ไม่พบผลการค้นหา
ไทยถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบอีกครั้งในดัชนีประชาธิปไตยประจำปี 2017 แต่ปีนี้ไทยได้คะแนนความเป็นประชาธิปไตยน้อยที่สุดตั้งแต่มีการจัดอันดับมา สอดคล้องกับเทรนด์ประชาธิปไตยถดถอยทั่วโลก

Economist Intelligence Unit หรือ EIU เผยแพร่ผลการจัดทำดัชนีประชาธิปไตย หรือ Democracy Index ประจำปี 2017 โดยดัชนีปีนี้ถือว่าเป็นการพิสูจน์ว่าทศวรรษที่ผ่านมา ประชาธิปไตยเสื่อมถอยลงอย่างต่อเนื่องจริงตามที่นักวิชาการตั้งข้อสังเกตไว้ โดยปี 2017 ถือเป็นปีที่ประชาธิปไตยตกต่ำลงในทั่วโลก มีเพียง 19 จาก 167 ประเทศทั่วโลกที่ได้รับการจัดอันดับให้มีประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ ซึ่งเท่ากับประชากรเพียงไม่ถึงร้อยละ 5 ในโลก ที่อยู่ในประเทศประชาธิปไตยสมบูรณ์ นอกจากนี้ ยังมีถึง 89 จาก 167 ประเทศที่ได้อันดับตกต่ำลง

จากการประเมินโดยใช้ตัวชี้วัดถึง 60 ตัว เพื่อให้คะแนน 0-10 แบ่งเป็นกลุ่มประเทศเผด็จการ (ได้คะแนน 0-4) ประเทศระบอบลูกผสม (4-6) ประชาธิปไตยที่มีปัญหา (6-8) และประชาธิปไตยสมบูรณ์ (8-10) ปรากฏว่าประเทศที่ได้คะแนนประชาธิปไตยมากที่สุดในโลก ยังคงเป็นนอร์เวย์ ซึ่งครองแชมป์มาตั้งแต่ปี 2010 นอกจากนี้ในบรรดา 14 จาก 19 ประเทศที่อยู่ในกลุ่มประชาธิปไตยสมบูรณ์ ก็มาจากประเทศยุโรปตะวันตกทั้งสิ้น ขณะที่ในเอเชีย ไม่มีแม้แต่ประเทศเดียวที่อยู่ในกลุ่มประชาธิปไตยสมบูรณ์ แม้แต่สหรัฐฯ มหาอำนาจโลกเสรี ก็ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประชาธิปไตยที่มีปัญหาต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดยอยู่ในอันดับที่ 21 ของโลก

ขณะที่ประเทศไทย ถูกจัดอยู่ในกลุ่มระบอบลูกผสม เช่นเดียวกับ3 ปีที่ผ่านมา โดยนับตั้งแต่มีการจัดอันดับในปี 2016 ไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประชาธิปไตยที่มีปัญหา แต่เมื่อเกิดการรัฐประหารในปี 2014 อันดับของไทยก็ร่วงลงทันที มาอยู่ในกลุ่มระบอบลูกผสม และคะแนนก็ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง จาก 5.39 ในปี 2014 เป็น4.63 ในปี 2017 อีกเพียง 0.63 คะแนนก็จะเข้าไปอยู่ในกลุ่มประเทศเผด็จการ 

ตามนิยามของดัชนีประชาธิปไตย กลุ่มประเทศระบอบลูกผสม หมายถึงประเทศที่ระบอบการเลือกตั้งมีปัญหา ไม่เสรีและเป็นธรรมแบบเรื้อรัง มีรัฐบาลที่ใช้อำนาจปราบปรามศัตรูทางการเมือง ระบบตุลาการไม่เป็นอิสระ มีการคอรัปชั่นสูง คุกคามสื่อ หลักนิติรัฐอ่อนแอ มีวัฒนธรรมการเมืองที่มีปัญหา การมีส่วนร่วมทางการเมืองต่ำ และไม่มีหลักธรรมาภิบาล 

การจัดอันดับดัชนีประชาธิปไตย ใช้ตัวชี้วัด 60 ตัว โดยอาศัยการตอบแบบสอบถามและการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญที่สรรหาและคัดเลือกโดย EIU รวมถึงการออกแบบสำรวจความคิดเห็น คำถามจะแบ่งเป็น 5 กลุ่ม คือ 1. กระบวนการเลือกตั้งและความเป็นพหุนิยม 2. เสรีภาพพลเมือง 3. การทำงานของรัฐบาล 4. การมีส่วนร่วมทางการเมือง 5. วัฒนธรรมการเมือง