ไม่พบผลการค้นหา
ที่ปัตตานี มีรองเท้ารีไซเคิล....“รองเท้าเก่าจำนวนกว่าแสนข้างที่มาจากการเก็บแค่ 3 เดือนในเกาะแค่เกาะเดียว มันทำให้เข้าใจไม่ยากว่าในมหาสมุทรจะต้องมีขยะจำนวนมาก”
shoes1.JPG

ในห้องโถงโล่งยาวมีเครื่องจักรและอุปกรณ์ขนาดใหญ่กระจายตัวทั่วไป ที่มุมห้องมุมหนึ่งมีถุงบรรจุชิ้นส่วนเล็กๆ ต่างสี 'ดี' ผู้ช่วยของ ดร.ณัฐพงษ์ นิธิอุทัย กอบวัสดุเหล่านั้นขึ้นมาให้ดูพร้อมกับบอกว่า มันคือเศษชิ้นส่วนของรองเท้าขยะที่ถูกนำมาบดเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนจะนำไปรีไซเคิล


recyclecap1.png

เขาโกยวัตถุดิบจากแต่ละกองผสมลงในกะละมังแล้วเอากาวที่ผสมเองราดลงไปก่อนจะคลุกเคล้าจนเข้ากันแล้วเอาเข้าเครื่องอัด สิ่งที่ได้คือแผ่นวัสดุใหม่สีสันสดใสที่จะถูกนำไปตัดในรูปทรงของรองเท้าแตะ เมื่ออัดเข้ากับพื้นยางก็ได้รองเท้ารีไซเคิลยี่ห้อ 'ทะเลจร'

ดร.ณัฐพงษ์ หรืออาจารย์อาร์ม แห่งคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้ริเริ่มโปรเจกต์นี้บอกว่า รองเท้ารีไซเคิลสีสุดชิคนี้เป็นผลงานหลังจากการได้เห็นขยะในปริมาณมาก เขาเริ่มต้นด้วยการไปขอขยะจากกลุ่ม trash hero ที่เก็บมาจากทะเล เขาได้รองเท้าขยะจำนวน 800,000 ตันที่มาจากการเก็บแค่ 3 เดือนในเกาะแค่เกาะเดียว มันทำให้เข้าใจไม่ยากว่าในมหาสมุทรจะต้องมีขยะจำนวนมาก ความรู้นี้ทำให้เขาคิดต้องรณรงค์เพื่อสื่อสารกับสังคม

“ทุกครั้งที่เอารองเท้าไปวางมันก็เป็นเครื่องมือสื่อสารที่ค่อนข้างง่าย ที่คนจะมา..เห้ยนี่มันอะไร มันเยอะขนาดนี้เลยเหรอ เราสามารถบอกให้คนรับรู้ว่าขยะทะเลมันเยอะมาก”


Nattapong.JPG

ในตอนแรกเขาขอทุนจากองค์กรบางองค์กรเพื่อจะหาทางจัดการกับขยะที่ได้มามากมาย แต่เป็นเรื่องยากที่จะขายไอเดียเรื่องขยะในภาวะที่ผู้คนยังไม่ตระหนักเรื่องปัญหาขยะ สุดท้ายเขาตัดสินใจทำเอง แต่เรียกร้องการมีส่วนร่วมจากคนที่ทำงานด้วยมากขึ้น ในกระบวนการผลิตนั้นจึงมีคนหลายกลุ่มมีส่วนร่วมและสนับสนุนในสิ่งที่ตนทำได้ แม้แต่ผู้ผลิตพื้นรองเท้าก็ช่วยด้วยการผลิตให้ในราคาที่หาไม่ได้จากที่อื่น และด้วยการผลิตที่ให้สัดส่วนวัสดุรีไซเคิลสูงเป็นพิเศษ มีกลุ่มผู้หญิงที่ช่วยตกแต่งในขั้นตอนสุดท้ายเพื่อให้มีแพคเกจจิ้งที่สวยงามในถุงผ้าบาติก

เขามีเป้าหมายคือกำไรเท่ากับศูนย์ เพียงแต่เงินที่ได้จากการขายต้องครอบคลุมต้นทุนในการรีไซเคิล ดังนั้นคนขายและคนผลิตจึงได้กันไปคนละครึ่ง นอกจากนี้อาจารย์อาร์มบอกว่าเขาพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้ให้กับใครก็ตามที่อยากจะเรียนรู้ หรือแม้แต่คิดจะทำภายใต้แบรนด์เดียวกัน


shoes.jpg

แต่เมื่อถามว่างานที่ทำนี้จะช่วยทำให้ก้าวหน้าขึ้นหรือไม่ในทางวิชาการ เขาบอกว่าไม่ คนที่อยู่ในการศึกษาจากตะวันตกอย่างอาจารย์อาร์มที่กลับมาทำงานในระบบวิชาการของไทยได้ประสบการณ์หลายอย่างในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาที่ทำให้เขาตระหนักถึงข้อจำกัดของระบบ แต่ก็รับรู้ด้วยเช่นกันว่าภายใต้ข้อจำกัดนั้นมีคนจำนวนมากที่พยายามจะสนับสนุนในช่องทางที่ตัวเองทำได้ มันทำให้เขามีกำลังใจและพร้อมจะประนีประนอมในหลายส่วน

เขาบอกว่าในเชิงรายได้เขาไม่เดือดร้อนมากนักเพราะมีกิจการของตนเอง แต่ทว่านักวิชาการจะก้าวหน้าในอาชีพได้จะต้องมีผลงานทางวิชาการ การที่จะนำงานที่ทำมาปรับให้เป็นงานวิชาการเป็นเรื่องที่ยากลำบากและจนบัดนี้ก็ยังทำไม่ได้ อาจารย์อาร์มปรับวิธีคิดของตัวเอง เขายอมรับว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการจริงๆ และถึงที่สุดเขาก็มองว่าความก้าวหน้าทางวิชาชีพที่พูดๆ กันนั้นมันไม่ใช่ของจริง “มันเป็นสิ่งที่หลอกลวง สร้างมายาคติให้คนที่จริงๆ แล้วทำงานเดิมๆ มีความรู้สึกว่า เกิดความก้าวหน้าขึ้น มันเป็นสิ่งที่คนข้างบนหลอกไว้”

ครั้นเมื่อถามว่ามองเห็นอนาคตบ้างหรือไม่ในเรื่องการลดขยะ อาจารย์อาร์มบอกว่าในภาพใหญ่เขาเห็นว่าเมืองไทยยังตามโลกอยู่อีกหลายก้าวมากนัก แต่ที่ทำมาก็ถือว่ากำลังก้าวไปข้างหน้า ตอนนี้กลุ่มของเขาขยายผลการเก็บขยะมายังปัตตานี และเมื่อผู้คนได้รับรู้เรื่องราวเหล่านี้ เขาก็เริ่มได้ของฝากเป็นรองเท้าขยะจากทะเลจนทำให้บ้านกลายเป็นที่เก็บขยะจำนวนมากไปโดยปริยาย แต่เขาได้อาสาสมัครมาร่วมงาน และขยะที่เก็บก็เริ่มขยายประเภทจากรองเท้าไปเป็นอย่างอื่น ขณะที่ขอบเขตคนที่ทำงานด้วยขยายตัวออกไป มีการรวมกลุ่มและมีความคิดใหม่ๆ อาจารย์อาร์มทำงานกับคนรอบข้าง และแน่นอนว่ารวมไปถึงครอบครัวและลูกที่เขาพาไปเก็บขยะด้วย


recyclecap2.png

“ตอนนี้เราเริ่มสะสมไฟแช็ค แล้วก็ขวดน้ำ ลูกชายผมเขาก็เริ่มมี คือเห็นขวดน้ำเยอะ มันสามารถทำอะไรได้ ผมให้เขาดูคลิปเด็กเล็กๆ ที่เขาทำรีไซเคิลบิสิเนส ผมบอกว่านี่เด็กเขาทำ แล้วเขาก็เก็บขยะทุกสัปดาห์ เขาก็มีขวดเยอะ ตอนนี้เขาไปรับขวดเปล่าที่หน้า ทีเค ปาร์ค อันนี้ก็เป็นโจทย์ให้ผมว่าต่อไปเราอาจจะทำผลิตภัณฑ์อะไรบางอย่างจากขวด”

การเอาของที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่มีจุดเริ่มต้นที่กำหนดเส้นทางของการผลิต อ.อาร์มอธิบายว่า แนวทางอันแรกมองว่าขยะที่ผ่านการใช้งานมาแล้วเมื่อนำกลับมาผลิตใหม่จะต้องคิดให้มากว่าจะทำอย่างไรจึงจะเพิ่มมูลค่าได้ด้วยซึ่งแนวทางนี้เรียกกันว่า 'อัปไซเคิล' แต่ตัว อ.อาร์มเองยังไม่เห็นพ้องกับคอนเซปต์นี้เสียทีเดียว เขาคิดว่าการทำของให้แพงจะทำให้ขายได้น้อย แต่การทำของให้ถูกเพื่อเผยแพร่ความคิดให้กว้างน่าจะช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่า


shoes2.JPG

ความพยายามสื่อสารกับสังคมนี้ฝากความหวังไว้กับผู้คนที่ได้รับสารว่า เมื่อพวกเขาเห็นและตระหนักแล้วจะสร้างความเปลี่ยนแปลงนั้นด้วยตัวเอง อ.อาร์มยืนยันว่าเขาไม่ได้มีอุดมการณ์หรืออุดมคติอันใด แต่เป็นแค่ความรู้สึกว่าต้องการจะ 'รีไฟน์' หรือขัดเกลาตัวเองให้ดีขึ้นในสิ่งที่พอจะทำได้

“ผมมีความเชื่อเสมอว่า คนส่วนใหญ่รู้จักผิด ชอบ ชั่ว ดี แล้วมันก็เป็นเรื่องของการรีไฟน์เม้นท์มากกว่า ผมมีความรู้สึกว่าทางนี้มันดี เราอยากจะทำ.. อะไรที่ยุ่งยากก็ช่างมัน เพราะมันมีของง่าย ๆ ที่ต้องทำอีกเต็มไปหมด”

“อย่างในวันที่ผมจะเก็บขยะ ขยะวางอยู่ที่พื้น คนส่วนใหญ่บอกว่าให้ไปแก้ปัญหาที่จิตสำนึก ผมก็เห็นด้วย แต่ต้องทำยังไง ใครทิ้งยังไม่รู้ แล้ววิธีแก้จิตสำนึกทำยังไง ทำให้เขาเกิดใหม่หรือ คุณจะทำยังไงกับขยะที่ทิ้งอยู่ตรงนี้ ง่ายที่สุดสำหรับผมคือเก็บ.. ผมก็ทำอันนั้นก่อนแค่นั้นเอง มันไม่ได้มีอะไรที่ซับซ้อน เราไม่ได้ทำเพื่ออุดมคติใดๆ แล้วผมก็เรียกร้องให้ทุกคนว่า มีหลายอย่างที่เราสามารถมูฟโลกได้ด้วยอิริยาบถที่โคตรง่าย มันเป็นอะไรที่ทุกคนทำได้หลายอย่าง”

เส้นทางของคนที่จะรณรงค์ในเรื่องที่ถือว่ายังสวนกระแสอยู่มากในขณะที่ยังต้องอยู่ในระบบเช่น ดร.ณัฐพงษ์ จึงดูเหมือนจะต้องการการ 'คิดบวก' ผสานกับความสามารถในการพลิกแพลง ที่สำคัญคือการพร้อมจะประนีประนอมในบางจังหวะก้าว

จะเป็นด้วยเหตุนี้หรือไม่ก็ไม่ชัด แต่ในวันให้สัมภาษณ์ ดร.ณัฐพงษ์ปรากฎตัวในชุดเสื้อยืดกางเกงห้าส่วน สวมหมวกเพื่อกันแดดแต่เท้าเปล่า เมื่อทักว่าเหตุใดไม่ใส่รองเท้า เขาหยุดคิดเล็กน้อยก่อนจะบอกว่า อันที่จริงเขาอยากจะสนับสนุนให้คนไม่ใส่รองเท้า แต่เมื่อชั่งน้ำหนักดูแล้วก็คิดว่า “สนับสนุนให้คนซื้อรองเท้ารีไซเคิลอาจจะง่ายกว่าทำให้พวกเขาเดินเท้าเปล่า”