เวียนมาอีกระลอกสำหรับกระแสข่าวลือ 'รัฐประหาร' ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองร้อน ในการเคลื่อนพลลงถนนทั้งกลุ่มราษฎรหรือผู้คัดค้านการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยเฉพาะการนัดหมายชุมนุมบริเวณหน้าสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ 25 พ.ย. 2563 โดยกองกำลังฝ่ายความมั่นคงได้จัดทัพอย่างน้อย 39 กองร้อยหรือ 58,00 ราย ดูแลความสงบเรียบร้อย ถือเป็นที่น่าจับตาว่าบั้นปลายของเหตุการณ์จะสิ้นสุดอย่าง และจะลงเอยด้วยการเพิ่มสถิติรัฐประหารหรือชัยชนะของราษฎร
แม้ว่า พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ตัวแปรสำคัญในการยึดอำนาจ ออกมาดับข่าวลือว่าเป็นเพียงเฟกนิวส์ ปลุกปั่นหลอกหลวงประชาชน พร้อมฝากเตือนให้ประชาชนเสพข่าวอย่างมีสติ และตรวจสอบให้รอบครอบ
ขณะที่แกนนำคนสำคัญของคณะราษฎร 2563 หลายคน อย่าง 'อานนท์ นำภา' ได้ประกาศผ่านเฟซบุ๊กว่า ถ้าทหารร่วมมือกันฉีกรัฐธรรมนูญ จะนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญเพื่อคนเท่ากัน
ขณะที่เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ระบุข้อความว่า หากเกิดรัฐประหารขอให้ประชาชนนำรถทุกคันออกมากีดขวางกองกำลังทหารทุกแยก นี่คือการต้านอย่างสันติ
ทว่าในโลกทวิตเตอร์ได้ปรากฎความเคลื่อนไหวรับกระแสดังกล่าว ก่อนเกิดแฮชแท็ก #ต่อต้านรัฐประหาร ทะยานสู่อันดับ 1 บนเทรนด์ทวิตเตอร์ไทย จากผู้รีข้อความกว่า 300,000 ทวิต ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์หากมีการยึดอำนาจสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนจะเป็นเช่นไร
ขณะเดียวกันได้มีผู้นำภาพอินโฟกราฟฟิค 'คู่มือต้านรัฐประหารอย่างเป็นระบบ' ซึ่งเคยถูกเผยแพร่ก่อนการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเป็นผู้นำการยึดอำนาจ ภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้วยการยึดหลักสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง ตามหลักป้องกันต่อต้านและฟื้นฟู
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง