ไม่พบผลการค้นหา
สังคมไทยที่ดูเหมือนอะไรๆ จะหยุดนิ่ง แต่สิ่งแวดล้อมในโลกยุคดิจิทัลและพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้า ไม่มีอะไรที่หยุดยั้งเลย ในยุคของการเปลี่ยนผ่านนี้ สังคม-เศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าไปอย่างไร

ในงานเสวนาสาธารณะทีดีอาร์ไอ ประจำปี 2561 จึงชวนคุยเรื่อง 'ทางเลือก-ทางรอดประเทศไทยในยุคแห่งความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี' บนเวทีเสวนามีทั้งตัวแทนภาครัฐ อาทิ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตัวแทนภาควิชาการ นายเดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภาคเอกชน นายเรืองโรจน์ พูนพล ผู้ก่อตั้ง Disrupt University รวมถึงกองทุน 500TukTuks และ นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด 

แก้กฎหมาย-แก้คนกำกับดูแล-ปั้นคนเปิดใจรับพาไทยทันโลก

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้โลกเปลี่ยนไปเร็วกว่าที่เราคิด และเทคโนโลยีที่เราวาดฝันในอดีต เช่น ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ถ้าย้อนไปในอดีตสัก 30 ปีที่แล้ว ดูเหมือนจะเป็นภาพฝัน แต่สถานการณ์วันนี้สุกงอมและพร้อมออกฤทธิ์ออกผลอย่างชัดเจน 

อย่างที่แจ็ค หม่าเล่าไว้ว่า ธุรกิจในเครืออาลีบาบา ปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้า 6 ล้านคน คนละ 25 ล้านบาท ไม่ใช้พนักงานพิจารณาสินเชื่อสินเชื่อสักคน แต่สิ่งที่เขาใช้คือปัญญาประดิษฐ์ในการประมวลผลข้อมูลเพื่อปล่อยสินเชื่อ ทุกอย่างใช้ AI หมด เพราะปัจจุบันคนจีนจ่ายเงินชำระเงินผ่านอาลีเพย์ ซึ่งทำให้เขามีข้อมูลทุกอย่าง การทำเครดิต สกอร์ สำหรับการพิจารณาสินเชื่อ ก็ประมวลผลจากข้อมูลเหล่านั้นได้ด้วยปัญญาประดิษฐ์ 

หรือที่ญี่ปุ่นมีโรงงานแห่งหนึ่งผลิตแขนกล ทั้งโรงงานมีพนักงาน 200 คน 50 เป็นพนักงานต้อนรับ อีก 150 คนอยู่ในไลน์การผลิต ผลิตแขนกล 3,500 ชุดต่อวัน และเขาบอกว่า ทั่วเอเชียตะวันออกกลางเฉียงใต้ มีความต้องการใช้แขนกลนี้ปีละ 3,500 ชุด นั่นคือเขาผลิตวันเดียวใช้ได้ทั้งปีในภูมิภาคนี้ และเขาใช้แรงงานคนสำหรับการทำงานที่แขนกลทำไม่ได้ เช่น ใส่สายไฟ นอกนั้นใช้แขนกลประกอบและผลิตแขนกล อีกทอดหนึ่ง เป็นต้น

"โลกยุคนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และหลายอย่างที่เคยเป็นความฝัน มันกำลังจะกลายเป็นความจริง กำลังเปลี่ยนแปลงโลกอย่างไม่เป็นมาก่อน ตอนนี้เราอยู่ในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบที่ 4 ดังนั้น เมื่อโลกมันเปลี่ยน สิ่งที่ประเทศไทยต้องทำมี 3 เรื่อง คือ หนึ่ง กฎหมายต้องเปลี่ยน สอง ความสามารถของคนกำกับดูแล ที่ต้องเข้าใจเปิดใจกว้างรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และ สาม มีคนที่ยินดีจะทำให้ประเทศไทยทันโลกด้วย เพราะที่ผ่านมา เราอาจจะปกป้องตัวเองมากกว่าการเสาะหาสิ่งสมดุลเพื่อการก้าวไปข้างหน้า" นายกอบศักดิ์ กล่าว  


กอบศักดิ์ ภูตระกูล.jpg

สำหรับเรื่องกฎหมาย เนื่องจากมีกฎหมายหลายฉบับในประเทศไทยที่เป็นกฎหมายอายุยืนเกินไป บางฉบับอยู่มานานกว่า 60-70 ปี ในยุคที่คนร่างกฎหมายคงไม่รู้จักบิ๊กดาต้า ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องบิน อากาศยานไร้คนขับ แต่วันนี้โลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวันของคนในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา เร็วกว่า 200-300 ปีก่อน ดังนั้น สิ่งแรกที่ต้องทำคือ เปลี่ยนกฎหมายให้ทันสมัย โดยล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการร่างกฎหมายแห่งอนาคต โดยมีนายกอบศักดิ์เป็นประธานคณะกรรมการ เพื่อทำงานด้านนี้  

แต่ถึงจะมีกฎหมายที่ดี ก็จำเป็นต้องมีคนที่มีความสามารถในการทำความเข้าใจและเปิดกว้างสำหรับการกำกับดูแลด้วย เพราะ ถึงกฎหมายจะดีแค่ไหน แต่คนกำกับดูแลคนนำไปปฏิบัติใช้ไม่ปรับตัวรับการความปั่นป่วนนี้ ก็ทำอะไรได้ไม่มาก 

ส่วนในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 มีเรื่องที่ต้องทำรับมือกับความปั่นป่วนของเทคโนโลยี ในเรื่องความมั่นคง ความสามารถในการแข่งขัน และการสร้างคน ประเทศไทยต้องพยายามเปลี่ยนเรื่องคนให้ได้ หากเปลี่ยนคนไม่ได้ เราก็จะถูกเทคโนโลยีปั่น เกิดการ disruption และสุดท้ายต้อง disrupt (ป่วน) ระบบราชการ ตัวอย่าง กรณีน้องแบม ที่ออกมาเปิดเรื่องเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้ เกิดขึ้นได้เพราะสภาพแวดล้อมของเทคโนโลยี สามารถทำให้เรื่องเหล่านี้ออกมาอยู่ในที่สว่างแล้ว ก็ทำให้เกิดการตรวจสอบย้อนกลับได้ 


"ความโปร่งใส และเทคโนโลยีที่มีในปัจจุบัน จะทำให้เกิดสิ่งที่ทำให้ทุกคนจับตามองได้ จะมาทำซุกๆ ซ่อนๆ อย่างอดีตไม่ได้แล้ว" นายกอบศักดิ์ กล่าว


ทุนย้ายเร็ว แต่คนไม่ได้เร็วเท่าทุน

นายเดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เทคโนโลยีของไทยมีการเปลี่ยนแปลงช้าไป และส่วนอื่นๆ ก็เปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยีไม่ทันด้วย รวมถึงแรงงานที่จะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีและ AI เพราะการปรับตัวของทุนและแรงงานไวไม่เท่ากัน ถ้าวันนี้นักลงทุนอยากย้ายฐานการผลิต ก็หอบเงินทุนไปตรงไหนในโลกก็ได้ แต่แรงงานไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอย่างนั้นได้ทันที แรงงานต้องปรับตัวหลายระดับ และต้องใช้เวลาในการปรับตัว

"วงจรชีวิตการพัฒนาเทคโนโลยี จึงเป็นโจทย์ใหม่ของภาคแรงงานไทย ซึ่งอาจจะกระทบต่อคุณภาพชีวิต ดังนั้น เมื่อมองจากมุมเศรษฐศาสตร์ ต้องดูว่า ความจำเพาะเจาะจงของบุคคล เช่น taste (รสนิยม) /Touch (สัมผัส) ซึ่งสร้างได้ในเชิงนโยบาย และการพัฒนาเชิงพื้นที่ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ทำได้ และทำได้ดี รวมถึงสวัสดิการ หากสังคมมีสวัสดิการหนุนหลังที่เพียงพอ ดังนั้น การสร้างความหวังไปพร้อมๆ กัน นอกจากวิ่งตามเทคโนโลยีในต่างประเทศให้ทัน ก็ต้องทำให้พี่น้องประชาชนของเราวิ่งตามให้ทันเทคโนโลยีด้วย" นายเดชรัต กล่าว

อีกด้านหนึ่ง หากจะพาประเทศให้ทัดเทียมเท่าทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีป่วนโลกนี้ ต้องอย่าลืมที่จะดูว่า การเปลี่ยนแปลงมีการกระจุกตัวตรงไหน มากน้อยแค่ไหน การเข้าถึงทุนทางดิจิทัลแพร่กระจายไปไกลแค่ไหนอย่างไร ต้องทำให้เกิดการกระจายตัวของทุน การกระจายตัวของแพลตฟอร์ม  


เดชรัต สุขกำเนิด

อย่าแข่งปั่นสตาร์ทอัพเพิ่มจำนวน แต่ไร้คุณภาพ

นายเรืองโรจน์ พูนผล ผู้ก่อตั้ง Disrupt University รวมถึงกองทุน 500TukTuks กล่าวว่า เรื่องที่น่าห่วงสำหรับสังคมไทยในการปรับตัวรับโลกที่ปั่นป่วนอีกเรื่อง นอกเหนือจากแนวทางการกำกับดูแลแล้วก็คือการปฏิบัติ มีตัวอย่างจากประสบการณ์ตรงของตนเอง เช่น เวลาได้รับเชิญไปบรรยายในสถาบันการศึกษาต่างๆ สิ่งที่อาจารย์ผู้เชิญมักทำคือ เขาจะได้เพิ่ม KPI หรือ ดัชนีวัดความสำเร็จของงานจากการที่เราไปบรรยาย 

หลายครั้งเขาพบว่า ระบบราชการผลักดันให้อาจารย์ทำในเชิงปริมาณ มากกว่าคุณภาพ ให้เขาสร้างนักศึกษาให้เป็นสตาร์ทอัพในเชิงปริมาณ มากกว่าการสร้างในเชิงคุณภาพ เพราะการสร้างสตาร์ทอัพ เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา ต้องสร้างและทำให้อยู่ได้ แล้วเทิร์นหรือสร้างรายได้ได้ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ใช้เวลาเป็นปีๆ แต่ระบบกลับเน้นปริมาณ ซึ่งเรื่องนี้น่าเป็นห่วงมากๆ 


"อยากฝากรัฐบาลคือ อย่าทำให้เยอะ แต่ทำให้น้อย แล้วทำให้สุด อย่าเอาแต่ปริมาณ และโปรดคิดว่า เทคโนโลยีคือเครื่องมือ ภาครัฐควรเป็นผู้อำนวยความสะดวก ไม่ใช่ผู้เล่นหลัก และควรกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นดูแลเองได้" นายเรืองโรจน์ กล่าว


พัฒนาการและความท้าทายของยุคเทคโนโลยีปั่นป่วน

นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมการเมือง และเทคโนโลยีมาคู่กันอยู่แล้ว และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างเดียวก็ไม่ได้บอกอะไรมาก เพราะการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตก็ยังเป็นสิ่งที่รัฐสามารถกำกับควบคุมได้ ดังนั้น เพี��งแต่บอกว่า ประเทศนี้มีผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตจำนวนมาก จึงไม่ได้ใช้คำตอบทั้งหมด    

ส่วนพัฒนาการด้านเทคโนโลยี หรือ เศรษฐกิจดิจิทัล อาจดูจากดัชนีวิวัฒนาการดิจิทัล หรือ Digital Revolution Index ฉบับปี 2560 ได้แบ่ง องค์ประกอบการพัฒนาดิจิทัล ไว้ 4 ด้าน ประกอบด้วย 

  • ซัพพลาย หรือ อุปทาน ซึ่งหมายถึงโครงสร้างพื้นฐาน การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต การมีบรอดแบนด์ต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้ประเทศไทยมีพัฒนาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • ดีมานด์ หรือ อุปสงค์ หมายถึง การเข้าถึงโซเซียลมีเดีย คนในสังคมต้อนรับเทคโนโลยี ซึ่งเรื่องนี้คนไทยก็ติดอันดับต้นๆ คนใช้โซเชียลมีเดียเยอะมาก มีอีคอมเมิร์ซ เกิดขึ้นในทิศทางที่ดี 
  • สภาพแวดล้อม ซึ่งหมายถึงสภาพแวดล้อมการกำกับดูแล การลงทุน ซึ่งตัวนี้อาจมีปัญหาในสังคมไทย เมื่อดูจากกฎหมายหลายๆ ฉบับที่ออกมาในช่วงนี้ เช่น การปรับปรุง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ซึ่งก็นำไปสู่การปิดกั้นเสรีภาพการแสดงความเห็นของประชาชนในหลายด้าน พ.ร.บ. กองทุนดิจิทัล โครงสร้างก็ยังไม่ชัดเจนและมีปัญหาทับซ้อน พ.ร.ก.ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล กฎหมายที่เกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งมีการเก็บภาษีและเก็บหลายช่วง ทั้งที่ประเทศไทยยังไม่มีการเก็บภาษีกำไรจากตลาดหุ้นด้วยซ้ำ ดังนั้น เรื่องนี้มันจึงเป็นปัญหาให้เกิดความลักลั่นได้ 
  • การสร้างนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหมายถึงการสร้างวัฒนธรรมของผู้ประกอบการที่กล้าเสี่ยง แต่ความเสี่ยงเหล่านี้ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ซึ่งระบบราชการและทุนขนาดใหญ่ก็ต้องถูกปั่นป่วนหรือ disrupt จากสิ่งเหล่านี้ด้วย 

ดังนั้น เมื่อโลกมันไร้พรมแดน การเก็บภาษีก็อาจต้องคิดกันใหม่ และต้องคิดให้มาก เพื่อปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ

"โลกเรายังไงสุดท้ายก็อาจไปถึงจุดที่ AI เก่งกว่ามนุษย์ และมันก็คงมีความสามารถเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย เก่งขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำก็ยิ่งเพิ่มขึ้น เพราะจากอดีตถ้าคนจะยกระดับตัวเองจากยากจนมาเป็นชนชั้นกลางก็อาจจะผ่านการศึกษา ผ่านการทำงาน แต่ถ้า AI เข้ามาแทนที่ในงานขั้นแรก ในบันไดขั้นแล้ว ก็น่ากังวลว่าจะมีปัญหาความเหลื่อมล้ำ ดังนั้น การแก้อาจต้องมาเขียนสัญญากัน ต้องมองการกำกับธุรกิจผูกขาดกันใหม่" นางสาวสฤณี กล่าว 

โลกที่ไม่เหมือนเดิม สังคมไทยที่ยังต้องเผชิญความท้าทายภายใต้โครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจยุครัฐบาลทหารเช่นปัจจุบัน จะก้าวทันโลก ระบบราชการ ฝ่ายกำกับดูแลจะรับมือกับความปั่นป่วนนี้ได้ขนาดนั้น ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ใครวิ่งทันปรับตัวไหวก็จะรอด แต่จะหวังพึ่งคนอื่น อาจไม่ทันการณ์และคงไม่มีเวลาเพียงพอ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :