ดิ อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนต์ ยูนิต บริษัทวิจัยในเครือนิตยสาร The Economist ออกรายงานชื่อ Democracy Index 2017: Free Speech under Attack ประมวลสถานการณ์ของระบอบประชาธิปไตย และเสรีภาพของสื่อมวลชนทั่วโลกในรอบปีที่ผ่านมา
ในส่วนของสถานการณ์ประชาธิปไตย รายงานได้วัดประเมินระดับของประชาธิปไตยในประเทศต่างๆด้วยตัวชี้วัด 5 ตัว คือ พหุนิยมและกระบวนการเลือกตั้ง การทำหน้าที่ของรัฐบาล การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน วัฒนธรรมทางการเมือง และเสรีภาพพลเมือง
รายงานฉบับนี้ศึกษา 165 รัฐและเขตปกครอง มีการให้คะแนนในแต่ละตัวชี้วัดระหว่าง 0-10
ประเทศที่ติด 3 อันดับแรกของโลกในด้านระดับของประชาธิปไตย คือ นอร์เวย์ (คะแนนรวม 9.87) ไอซ์แลนด์ (คะแนนรวม 9.58) และสวีเดน (9.39) ประเทศที่ติด 3 อันดับสุดท้าย คือ ชาด (1.50) ซีเรีย (1.43) และเกาหลีเหนือ (1.08)
ไทยถูกจัดไว้ในอันดับที่ 107 โดยได้คะแนนรวม 4.63 นับว่าครองอันดับต่ำสุดและได้คะแนนน้อยที่สุดในหมู่ประเทศผู้ก่อตั้งกลุ่มอาเซียน
ฟิลิปปินส์ได้อันดับที่ 51 (คะแนนรวม 6.71) มาเลเซีย อันดับที่ 59 (คะแนนรวม 6.54) อินโดนีเซีย อันดับที่ 68 (คะแนนรวม 6.39) และสิงคโปร์ อันดับที่ 69 (คะแนนรวม 6.32) ทั้งนี้ รายงานจัดประเทศทั้งสี่ไว้ในกลุ่ม ‘ประชาธิปไตยบกพร่อง’
ประเทศสมาชิกอาเซียนที่ได้อันดับและคะแนนต่ำกว่าไทย คือ เมียนมา (อันดับที่ 120, คะแนนรวม 3.83) กัมพูชา (อันดับที่ 124, คะแนนรวม 3.63) เวียดนาม (อันดับที่ 140, คะแนนรวม 3.08) และลาว (อันดับที่ -151, คะแนนรวม 2.37) ทั้งนี้ รายงานจัดประเทศทั้งสี่ไว้ในกลุ่มที่มีระบอบปกครองแบบ ‘อำนาจนิยม’
อนึ่ง รายงานไม่ปรากฏผลการศึกษาประเทศบรูไน
ตามรายงานดังกล่าว ไทยนับเป็นประเทศเดียวในกลุ่มอาเซียน ที่มีระบอบปกครองเป็นแบบ ‘ลูกผสม’
รายงานฉบับนี้จำแนกลักษณะของระบอบปกครองเป็น 4 ชนิด คือ ประชาธิปไตยเต็มใบ ประชาธิปไตยบกพร่อง ลูกผสม และอำนาจนิยม
ตามคำจำกัดความในรายงานนั้น ประเทศที่มีระบอบเป็นแบบลูกผสม มีลักษณะเด่น คือ การจัดการเลือกตั้งมีการเล่นตุกติกอย่างมาก ทำให้การเลือกตั้งขาดความเป็นธรรมและไม่เสรี รัฐบาลมักกดดันพรรคฝ่ายค้านและผู้สมัครรับเลือกตั้ง
นอกจากนี้ ระบอบลูกผสมยังมีปัญหาด้านธรรมาภิบาล ประชาชนขาดการมีส่วนร่วมทางการเมือง รัฐบาลทำงานย่อหย่อน มีแนวโน้มเกิดการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง การใช้กฎหมายไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ภาคประชาสังคมอ่อนแอ มีการรังควานหรือกดดันสื่อมวลชน ระบบศาลขาดความเป็นอิสระ
นอกจากประเมินระดับประชาธิปไตยแล้ว รายงานฉบับนี้ยังจัดอันดับ ‘เสรีภาพสื่อมวลชน’ ในแต่ละประเทศด้วย ผลปรากฎว่า ไทยอยู่ในอันดับที่ 121 เท่ากับเมียนมา โดยได้รับสถานะ ‘ไม่เสรี’ ทั้งคู่
ฟิลิปปินส์มาเป็นอันดับที่ 49 อินโดนีเซีย ที่ 71 มาเลเซียที่ 109 ทั้งนี้ สิงคโปร์กับกัมพูชาอยู่ในอันดับที่ 132 ส่วนลาวกับเวียดนามอยู่ในอันดับที่ 145.
ภาพ: AFP