ไม่พบผลการค้นหา
สามจังหวัดภาคใต้นั้นได้ชื่อว่าเป็นดินแดนของตลาดขายของเก่า ในตัวเมืองปัตตานีแห่งเดียวมีตลาดขายของเก่าที่ผู้คนจะวนเวียนเดินได้จนครบเจ็ดวันในหนึ่งสัปดาห์
market5.jpg

เช้าวันอาทิตย์ที่สุดถนนเจริญประดิษฐ์ ส่วนที่ใกล้ทางเข้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จะเป็นจุดที่ทุกคนต้องทำใจว่าต้องพบกับสภาพรถติดแน่นอน เพราะสองฟากถนนที่มีแผงขายสินค้ามือสองเรียงรายรวมทั้งผู้คนที่ขวักไขว่ ตลาดเช้านี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของตลาดรูสะมิแล

สามจังหวัดภาคใต้นั้นได้ชื่อว่าเป็นดินแดนของตลาดขายของเก่า ในตัวเมืองปัตตานีแห่งเดียวมีตลาดขายของเก่าที่ผู้คนจะวนเวียนเดินได้จนครบเจ็ดวันในหนึ่งสัปดาห์ ส่วนตลาดเช้าวันอาทิตย์ที่รูสะมิแลเป็นตลาดใหญ่ที่เข้าถึงง่าย คนเดินซื้อของมีทั้งคนในสามจังหวัดและคนนอกพื้นที่ รวมทั้งที่มาไกลจากกรุงเทพฯเพื่อจะซื้อไปขายต่อก็มี

market2 (1).JPG


AdulPants.jpg

แผงของอดุลย์ มะโซ๊ะ ขายเสื้อผ้ากองใหญ่ที่เป็นกางเกงกีฬาและเสื้อแจ๊กเก็ตใส่เล่นกีฬาที่เรียกกันว่าเสื้อวอร์ม ซึ่งผู้คนในปัตตานีมีแทบจะทุกคนและหลายคนใส่เสมือนเป็นของคู่กายแม้ในวันที่อากาศร้อนจนเหงื่อตก ของที่อยู่ในกองมีหลากหลายยี่ห้อ ทั้งที่ชื่อดังและไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก อดุลย์ไล่เลียงยี่ห้อดังๆ ให้ฟังว่าแบรนด์ไหนได้อันดับใดในบัญชีเสื้อวอร์มยอดนิยม เขารู้ด้วยว่า บางแบรนด์ส่งไปผลิตนอกประเทศ และของที่ผลิตที่ไหนจึงจะได้ราคาดี บางทีของแบรนด์เดียวกันแต่ผลิตคนละที่ก็ยังมีราคาต่างกัน

ของมือสองที่จะถือว่ามีระดับได้ต้องสภาพสมบูรณ์ มียี่ห้อ และเรื่องราวที่มาพร้อมกับสินค้าตัวนั้นๆ ถ้ามองถึงยี่ห้ออย่างเดียวก็เป็นที่รู้กันว่าในยามนี้มีบางแบรนด์ที่แค่เห็นก็รู้ทันทีว่าต้องได้ราคาดี

Adulcap4.png

ลูกค้าเดินเข้าแผงเลือกซื้อเสื้อแจ๊กเก็ตกันไม่ได้หยุด อดุลย์บอกราคาเป็นรายตัวและแตกต่างกันออกไป เขาอธิบายว่ากลไกตลาดทำให้มี 'ราคากลาง' ที่มองไม่เห็นที่คนยึดอาชีพนี้ต้องรู้ พร้อมหยิบเสื้อตัวหนึ่งขึ้นมาให้ดู “แบรนด์นี้ถ้าเป็นคอผจญภัยซักหน่อยจะชอบ ..ปกติก็ขายสองสามร้อย แต่ถ้ามาแบรนด์อย่างนี้ผมก็อัพราคาได้นิดนึง”

ผู้คนในสามจังหวัดเป็นลูกค้าหลักที่นิยมของมือสอง เขาเชื่อว่าความนิยมนี้จะอยู่อีกยาวนาน

“รสนิยมของคนบ้านเรามีตั้งแต่นานมาแล้ว ตั้งแต่ผมเด็กๆ ก็หาซื้อของพวกนี้ พอช่วงหลังๆ พอพูดถึงเกรดของอะไรแบบนี้ มันก็เทียบเท่าของในห้างเหมือนกัน เพียงแต่มันเป็นแค่ของมือสอง คนที่ตาถึง คนที่รู้จักสิ่งของ รู้จักแบรนด์ ก็จะได้ตรงนี้เยอะ” ตัวเขาเองอยู่กับของมือสองมานานจนรู้ว่า ในตลาดมือสองมีของดีซุกซ่อนอยู่ 

“ผมก็รู้ว่าของในนี้มันไม่ธรรมดา แบบว่าได้ของเด็ดๆ สภาพเทียบเท่ากับมือหนึ่ง ในราคาของมือสอง มนต์เสน่ห์มันอยู่ตรงนั้น”

Adul1.jpg

เขาหยิบเสื้อตัวหนึ่งขึ้นมาให้ดู “ถ้ารุ่นนี้ขายไม่ต่ำกว่า 500 ยิ่งถ้ามีโลโก้ติดทีมชาติ โลโก้สโมสร อะไรด้วยราคามันจะยิ่งอัพขึ้น ยิ่งมีประวัติ เช่น เคยได้แชมป์ตรงนั้น ยิ่งผู้เล่นคนดังๆ ได้ใช้ก็จะยิ่งอัพขึ้นไปอีก รายละเอียดตรงนี้เราต้องศึกษา ราคาถึงสาม สี่พัน ก็มี เป็นหมื่นก็มี ราคาเสื้อบอล วันก่อนของโซเวียต เพื่อนขายไปหมื่นกว่า”

อีกอย่างคือความสามารถในการจับกระแสความนิยมในตลาดที่จะต้องเป็นทักษะสำคัญ อดุลย์เคยขายของเก่าประเภทของสะสมมาก่อน แต่เขาเลิกไปเพราะเห็นว่าความต้องการของตลาดในสินค้าประเภทดังกล่าวเริ่มตก หลังจากเดินตลาดและเฝ้าดูผู้คนเขาก็พบว่าสินค้าอย่างเสื้อแจ๊กเก็ตกีฬาหรือเสื้อวอร์มนี้กระแสความนิยมกำลังมา เขาจึงวางมือจากการขายของสะสมหันไปขายเสื้อกีฬาแทน โดยเริ่มด้วยการไปเลือกซื้อของจากพ่อค้าคนอื่นมาไม่กี่ตัวเพื่อทดลองขาย

อดุลย์มีเพื่อนที่เป็นพ่อค้าคนกลางที่ยอมให้เขาเริ่มต้นด้วยการไปคัดเอาของสภาพดีมียี่ห้อเพื่อสร้างแผงให้คนรู้จัก ผลของมันทำให้อดุลย์หันมาขายเสื้อกีฬาอย่างจริงจัง ในวันนี้เขาไม่ได้ขายที่ตลาดเดียว แต่ตระเวนขายไปหลายแห่งและขายทุกวัน แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ยอมยกระดับไปไกลกว่าการขายปลีก เพราะการไปรับซื้อมาขายเป็นกระสอบนั้นต้องใช้กำลังคน ที่สำคัญต้องจัดการกับของที่เหลือจากการคัดด้วย

market1.JPG

โจทย์สำคัญอีกอย่างของคนขายของมือสองคือภาระในการหาที่เก็บของ โดยเฉพาะในยามฟ้าฝนไม่เป็นใจ เสื้อผ้าเก่าที่เปียกชื้นย่อมส่งกลิ่นอับ ของที่สภาพไม่ดีพ่อค้าแม่ค้าจะต้องนำไปซักเสียก่อน ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนเพิ่มเติม บางทีดินฟ้าอากาศไม่อำนวยก็วางของไม่ได้ “เมื่อสองสามปีก่อน อาทิตย์สองอาทิตย์จะไม่ได้ลงเลย ฝนตกหนักมีน้ำท่วม สองปีหลังนี้โอเคหน่อย ฤดูฝนไม่ยาว”

ตลาดของเก่าในปัตตานีนั้นอดุลย์บอกว่าเริ่มจากบางปูซึ่งประมาณยี่สิบปีที่แล้วเป็นแหล่งของการซื้อขายเสื้อผ้ามือสอง แต่เวลานี้ตลาดขยายตัวไปทั่วทั้งสามจังหวัด ในกรุงเทพฯ ตลาดจตุจักรก็เป็นแห่งหนึ่งที่เราจะพบผู้คนจากสามจังหวัดนำของมือสองเหล่านี้ไปวางขายกันในกลุ่มเสื้อผ้าเก่า หลายคนไปขายตั้งแต่ยังพูดไทยได้ไม่กี่คำ

market6.JPG

มาวันนี้ตลาดของมือสองขยายตัวเข้าสู่ตลาดในโซเชียลมีเดีย พ่อค้ารายหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันในหมู่คน 'เล่น' เสื้อวอร์มและเสื้อฝนมียี่ห้อได้เปิด 'ร้าน' ของเขาในเฟซบุ๊ก เขาเน้นของดีมียี่ห้อ หายาก และราคาสูง โซเชียลมีเดียจึงเป็นกลไกที่ทำให้ตลาดของมือสองส่วนหนึ่งเริ่มผันตัวเองเข้าไปสู่อินเทอร์เน็ต มีกลุ่มคนซื้อและขายเริ่มเฉพาะตัว

โซเชียลมีเดียยังช่วยคนขายของมือสองในการแสวงหาความรู้และตรวจสอบกระแสความนิยมตลอดจนประวัติของสินค้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ของในมือให้มีผลดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่ติดใจในของที่มีเรื่องราวขณะที่มีศักยภาพในอันที่จะจ่าย “เมื่อก่อนโซเชียลไม่ขนาดนี้ ความรู้มันหายาก ยุคนี้ความรู้มันไวแล้ว อย่างน้องๆ นักศึกษาก็รู้จักของกันหมดแล้ว เดี๋ยวนี้จะเป็นลูกค้ารุ่นใหม่ๆ ที่เล่นงานแบบนี้ ถ้าเป็นรุ่นเก่าๆ จะไม่รู้จักเลย”

แต่อดุลย์บอกว่า เขายังพึงใจกับการมีแผงเพราะการได้สัมผัสลูกค้าโดยตรงสำหรับเขาแล้วสนุกกว่ากันมาก มันอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขารู้สึกว่างานขายของมือสองคือสิ่งที่เขาต้องการ

“ก่อนหน้านี้เป็นช่างตัดผม เปิดร้านน้ำชา ทำหลายๆ อย่าง ลองงานไปหลายอย่าง ก่อนหน้านั้นก็รับติดตั้งเดินไฟตามบ้าน อันนี้ผมใช้คำว่า ชอบที่สุด เพราะหลงเสน่ห์ของมือสอง ผมชอบที่จะใช้ของมือสอง ซื้อของมือสอง ชีวิตจิตใจผมจะอยู่กับของมือสองตั้งแต่รู้จักซื้อของเอง”

อ่านเพิ่มเติม: