นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองประธานกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยว่า ภายในเดือน พ.ย. นี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. จะนำเสนอแผนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ Southern Economic Corridor ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ระนองดูสถานที่จริงแล้ว ขณะที่ สศช. ได้เตรียมการนำเสนอแล้ว
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายเชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย เชื่อมชายฝั่งทะเลอันดามันกับอ่าวไทย รวมถึงเชื่อมกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ด้วย เป็นอีกโครงการเพื่อเปิดประตูสู่ภาคใต้ ซึ่งในโครงการจะมีโครงสร้างพื้นฐาน 3 ด้านหลัก ประกอบด้วย ถนนเลียบชายฝั่งทะเล หรือ ไทยแลนด์ ริเวียร่า, รถไฟทางคู่เชื่อม จ.ชุมพร-ระนอง และท่าเรือระนอง ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฏร์ธานี และนครศรีธรรมราช
"สำหรับวงเงินโครงการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการคำนวณ และคาดว่า ภายในอีก 2 สัปดาห์ น่าจะเปิดเผยได้ อย่างไรก็ตาม โดยคร่าวๆ โครงการหลักๆ เช่น รถไฟทางคู่เส้นชุมพร-ระนอง น่าจะลงทุนหลักหมื่นล้านบาท ท่าเรือระนอง ซึ่งเป็นท่าเรือขนาดเล็ก ก็จะประมาณหลักหมื่นล้านบาท เป็นต้น" นายกอบศักดิ์ กล่าว
โครงการดังกล่าวจะช่วยเชื่อมโยงเส้นทางการค้าจากอีอีซี ผ่านรถไฟทางคู่ไปสู่ท่าเรือระนอง- ท่าเรือเมียนมา ต่อเข้าสู่อินเดีย โดยจะสามารถลดระยะเวลาการขนส่งจาก 12-25 วัน เหลือ 4 วัน และสามารถเชื่อมต่อไปยังศรีลังกา และบังคลาเทศ ทั้งยังจะเป็นการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าจากกลุ่มประเทศในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกสู่มหาสมุทรอินเดีย
สำหรับระยะเวลาในการดำเนินโครงการ คาดว่า น่าจะมีการอนุมัติกรอบคุณสมบัติ หรือ TOR และประมูลกลางปี 2562 ซึ่งน่าจะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลใหม่ และมั่นใจว่า โครงการนี้จะไม่สะดุด เพราะเป็นโครงการที่ให้ประโยชน์ ทำให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งไม่ว่ารัฐบาลใดจะเข้ามาก็น่าจะเดินหน้าต่อ
ขณะเดียวกัน นายกอบศักดิ์ ยังปาฐกถาพิเศษ "จากอีอีซีสู่เศรษฐกิจพิเศษทั่วประเทศ" ในงานสัมมนา Next Step Thailand : EEC ยุทธศาสตร์ไทยเชื่อมโลก ซึ่งจัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ว่าปัจจุบันมี 4 เรื่องที่ต้องต่อสู้ คือ เทคโนโลยีปั่นป่วน (Technology Disruption) สองยักษ์ได้แก่จีนและอินเดียตื่นตัว การแข่งขันเกิดขึ้นอย่างรุนแรง และบุญเก่าของหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยกำลังหมด
"โลกกำลังเปลี่ยน ยักษ์กำลังตื่น และประเทศไทยจะอยู่ตรงไหน เมื่อประเทศไทยไม่ได้ทำอะไรใหม่ๆ มานานแล้ว ทั้งหมดนี้ ยืนยันว่า อีอีซีคือหัวใจของการเปลี่ยนผ่าน" นายกอบศักดิ์ กล่าว
เพราะด้วยนโยบายไทยแลนด์ 4.0 การยกระดับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต การเอาปัญญาเป็นตัวนำ และเอาแรงงานเป็นตัวรอง สิ่งเหล่านี้จะทำให้ประเทศไทยสู้กับความปั่นป่วนของเทคโนโลยีได้ และที่ที่ดีที่สุดคืออาเซียน เพราะเป็นที่ต้อนรับนักลงทุนมากที่สุด น่าอยู่ที่สุด เป็นกลุ่มประเทศที่มีการเจริญเติบโตดี ถ้าเชื่อมโยงกันในกลุ่ม CLMVT (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย) ซึ่งมีประชากร 230 ล้านคน และถ้าเชื่อมกับบังคลาเทศ ศรีลังกาได้ ก็จะมีตลาดที่ใหญ่ มีประชากรรวมกันทั้งหมด 400 ล้านคน
ดังนั้น รัฐบาลจึงมีเป้าหมายเจรจาการค้าเสรี (FTA) กับศรีลังกา และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษา FTA กับบังคลาเทศ เพื่อทำผืนดินนี้เป็นผืนดินเดียวกัน สร้างตลาดที่เป็นหนึ่งเดียวเชื่อมถึงกัน และยังเป็นตลาดใหม่ ที่มีโอกาสทั้งด้านโครงข่ายคมนาคมขนส่ง โครงข่ายพลังงาน โครงข่ายดิจิทัล
"ภายใต้ภาพทั้งหมดนี้ อีอีซี จะเป็นทางเลือกที่สาม อีอีซีจะเป็นหัวใจที่จะส่งไปสู่เส้นเลือดต่างๆ ที่เชื่อมโยงกันอยู่ เพราะที่ผ่านมา 30 ปี เรากินบุญเก่าจากยุคอีสเทิร์น ซีบอร์ด ยุคโชติช่วงชัชวาลมาแล้ว แต่หลังจากนี้อีอีซีเป็นเหมือนเพชรเม็ดงามบนแหวนทองคำที่ประเทศไทยมีอยู่นานแล้ว และถ้าทำได้ ประเทศไทยจะแข่งขันได้ เราจะมีบุญใหม่อีกรอบ เป็นบุญใหม่ที่กินได้อีก 30 ปี " นายกอบศักดิ์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :