ไม่พบผลการค้นหา
ผู้นำเกาหลีใต้ร่วมพิธีรำลึกวันครบรอบ 39 ปี เหตุการณ์สังหารหมู่ผู้ชุมนุมฝ่ายประชาธิปไตยที่เมืองกวางจู พร้อมเตือนฝ่ายหนุนกองทัพ "อย่าบิดเบือนข้อเท็จจริง" หลัง ส.ส.พรรคฝ่ายค้านโบ้ย 'ทหารเกาหลีเหนือ' แฝงตัวเข้าสังหารประชาชน และผู้ชุมนุม 'ยิงกันเอง'

มุนแจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ พร้อมด้วยครอบครัวผู้เสียชีวิตและนักกิจกรรมฝ่ายหนุนประชาธิปไตยราว 5,000 คน รวมตัวกันที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติเมืองกวางจู ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาหลีใต้ วันนี้ (18 พ.ค. 2562) เพื่อรำลึกถึงวันครบรอบ 39 ปีที่ประชาชน 164 รายถูกยิงเสียชีวิตจากการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปี ค.ศ.1980

โคเรียเฮรัลด์รายงานว่า ก่อนพิธีรำลึกจะเริ่มขึ้น ได้มีการชุมนุมต่อต้าน 'ฮวางคโยอัน' หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน LKP สายอนุรักษนิยม ซึ่งพยายามจะเข้าร่วมพิธีในครั้งนี้ด้วย แต่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สังหารณ์หมู่เมื่อเดือนพฤษภาคม 1980 รวมถึงนักกิจกรรมฝ่ายประชาธิปไตย ไม่อนุญาตให้ฮวางเข้ามาร่วมพิธี พร้อมเรียกร้องให้เขาแสดงความรับผิดชอบอย่างจริงจังและจริงใจกว่านี้ เนื่องจากต้นปีที่ผ่านมา ส.ส.ของพรรคแอลเคพี 3 ราย ได้แถลงต่อสาธารณะว่า ทหารของอดีตนายพลชอนดูฮวาน ซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลขณะที่เกิดเหตุสังหารณ์หมู่กวางจูนั้น "ไม่ได้เป็นผู้กราดยิงประชาชน"

นอกจากนี้ ส.ส.พรรคแอลเคพียังเรียกผู้ชุมนุมฝ่ายประชาธิปไตยที่เสียชีวิตในเมืองกวางจูเมื่อ 39 ปีที่แล้วว่าเป็น 'ผู้ใช้ความรุนแรงในการก่อเหตุจลาจล' ทั้งยังอ้างทฤษฎีของนักวิชาการฝ่ายสนับสนุนกองทัพที่ระบุว่า ผู้ก่อเหตุกราดยิงคนเสียชีวิตที่เมืองกวางจู คือ 'ทหารเกาหลีเหนือ' ที่แฝงตัวเข้ามา และประชาชนจำนวนหนึ่งเสียชีวิตเพราะ "ถูกพวกเดียวกันเองยิง" ทำให้ครอบครัวและญาติมิตรของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าวไม่พอใจอย่างรุนแรง ทำให้ ส.ส. ทั้งสามรายต้องออกมาแถลงขอโทษต่อสาธารณชนในภายหลัง 

AP-มุนแจอิน-เกาหลีใต้-Moon Jae In
  • ประธานาธิบดีเกาหลีใต้เรียกร้องให้ยุติข้อถกเถียงเรื่อง 'ทหารเกาหลีเหนือ' เป็นผู้สังหารผู้ชุมนุมที่กวางจู

ด้วยเหตุนี้ ปธน.มุนแจอิน จึงกล่าวปราศรัยในพิธีรำลึกวันครบรอบ 39 ปีการต่อสู้ของขบวนการประชาธิปไตยกวางจูในวันนี้ว่า การถกเถียงเรื่องข้อเท็จจริงในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 1980 ในสังคมเกาหลีใต้เป็นเรื่องเสียเวลาและควรจะยุติได้แล้ว เพราะข้อเท็จจริงจะต้องไม่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะมองจากฝั่งเสรีนิยมหรืออนุรักษนิยม และมุนย้ำว่า ประชาชนรุ่นหลังติดค้างต่อกลุ่มผู้ชุมนุมที่เสียชีวิตไปแล้วทั้งหมด ส่วนผู้ที่ยังมีข้อโต้แย้งในเรื่องนี้อาจจะถูกจัดอยู่ในฝั่งที่สนับสนุนผู้ก่อเหตุสังหารหมู่เสียเอง

ปธน.มุนระบุเพิ่มเติม สิ่งที่คณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์สังหารหมู่เดือนพฤษภาฯ จะต้องเดินหน้ารวบรวมเพื่อให้เกิดความกระจ่างต่อไป ได้แก่ การเปิดเผยให้ชัดเจนว่าผู้มีอำนาจคนใดในยุคนั้นที่เป็นคนออกคำสั่งให้ทหารกราดยิงประชาชนจนเสียชีวิตเกือบสองร้อยคน ทั้งยังต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าผู้ก่อเหตุล่วงละเมิดทางเพศผู้ชุมนุมในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมเป็นใคร รวมถึงต้องระบุตัวตนของผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายให้ได้ครบถ้วน


วาทกรรม 'โกหกบิดเบือน' อาจทำให้คนรุ่นหลังลืมเลือนประวัติศาสตร์

โคเรียเฮรัลด์ สื่อเกาหลีใต้ รายงานว่า อดีต ปธน.ชอนดูฮวาน ยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ และหลังจากที่เขาพ้นตำแหน่งผู้นำรัฐบาลทหารได้ไม่นาน ได้มีการนำตัวเขาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในปี 1995 เพื่อเอาผิดต่อเขาและผู้เกี่ยวข้อง ทั้งที่ก่อรัฐประหารและมีส่วนร่วมในการปราบปรามการก่อจลาจลต่างๆ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก รวมถึงกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตและรับเงินสินบน 

AFP-อดีตประธานาธิบดีโนแทอู Roh Tae Woo (กลาง) และชอนดูฮวาน Chun Doo Hwan แห่งเกาหลีใต้ ถูกพิจารณาคดีสังหารหมู่กวางจู.jpg
  • ชอนดูฮวาน (ขวา) ถูกเบิกตัวขึ้นศาลพร้อมโนแทอู (กลาง) อดีตประธานาธิบดีที่ดำรงตำแหน่งต่อจากเขา

ในปี 1996 ศาลสูงในกรุงโซลของเกาหลีใต้ตัดสินว่าชอนดูฮวานมีความผิดจริง และตัดสินประหารชีวิต แต่เขาถูกคุมขังในเรือนจำเพียง 250 วันก็ได้รับอภัยโทษจาก 'คิมยองซัม' ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ที่ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น เพื่อเป็นการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ในสังคม

นักประวัติศาสตร์บางรายมองว่า บทลงโทษที่เบาเกินไป และการที่ชอนดูฮวานไม่เคยแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สังหารหมู่เดือนพฤษภาคม 1980 เลย ทำให้บาดแผลของผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ได้รับการเยียวยาอย่างแท้จริง และการไต่สวนข้อเท็จจริงในเวลาหลายทศวรรษหลังเกิดเหตุ ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว 'ปฏิเสธข้อเท็จจริง' โดยเฉพาะกลุ่มผู้สนับสนุนกองทัพ และกลุ่มคนที่เคยได้รับประโยชน์จากอดีตรัฐบาลชอนดูฮวาน

นอกจากนี้ โคเรียไทม์สรายงานว่า เมื่อปี 2017 ชอนดูฮวานยังได้กล่าวประณามบาทหลวงโชยองเด หลานของบาทหลวงโชบีโอ อดีตพยานในการพิจารณาความผิดของชอนดูฮวานเมื่อปี 1996 ว่าเป็น 'คนโกหก' เพราะชอนดูฮวานปฏิเสธว่า เขาไม่ได้เป็นคนออกคำสั่งให้ทหารฝ่ายอารักขาประธานาธิบดีกราดยิงผู้ชุมนุมจากเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพในเดือนพฤษภาคม 1980 แต่บาทหลวงโชบีโอยืนยันว่าเขาเห็นเหตุการณ์ที่ทหารบนเฮลิคอปเตอร์กราดยิงคนที่ชุมนุมกันอยู่บนถนนด้วยตัวเอง และคำให้การของเขาได้รับการสนับสนุนจากพยานอีกหลายปาก 

การกล่าวประณามบาทหลวงโชบีโอผู้เป็นลุง ทำให้บาทหลวงโชยองเดตัดสินใจฟ้องหมิ่นประมาทชอนดูฮวาน และมีการเรียกตัวพยานผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์สังหารหมู่เดือนพฤษภาคม 1980 มาให้การอีกครั้งหนึ่ง โดยเมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา ศาลในเมืองกวางจูของเกาหลีใต้สั่งเบิกตัว 'คิมยงจาง' อดีตทหารหน่วยข่าวกรองชาวเกาหลีใต้ซึ่งเคยทำงานให้กับกองทัพสหรัฐฯ ประจำกวางจูช่วงเกิดเหตุชุมนุม เพื่อให้ปากคำเพิ่มเติม

AFP-ชาวเมืองกวางจูและนักประชาธิปไตยคัดค้านการอภัยโทษอดีตประธานาธิบดีชอนดูฮวานคดีสังหารหมู่กวางจู.jpg
  • ผู้ชุมนุมต่อต้านการอภัยโทษอดีตประธานาธิบดีชอนดูฮวานเมื่อปี 1997

ฮันคโยเรห์ สื่อการเมืองของเกาหลีใต้ รายงานอ้างอิงคำให้การของคิมยงจาง ระบุว่า ทหารหน่วยพิเศษที่เป็นฝ่ายอารักขาอดีตประธานาธิบดีชอนดูฮวาน เป็นผู้ทำเรื่องเบิกเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพ ช่วงสายวันที่ 22 พ.ค. ซึ่งเป็นวันที่เกิดเหตุกราดยิงผู้ชุมนุม และเขายังได้รับรายงานจากแหล่งข่าวในกองทัพเกาหลีใต้เวลานั้นด้วยว่า ปธน. ชอนดูฮวานเดินทางมายังกวางจูในวันเกิดเหตุด้วย จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าเขาคือผู้ออกคำสั่งให้ใช้กำลังอาวุธสลายการชุมนุมครั้งนั้น

นอกจากนี้ คิมยงจางยังระบุด้วยว่า กองทัพสหรัฐฯ ประจำเกาหลีใต้บันทึกความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษา และเขาได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าวว่า ทหารนอกเครื่องแบบของชอนดูฮวานจำนวนหนึ่งถูกส่งไปแฝงตัวในกลุ่มผู้ชุมนุมในเมืองกวางจู เขาจึงแย้งว่า ทฤษฎีเรื่องทหารเกาหลีเหนือเป็นผู้ก่อเหตุสังหารหมู่ผู้ชุมนุมนั้น "ไม่น่าเป็นไปได้" เพราะไม่มีทางที่ทหารเกาหลีเหนือหลายสิบนาย จะลักลอบแฝงตัวเข้ามายังกวางจูได้โดยที่กองทัพสหรัฐฯ ไม่ทราบความเคลื่อนไหว เช่นเดียวกับที่กองทัพเกาหลีใต้ ซึ่งยังไม่ประกาศยุติสงครามกับกองทัพเกาหลีเหนือ จะยอมปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้น


ลำดับเหตุการณ์ 'ชอนดูฮวาน' ขึ้นสู่อำนาจ

26 ต.ค. 1979 - นายพลพักชองฮี ผู้นำเผด็จการเกาหลีใต้ ถูกลอบสังหาร 

12 ธ.ค. 1979 - นายพลชอนดูฮวานก่อรัฐประหารยึดอำนาจในการปกครองประเทศ 

17 พ.ค. 1980 - นายพลชอนดูฮวานประกาศขยายเวลาบังคับใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ

18 พ.ค. 1980 - นักเรียน นักศึกษา และประชาชนในเมืองกวางจู ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโซลไปประมาณ 330 กิโลเมตร รวมตัวกันเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตย และการชุมนุมยืดเยื้อเป็นเวลา 9 วัน โดยมีการยิงสังหารหมู่ผู้ชุมนุมในช่วงสายวันที่ 22 พ.ค. ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 164 ราย

ก.ย. 1980 - นายพลชอนดูฮวานได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีเกาหลีใต้ แต่เป็นการเลือกตั้งภายใต้กฎอัยการศึกและมีการปราบปรามผู้เห็นต่างจากรัฐบาลอย่างเข้มงวดจริงจัง ทำให้การไต่สวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์สังหารหมู่ที่เมืองกวางจูไม่เคยเกิดขึ้น ทั้งยังมีคำสั่งปิดกั้นสื่อไม่ให้รายงานข่าว

ชอนดูฮวานอยู่ในอำนาจกว่า 7 ปี ก่อนก้าวลงจากตำแหน่งเพื่อเปิดทางให้ 'โนแทอู' ทายาททางการเมืองของตนเองลงสมัครเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยต่อมา ซึ่งผลปรากฏว่าโนแทอูก็ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง

จนกระทั่งปี 1995-1996 อดีต ปธน.ชอนดูฮวานและโนแทอู ถูกตั้งข้อหาหลายกระทง และถูกตัดสินความผิด พร้อมบทลงโทษประหารชีวิต แต่ก็ได้รับอภัยโทษในปีต่อมา

เมื่อ 'มุนแจอิน' อดีตนักเคลื่อนไหวทางสังคมได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีเกาหลีใต้เมื่อปี 2017 เขาได้สั่งให้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง และรื้อฟื้นคดีสังหารหมู่ประชาชนที่กวางจูขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความกระจ่างและนำตัวผู้เกี่ยวข้องมารับโทษ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: