ไม่พบผลการค้นหา
อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งชี้ไม่ควรชมฉลามวาฬ ด้วยการเข้าไปสัมผัส หรือว่ายน้ำอย่างใกล้ชิด ถือเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง อาจจะทำให้สัตว์ติดเชื้อจากมนุษย์ได้ หรือมนุษย์อาจจะได้รับอันตรายได้

ตามที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชน กรณีนักท่องเที่ยวหลายสิบคนออกว่ายน้ำเล่นกับฉลามวาฬ และสัมผัสที่ตัวฉลามวาฬ บริเวณเกาะเล้าเป็ดเล้าไก่ ต.ปากคลอง อ.ปะทิว จ.ชุมพร เมื่อ 22 เมษายน ที่ผ่านมานั้น

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า กรณีฉลามวาฬที่ปรากฏตัวแก่สายตานักท่องเที่ยวที่มาดำน้ำบริเวณจังหวัดชุมพร ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับบริเวณดังกล่าวซึ่งกลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลหายาก เพราะนั่นแสดงให้เห็นว่าระบบนิเวศของท้องทะเลในพื้นที่ดังกล่าวมีความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากฉลามวาฬจะกินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร โดยจะเข้ามาในระยะชายฝั่งให้นักท่องเที่ยวสามารถพบเห็นได้ ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในฐานะที่มีบทบาทหน้าที่ในการสงวน อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทั้งในเรื่องป่าชายเลน ปะการัง หญ้าทะเล และสัตว์ทะเลหายาก จำพวก วาฬ โลมา พะยูน เต่าทะเล โดยกรมฯ ได้จัดทำโครงการกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดระยะเวลา กว่า 15 ปี ในเรื่องดังกล่าว และต้องขอขอบคุณเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล กลุ่มอนุรักษ์ นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบ ประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากรเหล่านี้ ให้มีความอุดมสมบูรณ์


ฉลาม


ทั้งนี้ การชมฉลามวาฬดังกล่าว ด้วยการเข้าไปสัมผัส หรือว่ายน้ำอย่างใกล้ชิด ถือเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง เพราะการเข้าไปสัมผัสตัวสัตว์ทะเลหายากเหล่านี้โดยตรง อาจจะทำให้สัตว์ติดเชื้อจากมนุษย์ได้ หรือมนุษย์อาจจะได้รับอันตรายได้ ซึ่งแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ที่นักท่องเที่ยวสมควรปฏิบัติกรณีที่พบเห็นสัตว์ทะเลหายาก ได้แก่ ลดความเร็วเรือเมื่อเข้าใกล้ฉลามวาฬในระยะน้อยกว่า 50 เมตร ให้ความเร็วเหลือน้อยกว่า 2 น็อต ไม่จอดเรือขวางฉลามวาฬ เว้นระยะห่างระหว่างเรือกับฉลามวาฬไม่น้อยกว่า 20 เมตร นำเรือเข้าชมทีละลำเพื่อไม่สร้างความเครียดให้กับฉลามวาฬ ถ้าฉลามวาฬเข้ามาใกล้ให้นักดำน้ำลอยตัวอยู่นิ่งๆ ไม่ไล่คุกคามหรือขวางทางว่ายของฉลามวาฬ หากฉลามวาฬพลิกตัวตะแคงข้างใส่กระทันหัน ให้หยุดกิจกรรมที่จะทำให้ฉลามวาฬเครียดเพิ่มขึ้น

สำหรับฉลามวาฬในปัจจุบันมีสถานภาพเป็นสัตว์คุ้มครองตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าปี พ.ศ.2535 ซึ่งตามมาตรา 16 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว ห้ามมิให้ผู้ใดล่าหรือกระทำอันตรายอื่นใด แก่ฉลามวาฬ อันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม��เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อย่างไรก็ตามไม่เพียงเฉพาะพื้นที่ในจังหวัดชุมพร ที่มีฉลามวาฬโผล่ให้นักท่องเที่ยวได้พบเจอ แต่ในกรณีพื้นที่อื่นๆ ที่มีสัตว์ทะเลหายากชนิดอื่น เช่น โลมาสีชมพู ในบริเวณ จังหวัดนครศรีธรรมราช วาฬบรูด้า บริเวณอ่าวไทยรูปตัว ก. โลมาหัวบาตรบริเวณปากแม่น้ำบางปะกง หรือกลุ่มพะยูน ในบริเวณพื้นที่จังหวัดตรัง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งขอให้นักท่องเที่ยวใช้หลักชมสัตว์ทะเลหายากเหล่านี้โดยใช้แนวทางปฏิบัติแบบสากล เช่นเดียวกันเพื่อความปลอดภัยของคนและสัตว์ อธิบดีจตุพร กล่าวทิ้งท้าย.

ขอบคุณภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง