ไม่พบผลการค้นหา
อองซาน ซูจี กับผู้นำทหาร มินอ่องหล่ายน์ ร่วมวงเจรจาสันติภาพกับตัวแทนกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อย แต่การเจรจาไม่คืบหน้า ชี้ติดขัดที่กองทัพตั้งเงื่อนไข ไม่คุยเรื่องการแยกตัว ทั้งต้องการให้กลุ่มติดอาวุธหลอมรวมกองกำลังของตนเองเข้ากับกองทัพ ในขณะที่กลุ่มต่อต้านต้องการอำนาจปกครองตนเอง

รายงานข่าวระบุว่า การเจรจาอย่างเป็นทางการระหว่างตัวแทนรัฐบาลและกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยต่างๆ ของเมียนมาที่ได้ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงมีขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์นีิ้ เป็นจังหวะเดียวกันกับที่ข้อตกลงดังกล่าวมีอายุครบ 3 ปีพอดี สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (13 ต.ค.) อองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมากับ พลเอกอาวุโสมินอ่องหล่ายน์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมาได้เข้าร่วมในการพูดคุยในระดับเตรียมการกับตัวแทน 10 กลุ่มชาติพันธุ์ที่ตกลงหยุดยิงด้วยที่กรุงเนปิดอว์ แต่ที่ประชุมพบว่ายังมีหลายประเด็นที่ยังเป็นข้อแตกต่างที่ไม่สามารถหาจุดลงตัวได้

ซินหัวเน็ตรายงานว่า นับตั้งแต่ที่มีการลงนามในข้อตกลงหยุดยิง ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมโต๊ะพูดคุยกันสามครั้งและสามารถตกลงกันได้ในบางเรื่อง เป้าหมายการเจรจาคือการจัดวางโครงสร้างทางการเมืองของประเทศที่เป็นสหพันธรัฐและเป็นประชาธิปไตย

เว็บข่าวของเรดิโอฟรีเอเชียรายงานว่า ประเด็นที่สองฝ่ายยังเห็นต่างกันมากคือเรื่องการกำหนดชะตากรรมของตนเอง การแยกตัวออกจากสหภาพเมียนมา และการที่กองทัพเมียนมายืนยันต้องการให้มีเพียงกองทัพเดียวของสหภาพเมียนมา โดยกองทัพระบุว่ากองกำลังของกลุ่มต่างๆ ที่ต่อสู้กับรัฐบาลจะต้องหลอมรวมตัวเองเข้ากับกองทัพในปัจจุบัน 

พล.อ.อาวุโสมินอ่องหล่ายน์กล่าวในที่ประชุมว่า เขาต้องการให้กลุ่มต่างๆ ให้คำมั่นเสียก่อนว่าจะไม่พยายามแยกตัวออกจากสหภาพเมียนมาก่อนที่การเจรจาจะบรรลุข้อตกลงกันได้ โดยอ้างว่าความคิดแยกตัวนั้นขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญของประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่กองทัพยกร่างขึ้นเองในปี 2551 ที่ห้ามเรื่องการแบ่งแยกดินแดน ในขณะที่อองซาน ซูจีก็กล่าวในทำนองคล้ายกันว่า สิ่งสำคัญคือทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันสร้างสหภาพโดยที่ไม่พยายามหรือแม้แต่จะคิดแยกตัว

รายงานระบุว่า สิ่งที่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ต้องการคือให้ระบบการเมืองของประเทศเป็นระบบสหพันธรัฐและเป็นประชาธิปไตย และให้มีหลักประกันในรัฐธรรมนูญว่า ชนกลุ่มต่างๆ จะได้อำนาจในการปกครองตนเองระดับหนึ่ง ตัวแทนบางกลุ่มกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า การที่จะให้กลุ่มให้คำมั่นไม่พยายามแยกตัวนั้น รัฐบาลควรจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเพื่อให้ประเทศเป็นสหพันธรัฐที่แท้จริง บ้างระบุว่า รัฐบาลต้องมีข้อเสนอในการต่อรอง ไม่ใช่จะมีเพียงข้อเรียกร้องเท่านั้น

อีกด้านหนึ่งยังมีนักสังเกตการณ์ในเมียนมาที่เรียกร้องให้รัฐบาลนำเอากลุ่มที่ไม่ได้ทำข้อตกลงหยุดยิงเข้าร่วมในการเจรจาด้วย เมื่อสัปดาห์ที่แล้วกองกำลังสหพันธรัฐว้า ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกองกำลังใหญ่ที่สุด และยังเป็นผู้นำของกลุ่มกองกำลังที่ไม่ได้ลงนามในข้อตกลงหยุดยิง ได้เรียกร้องให้นำกลุ่มที่อยู่นอกข้อตกลงเข้าร่วมวงเจรจาด้วย ส่วนโฆษกของกองทัพอาระกัน ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่ไม่ได้ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงด้วยก็กล่าวว่า การเจรจาสันติภาพไม่คืบหน้าเพราะรัฐบาลไม่ยอมดำเนินการเพื่อให้วงเจรจานั้นรวมเอาทุกฝ่ายเข้าไว้บนโต๊ะเดียวกัน เขากล่าวว่าสถานการณ์ของการเจรจาเวลานี้ดูจะมีปัญหาความไม่ชัดเจนว่าใครคือผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ เพราะรัฐบาลคุมทหารไม่ได้ แม้ว่ารัฐบาลอาจจะต้องการเดินหน้า แต่หากทหารไม่ต้องการก็ทำไม่ได้

เรดิโอฟรีเอเชียรายงานว่า อองซาน ซูจี ต้องการให้มีการประชุมกันทุกๆ หกเดือน แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมาสามปีประชุมกันไปได้เพียงสามครั้ง และชี้ว่าการที่ทหารเมียนมายืนยันว่าจะไม่คุยเรื่องการแยกตัวทำให้การประชุมไม่คืบหน้า การเจรจายังได้รับผลกระทบจากปัญหาความรุนแรงที่เกิดในรัฐยะไข่และการสู้รบในรัฐกะฉิ่นและฉาน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางการเมียนมาตั้งเป้าว่าจะให้มีการประชุมอีกสามครั้งภายในสิ้นปีหน้า