ไม่พบผลการค้นหา
พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีผลบังคับใช้ 15 พ.ค.นี้ กำหนดให้ ฉะเชิงเทรา - ชลบุรี - ระยอง เป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ให้มีคณะกรรมการนโยบายโดยมีนายกฯ เป็นประธาน

ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 (อีอีซี) โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันพรุ่งนี้ (15 พ.ค.) เป็นต้นไป สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ ระบุว่า ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางเศรษกิจสูง หากมีการพัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เป็นระบบ และโดยสอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนแล้ว จะทำให้การใช้ที่ดินในภาคตะวันออกเป็นไปอย่างเหมาะสมกับสภาพและศักยภาพของพื้นที่ได้อย่างแท้จริง ทั้งยังจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวม โดยเฉพาะการส่งเสริมให้มีการประกอบพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

แต่กฎหมายปัจจุบันที่ใช้บังคับอยู่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาพื้นที่ตามแนวทางดังกล่าว ไม่มีการวางแผนการบริหารพื้นที่แบบองค์รวม การพัฒนาด้านต่างๆ จึงเป็นไปอย่างแยกส่วนและกระจัดกระจาย ผลของการขาดการบูรณาการดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกได้อย่างเต็มศักยภาพ จึงสมควรกำหนดให้ภาคตะวันออกเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีการวางแผนใช้ประโยชน์ที่ในพื้นที่ชัดเจนแน่นอนโดยเหมาะสมกับสภาพและศักยภาพของพื้นที่ มีการบูรณาการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคให้ต่อเนื่องและเชื่อมโยงกันทั้งในและนอกเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัยระดับนานาชาติที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยและการประกอบกิจการ มีการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร รวมทั้งให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเป็นการเฉพาะ จึงจำเป็นต้องตรากฎหมายนี้

โดยกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดให้พื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง และพื้นที่อื่นใดที่อยู่ในภาคตะวันออกที่กำหนดเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 

นายกฯ เป็นประธาน กก.นโยบายฯ-จัดตั้งสำนักงานรับงบฯ จากสำนักงบฯ โดยตรง

พ.ร.บ.อีอีซีกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งที่นายกฯ มอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ ส่วนกรรมการ ประกอบด้วย รมว.กลาโหม รมว.คลัง รมว.เกษตรและสหกรณ์ รมว.คมนาคม รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รมว.พลังงาน รมว.พาณิชย์ รมว.มหาดไทย รมว.แรงงาน รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รมว.ศึกษาธิการ รมว.สาธารณสุข รมว.อุตสาหกรรม ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทนย ประธานสมาคมธนาคารไทย 

นอกจากนั้นยังให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาร่วมป็นกรรมการจำนวนไม่เกิน 5 คน 

คณะกรรมการนโยบายฯ จะมีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดนโยบายเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ให้ความเห็นชอบแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก แผนการใช้ประโยชน์ในที่ดินในภาพรวม แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภาค ให้ความเห็นชอบแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค ประกาศกำหนดพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ และสิทธิประโยชน์ที่จะให้แก่ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษแต่ละแห่ง

พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น แต่ในกรณีที่รัฐจะจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปหรืองบประมาณอื่นใดให้แก่สำนักงาน ให้สำนักงบประมาณมีหน้าที่จัดสรรเงินงบประมาณให้แก่สำนักงานได้โดยตรง

กำหนดให้สำนักงานมีเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญที่เป็นประโยชน์แก่กิจการของคณะกรรมการนโยบาย มีอายุไม่เกิน 65 ปี ต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต ไม่เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างหน่วยงานของรัฐ ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น โดยมีตำแหน่งตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างไม่เกินคราวละ 4 ปี อาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: