ไม่พบผลการค้นหา
กระแส 'ขวาจัด' และ 'อิงเผด็จการ' เบ่งบานในหลายประเทศทั่วโลกช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้คณะนักวิจัยอ้างอิง 'ทฤษฎีความซับซ้อน' ค้นหาสาเหตุที่ทำให้ความนิยมในระบอบประชาธิปไตยถดถอยลง

ต้นปีที่ผ่านมา ดิอีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (EIU) เผยแพร่ดัชนีประชาธิปไตย ปี 2017 บ่งชี้ว่าสถานการณ์ด้านประชาธิปไตยในหลายประเทศทั่วโลกประสบภาวะถดถอยลง ไม่เว้นแม้แต่ประเทศแถบตะวันตกที่เคยเป็นต้นแบบประชาธิปไตย เห็นได้จากการที่พรรคการเมืองหรือรัฐบาลที่มีแนวคิดอำนาจนิยมหรือชาตินิยมสุดโต่ง ได้รับความสนับสนุนเพิ่มขึ้นในหลายประเทศแทบจะทุกภูมิภาค

คณะนักวิจัยจากสหสาขาวิชาของมหาวิทยาลัยในตะวันตกจึงรวบรวมข้อมูลสถานการณ์ด้านประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยใช้ 'ทฤษฎีความซับซ้อน' อธิบายความเชื่อมโยงอันซับซ้อนของสังคมและสภาพการเมือง นำไปสู่การวิเคราะห์และประเมินผลว่าอะไรที่เป็นสาเหตุสำคัญให้ประชาธิปไตยทั่วโลกถดถอยลง และบทสรุปงานวิจัยซึ่งใช้ชื่อว่า Stability of democracies: a complex systems perspective ถูกเผยแพร่ในวารสาร European Journal of Physics หรือ EJP เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา 

'ดร.แคโรไลน์ ไวส์เนอร์' นักคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบริสทอล ซึ่งเป็นผู้นำการวิจัยครั้งนี้ ระบุว่า ประเทศแถบตะวันตกมีความคุ้นเคยและอยู่กับระบอบประชาธิปไตยมาตลอด 50-60 ปีที่ผ่านมา แต่เวลาที่เปลี่ยนผ่าน ทำให้พลเมืองในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเริ่มไม่พึงพอใจในสถาบันหลักของตน และต้องการละทิ้งสถาบันและบรรทัดฐานซึ่งเคยเป็นหลักของประชาธิปไตย ทั้งยังมองเห็นว่าระบอบอื่นอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า แม้ว่าทางเลือกนั้นจะค่อนไปในรูปแบบอำนาจนิยมก็ตาม

ไวส์เนอร์ยกตัวอย่างกรณีรัฐบาลฮังการีและโปแลนด์ที่ชนะการเลือกตั้ง แต่กลับสนับสนุนนโยบายแทรกแซงเสรีภาพสื่อและสถาบันยุติธรรม รวมถึงองค์กรอิสระอื่นๆ ในประเทศตน สะท้อนว่าสังคมโลกอาจต้องพิจารณาทบทวนว่าเพราะเหตุใดผู้คนในสังคมประชาธิปไตยจึงให้คุณค่ากับแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยน้อยลง

  • ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ บั่นทอนความเชื่อมั่นในประชาธิปไตย

ผลวิจัยระบุว่าเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้คนในสังคมไม่พอใจระบอบประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น คือ 'ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ' เนื่องจากสังคมที่สนับสนุนสิทธิและเสรีภาพจะมีการแข่งขันในด้านต่างๆ อย่างเสรี แต่บุคคลที่จะมีอำนาจชี้ขาดหรือมีอิทธิพลต่อการโน้มน้าวสถาบันต่างๆ ซึ่งมีหน้าที่กำหนดนโยบายบริหารประเทศ คือ ผู้ที่มีต้นทุนหรือมีโอกาสทางเศรษฐกิจมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคม 

เมื่อความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจทำให้เกิดช่องว่างทางสังคมและความเป็นอยู่ จึงนำไปสู่ความขัดแย้งและความแตกแยกระหว่างกลุ่มประชากร จนนำไปสู่ความไม่เชื่อมั่นในหลักการประชาธิปไตย และการปล่อยให้ผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจกำหนดทิศทางด้านต่างๆ ในสังคม ก็จะนำไปสู่การปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน

  • เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ 'มากเกินไป' ทำให้สังคมแตกแยก

'เฮนรี ฟาร์เรล' ศาสตราจารย์จากสหรัฐฯ ซึ่งร่วมการวิจัยในครั้งนี้ด้วย ระบุว่าสื่อกระแสหลักของสหรัฐฯ ซึ่งมีสิทธิและเสรีภาพในการรายงานข่าวและการแสดงความคิดเห็นมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยคุกคามประชาธิปไตย

โดยเขาได้ยกตัวอย่างบทบาทของ 'ทอล์กเรดิโอ' และ 'ฟ็อกซ์นิวส์' สื่อที่สนับสนุนแนวคิดอนุรักษนิยม ชาตินิยม และอำนาจนิยมในสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคมอเมริกัน 

http://graphics.eiu.com/upload/topic-pages/democracy-index-2017/Democracy-map-website.gif

(ดัชนีประชาธิปไตยของ EIU ที่เผยแพร่ต้นปี 2561 บ่งชี้ว่าไทยติดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการปกครองแบบ 'ลูกผสม' แต่ยังไม่ถึงขั้นเผด็จการเต็มรูปแบบ)

ฟาร์เรลระบุว่า สื่อเหล่านี้มักนำเสนอข้อมูลสุดโต่งและตอกย้ำความเชื่อว่าถ้าหากกลุ่มผู้ที่เห็นต่างจากฝ่ายตนมีอำนาจบริหารประเทศ จะนำไปสู่สถานการณ์อันเลวร้าย ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ละเลยและไม่สนใจหลักการด้านประชาธิปไตย โดยผู้ที่เห็นชอบบทบาทของสื่อเหล่านี้มักต้องการเพียงแค่ชุดข้อมูลที่สนับสนุนความเชื่อของตัวเองเท่านั้น แต่ไม่ได้ต้องการข้อเท็จจริงหรือการสะท้อนสภาพความหลากหลายของสังคมที่ตัวเองอยู่

ผลวิจัยย้ำด้วยว่า การยอมรับและเคารพในความแตกต่างหลากหลายทางความคิดและความเชื่อของคนในสังคม เป็นหลักการที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตย ทั้งยังเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ประชาธิปไตยมีเสถียรภาพและเอื้อต่อประชาชนโดยรวม แต่การปล่อยให้มีการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นสุดโต่งมากเกินไป ก็ไม่เป็นผลต่อดีประชาธิปไตยเช่นกัน

  • การผลิตซ้ำ 'วาทกรรมบิดเบือน' ผ่านสื่อ ทำให้แนวคิดสุดโต่งเป็นเรื่องปกติ

'สเตฟาน ลิววันดาวสกี' ศาสตราจารย์สาขาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยบริสทอล อีกผู้หนึ่งที่ร่วมในคณะวิจัย ระบุว่า การดำรงอยู่ของระบอบประชาธิปไตย ขึ้นอยู่กับบรรทัดฐานทางสังคม รวมถึงกฎกติกา และพฤติกรรมความคาดหวังของผู้คนในสังคม ทำให้กระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยามีผลต่อความมั่นคงของประชาธิปไตยอย่างไม่มีทางเลี่ยง และ 'เครือข่ายสังคมออนไลน์' เป็นกลไกหนึ่งที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนหรือส่งผลกระทบต่างๆ ต่อระบอบประชาธิปไตย

การผลิตซ้ำความคิดเห็นหรือวาทกรรมสุดโต่งบิดเบือนหลักการประชาธิปไตยในสื่อสังคมออนไลน์ มีผลต่อการกำหนด 'บรรทัดฐานใหม่' ในสังคม โดยเขายกตัวอย่างว่า แนวคิดที่ดูแปลกประหลาดและไม่เป็นเหตุเป็นผล แต่มีคนเชื่อหรือสนับสนุนจำนวนมาก จะกดดันหรือบิดเบือนให้คนอื่นๆ ที่เหลือในสังคมเชื่อว่านั่นคือประชามติของคนส่วนใหญ่ ทั้งที่ในความเป็นจริงอาจเป็นเพียงการถูกชักจูงให้เชื่อตามกันโดยปราศจากการไต่ตรองรอบด้าน 

ลิววันดาวสกีระบุว่า ความคิดเห็นบางอย่างอาจฟังดูไม่น่าเชื่อถือเลย แต่ถ้ามีคนแชร์ข้อมูลดังกล่าวในเฟซบุ๊กประมาณ 1,000 ล้านคนทั่วโลก ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะก่อให้เกิดความรู้สึกร่วมกันว่าเรื่องดังกล่าว 'มีความชอบธรรม' เพียงพอ และการยอมรับข้อมูลบิดเบือนในแต่ละสังคมมีผลเชื่อมโยงถึงกันทั่วโลก

คณะนักวิจัยได้ยกตัวอย่างผลการลงประชามติแยกตัวสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป หรือ 'เบร็กซิต' ซึ่งแม้จะมีคนจำนวนมากออกเสียงให้อังกฤษแยกจากสหภาพยุโรปเมื่อปี 2559 ตามการรณรงค์และโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายชาตินิยมสุดโต่ง แต่เมื่อมีการเผยแพร่ข้อมูลเพิ่มเติมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากอังกฤษแยกจากสหภาพยุโรปจริงๆ ก็ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้จัดการลงประชามติครั้งใหม่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

AP-เบร็กซิต-เบรกซิท-Brexit-อังกฤษ-อียู-ถอนตัว-สหภาพยุโรป

ความซับซ้อนทางสังคมส่งผลต่อประชาธิปไตย

บทสรุปของงานวิจัยชิ้นนี้ ยืนยันว่า กลไกที่จะทำให้ประชาธิปไตยมั่นคงและมีเสถียรภาพ เช่น การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กำลังถูกคุกคามจากกระแสสนับสนุนแนวคิดสุดโต่งและเผด็จการอำนาจนิยมทั่วโลก เห็นได้จากที่รัฐบาลหลายประเทศ พยายามคุกคามหรือปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของฝ่ายประชาธิปไตย หรือพุ่งเป้าโจมตีผู้เห็นต่างจากเสียงส่วนใหญ่ที่สนับสนุนวาทกรรมบิดเบือนหรือสุดโต่ง ทำให้สังคมไม่มีโอกาสที่จะถกเถียงหรือพิจารณาข้อมูลในประเด็นต่างๆ อย่างรอบด้าน 

การรับข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์ที่มีระบบคัดกรองเฉพาะชุดความคิดเห็นที่สอดคล้องกับเรื่องที่ปัจเจกบุคคลเชื่อมั่นหรือยึดมั่น ก็ยิ่งทำให้ความเป็นประชาธิปไตยอ่อนแอลง เพราะทำให้ผู้คนไม่รับฟังการถกเถียงจากผู้ที่เห็นต่าง ขณะที่โครงสร้างองค์กรหรือสถาบันหลักในแต่ละประเทศ ซึ่งแม้จะมีประวัติศาสตร์หรือรากฐานอันยาวนาน แต่ก็ไม่สามารถปกป้องหลักการด้านประชาธิปไตยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากนัก

คณะนักวิจัยสรุปว่าจะต้องมีการศึกษาวิจัยเชิงปริมาณและเชิงวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม เพราะเห็นได้ชัดว่าความซับซ้อนทางสังคมมีผลต่อความมั่นคงของประชาธิปไตย โดยต้องคำนึงถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น ความขัดแย้งของผู้คนกลุ่มต่างๆ ที่มีผลต่อความเปลี่ยนแปลงของสถาบันเชิงโครงสร้างในสังคม 

ส่วนคณะนักวิจัยที่เข้าร่วมศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลในครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ปรัชญา และจิตวิทยา พร้อมอ้างอิงข้อมูลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประชาธิปไตยกว่า 1,500 ชิ้นทั่วโลกที่ตีพิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่ปี 1970-2010 

ที่มา: The Economist/ IOP Science/ Motherboard

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: