สาการียา เจ๊ะแล๊ะ ค่อยๆ ถอยเรือกอและลำนั้นของเขาออกสู่ลำน้ำช้าๆ เท่าที่เห็น นี่เป็นเรือประมงขนาดกลางลำเดียวที่เป็นเรือกอและ ลวดลายสีสันบนตัวเรือทำให้ผู้คนเหลียวมองด้วยความรู้สึกราวกับว่ากำลังดูงานแสดง แต่ขณะที่ด้านนอกของเรือสะท้อนอัตลักษณ์ดั้งเดิมของมลายูมุสลิม ภายในเรือกลับติดตั้งอุปกรณ์ทันสมัยไม่น้อยหน้าเรือหาปลาทั่วไป ซึ่งทำให้เรือลำนี้ยิ่งแตกต่างไปจากเรือกอและทั่วไปของชาวประมงพื้นบ้านที่นี่
สาการียาบอกว่าเขาสร้างเรือลำนี้ให้ใหญ่กว่าเพื่อน เพราะการหาปลาในสมัยปัจจุบันต้องนำเรือออกทะเลไปไกล เรือจึงต้องใหญ่เพื่อจะได้บรรทุกอุปกรณ์ที่มากขึ้น แต่ที่เขายังยึดโยงกับเรือกอและนั้น เพราะเขาเชื่อในความได้เปรียบของภูมิปัญญาดั้งเดิมอันนี้
“เรือกอและวิ่งเร็วกว่าเรือพาณิชย์เยอะ การทำงานอยู่ที่การแข่งขัน ลักษณะที่ใครเจอปลาเร็ว ทำงานได้เร็ว ทำงานได้ไว.. ถ้ามีลมมีคลื่นก็เก็บของกลับ เข้าไว ออกไว ไม่เหมือนกับเรือพาณิชย์ต้องอยู่ค้าง เจอฝน เจอลม บางทีสองสามวันคลื่นยังไม่หมด ต้องทอดสมอทิ้งนอน แต่ของเราหนีคลื่นไวกว่า”
“เราสร้างเรือใหญ่ก็ต้องหาปลาให้ได้ขนาดกับเรือ ไม่ใช่สร้างเรือใหญ่ไปจับปลาเล็กๆ เราสร้างเรือใหญ่ขึ้นมาเราก็ต้องจับปลาใหญ่ให้มันคุ้มกับราคาที่สร้างเรือมา”
สาการียาฝึกจับปลากับพี่เขยที่มาจากครอบครัวชาวประมง เขาไม่ได้ร่ำเรียนมากเพราะขีดจำกัดของฐานะทางบ้าน มาวันหนึ่งเขาพบว่าเพื่อนร่วมเรียนในวัยเด็กต่างเดินหน้ากันไปไกลในแวดวงวิชาชีพ วันนั้นเขาเริ่มตระหนักถึงพลังของการศึกษาที่มีต่อชีวิตของผู้คน แต่มันก็ค่อนข้างจะสายเสียแล้วสำหรับเขาที่จะกลับไปตั้งต้นใหม่ แต่ความตระหนักรู้อันนั้นกลับกลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้พยายามดิ้นรนเพื่อให้ตนเองมีวิถีชีวิตที่ดีกว่า
เขาต้องการจะหลุดพ้นจากการดำเนินชีวิตแบบเดิมๆ ของคนทำประมงและเป็นลูกจ้าง อาชีพที่มีปัญหารอบด้านเพราะความเป็นประมงรายเล็กที่ได้รับผลกระทบจากการแข่งขัน โดยเฉพาะจากประมงรายใหญ่ ขณะที่สัตว์น้ำร่อยหรอลง
“เดี๋ยวนี้เรือกอและยิ่งน้อยลง เพราะว่าเขาเปลี่ยนอาชีพไปทำงานบนฝั่ง ไปเป็นลูกจ้างเขามั่ง หรือไปมาเลย์เปลี่ยนอาชีพ”
แต่สาการียาไม่ต้องการเช่นนั้น เขาไม่ต้องการย้ายที่อยู่และเปลี่ยนงานเช่นคนอื่นๆ เขายังเชื่อว่าการยึดอาชีพประมงยังเป็นไปได้ เขาเชื่อว่าอาชีพหาปลายังมีอนาคต แต่ต้องพัฒนาเครื่องมือ เรือก็ถือว่าเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการหาปลาที่เขาเชื่อว่าจะต้องพัฒนา
เขาเก็บเงินซื้อไม้ตะเคียนสะสมเป็นเวลาถึงสองปี แล้วจึงสร้างเรือกอและของเขาด้วยตัวเอง โดยสร้างให้มีขนาดใหญ่พอๆ กับเรือประมงขนาดกลาง เป็นก้าวสำคัญของการปรับเปลี่ยน “พัฒนาเครื่องมือจากเรือเล็ก ก็ไปเรือใหญ่ แล้วก็สร้างเครื่องมือให้มันใหญ่ขึ้น คิดง่าย ๆ ก็แข่งกับเรือใหญ่นั่นแหละ”
แม้แต่ลวดลายบนเรือก็มาจากฝีมือตัวเองที่ฝึกปรือนับสิบปี เป็นทักษะอีกอย่างที่เขาเชื่อว่าหากหาปลาไม่ได้สักวันหนึ่งก็ยังสามารถรับจ้างวาดลวดลายเรือกอและได้
การเปลี่ยนแปลงเครื่องมือของสาการียามาจากความเชื่อว่า วิถีในการจับปลาเปลี่ยนไปตามสภาพเงื่อนไขการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของสิ่งแวดล้อม สาการียาชี้ว่า หลายอย่างเปลี่ยนไป แม้แต่ลักษณะของพายุในปัจจุบันก็ไม่เหมือนสมัยก่อน เพราะในปัจจุบัน หลายครั้งพายุมาโดยไม่มีสัญญาณของความแปรปรวนให้รู้ล่วงหน้า แต่ความเปลี่ยนแปลงไม่ได้มีแต่ด้านลบ ในด้านบวกเขาเห็นว่าคนหาปลาในยุคใหม่มีอุปกรณ์ที่ทันสมัยเข้าช่วยชนิดที่สมัยก่อนหาไม่ได้ ในอดีตที่จำนวนปลามีมาก ชาวประมงใช้เครื่องมือธรรมดาในจำนวนที่ไม่มากมาย แต่พวกเขาก็ได้ปลามากพอ ปัจจุบันปลาน้อยลง พวกเขาก็จำเป็นต้องพัฒนาอุปกรณ์ให้สามารถจับปลาได้มากขึ้น
แต่สิ่งที่สำคัญด้วยไม่ใช่เรื่องของเครื่องมืออย่างเดียว แต่ยังต้องรู้ว่าเมื่อใดจะใช้เครื่องมือแบบไหน
“คนรุ่นใหม่ก็ต้องพัฒนาฝีมือให้มันใหม่ ๆ ขึ้นตามลักษณะปลาและลักษณะงานที่เราใช้ จับปลาชนิดนี้ก็ต้องใช้เครื่องมือนี้ จับปลาอีกอย่างใช้เครื่องมืออีกอย่าง มันต้องมีหลายๆ อย่าง” นอกจากนั้นคนจับปลายังต้องมีความรู้ในเรื่องการใช้ชีวิตของสัตว์น้ำในแต่ละฤดูในสภาพของทะเลที่พวกเขาทำงานอยู่
“มันอยู่ที่บางช่วงจังหวะ ต้นปีบางทีปลาก็ดี บางทีหน้าเมษาปลาไม่ค่อยดี ปลาทุกประเภทไม่ค่อยดีในหน้าร้อน เพราะบางทีน้ำมันใส มันไปอยู่น้ำลึก”
สาการียาเห็นว่าสิ่งสำคัญคือเครื่องมือ ทักษะ และประสบการณ์ หากผสมผสานกันได้ลงตัว การจับปลาจะง่ายขึ้นกว่าเดิม ซึ่งหมายความว่า คนทำประมงต้องพัฒนาตัวเองให้มีทักษะที่ตอบโจทย์ความท้าทาย รู้จักพลิกแพลงในเรื่องเครื่องมือ เขาจึงเลือกเครื่องมือด้วยและกำหนดวิธีการทำงานของตัวเอง เขาเลือกใช้เรือกอและที่ขนาดใหญ่กว่าปกติ เพื่อการออกหาปลาในระยะที่ไกลออกไป แต่ด้วยเรือที่คล่องตัวรับสภาพอากาศได้ง่ายและไม่ต้องค้างกลางทะเลแบบเรืออื่น “ของเราใช้จ่ายต่อวันไม่มาก เพราะเราเข้าวัน ออกวัน แต่เรือประมงพาณิชย์ มันต้องค้างกลางทะเล อุปกรณ์และค่าใช้จ่ายมันสูง ได้มาบางทีไม่คุ้ม แล้วการจับปลาแบบนี้บางทีไม่ทำลายทรัพยากร ของพาณิชย์บางทีไปกระทบบ้าง แต่ก็ไม่ทั้งหมด”
การตัดสินใจก้าวออกจากการเป็นลูกจ้างมาเป็นนายตัวเองแถมมีลูกน้องด้วยนั้น สาการียาชี้ว่าต้องอยู่ที่ความกล้าด้วย เพราะ “ผมเดิมไม่มีอะไรซักอย่าง ไม่มีแม้กระทั่งจะซื้อเรือ จะหาเงินมาซื้อเรือยังหาไม่ได้ แรกๆ ที่เริ่มต้นต้องไปกู้ธนาคาร ค่อยๆ เก็บออมไปจ่ายธนาคาร” แต่สิ่งที่ยากลำบากด้วยคือการจับปลาในยุคนี้ก็นับเป็นความท้าทายสำหรับสาการียา
“ผมชอบ อย่างปลาก้อนหนึ่งเราจะทำยังไงให้ได้มาทั้งกลุ่มก้อน มันต้องใช้ความคิด ไม่ใช่เจอปลาแล้วสุ่มสี่สุ่มห้าจับ เคยได้มากสุดเป็นพันๆ กิโล เป็นปลาราคาสูง เช่น ปลาอินทรีย์ ปลาโฉมงาม กิโลละร้อยกว่า ก็ได้สามแสน สี่แสน มันก็เป็นความสามารถเฉพาะตัว บางคนเจอปลาก็จับไม่ได้ ผมต้องหาวิธีการที่หลากหลาย มันเป็นประสบการณ์ ต้องดูน้ำ ดูลม ดูจังหวะปลา เครื่องมือเราพอหรือเปล่ากับจำนวนปลา มันเป็นประสบการณ์ครั้งใหญ่”
สิ่งสำคัญที่เขาตระหนักคือการจับปลาเป็นสิ่งที่ต้องค้นคว้าไม่รู้จบ เขาบอกตัวเองว่า แม้จะไม่ได้เรียนถึงมหาวิทยาลัยอย่างเพื่อนๆ แต่การจับปลาก็คือศาสตร์ที่เขากำลังเรียนอยู่
“มันเป็นประสบการณ์ทั้งชีวิตจากการจับปลา เราค้นหาการจับปลา ต้องศึกษา นี่ก็เป็นเหมือนมหาลัยของเรา.... เราหาความรู้กับใบปริญญาของเราได้ ถึงแม้เราไม่ได้เรียนสูงอย่างเพื่อนๆ จบมาได้เป็นด็อกเตอร์ ได้เป็นนายทหาร นายตำรวจ เราได้แค่นี้ก็ภูมิใจแล้วสำหรับเราแล้ว”
อ่านเพิ่มเติม: