีมกันแดด
7. อาหาร น้ํา และของว่าง
8. กล้องถ่ายรูป
9. กล้องส่องทางไกล
10. ยาแก้เมาเรือ
สำหรับบริษัทผู้ประกอบการเดินเรือควรให้ความระมัดระวังอย่างมากในการเข้าใกล้บริเวณที่คาดว่าจะมีโลมาอยู่ และปฏิบัติตามข้อแนะนําการชมโลมา โดยจะต้องลดความเร็วเรือให้ต่ำกว่า 7 น็อต ในรัศมี 400 เมตรจากฝูงโลมา และหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนความเร็วของเรือแบบกระทันหัน ชลอความเร็วเครื่องยนต์เมื่ออยู่ใกล้ๆ โลมา และใช้ความเร็วเรือไม่เกิน 4 น็อตในรัศมี 50-150 เมตรจากโลมา ในส่วนจํานวนเรือไม่ควรเกิน 3 ลําที่เข้าใกล้โลมาในรัศมี 50-150 เมตร ทิศทางการเข้าใกล้โลมาให้เข้าทางด้านข้างเท่านั้นไม่เข้าทางด้านหัวหรือหาง และไม่ควรให้อาหารแก่โลมาในธรรมชาติโดยเด็ดขาด