ไม่พบผลการค้นหา
'สมคิด' มั่นใจปีหน้าโอกาสประเทศไทย รับคนรากหญ้ายังลำบาก เล็งเกลี่ยงบท้องถิ่น 2 แสนล้านสร้างงาน สร้างอาชีพ ปลุกชีวิตคนฐานราก ชี้ 3 ปัจจัยสร้างเศรษฐกิจไทย 'แข็งแรง - ขยับไว -สามัคคี'

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์​ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงาน THAILAND 2018 จุดเปลี่ยนและความท้าทาย จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ระบุว่า ปี 2018 เป็นปีแห่งความพลิกผัน ไม่ว่าจะมองเมืองไทยหรือต่างประเทศ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ นิตยสารนิกเคอิกของญี่ปุ่น ระบุว่า ปี 2018 จะเป็น Turning Point หรือจุดเปลี่ยน แต่สำหรับผมมันจะเป็นปีแห่งโอกาสสำหรับคนไทยให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง เพราะกระแสในเวลานี้ เมื่อเรามองจากข้างนอกเข้ามาข้างใน เช่น จากการประชุมเอเปค และอาเซียน ซัมมิท ในช่วงที่ผ่านมา มีการประชุมอาเซียน+1 เช่น อาเซียน-อเมริกา, อาเซียน-แคนาดา ซึ่งยักษ์ใหญ่เหล่านี้พยายามเข้าไปมีบทบาท มีส่วนเกี่ยวข้องกับภูมิภาคนี้ เพื่อสร้างความผูกพันเป็นพันธมิตรแห่งอนาคตร่วมกัน

ขณะที่ จีนมีเป้าหมายสร้างความยิ่งใหญ่ ประกาศแนวร่วมอินโดจีน-แปซิฟิก สร้างยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหม หรือ One Belt One Road ส่วนญี่ปุ่นดึงสหรัฐอเมริกา อาเซียน มาเป็นแนวร่วม​ ยุทธศาสตร์เหล่านี้ มีอาเซียนอยู่ตรงกลาง และไม่มียุคสมัยใดที่อาเซียนจะได้รับความสนใจขนาดนี้


อาเซียนพร้อมแค่ไหน รับมือจุดเปลี่ยน

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อาเซียนมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 6-7 และประเทศมหาอำนาจทั้งหลายรู้ดีว่า อาเซียนคือจุดยุทธศาสตร์สำคัญทั้งทางเศรษฐกิจและความมั่นคง และประเทศไทยอยู่ตรงกลางของยุทธศาสตร์เหล่านี้ ซึ่งจะยิ่งเป็นประโยชน์มากขึ้น ขณะที่ระดับการพัฒนาของประเทศไทยก็ห่างจากเพื่อนบ้าน ในเวลาที่จีนมอง CLMVT (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา, เวียดนาม, ไทย) ในยุทธศาสตร์ล้านช้าง และญี่ปุ่นมอง CLMVT ในยุทธศาสตร์อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หรือ GMS ซึ่งที่ผ่านมา ภูมิภาคนี้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า ดังนั้น ปี 2018 หรือ 2561 เป็นปีที่ไทยจะมีโอกาสสูงมาก ถ้าประเทศไทยรู้จักดูแลตัวเอง เพราะเมื่อโอกาสเปิด จังหวะเวลาเหมาะสม ประเทศไทยจะสามารถสร้างฐานเพื่ออนาคตได้ทันที 

"ข้อแรก ตัวเราต้องแข็งแรงก่อน ถ้าเรายังอ่อนแอ เขา (นักลงทุน) จะมองอินโดนีเซีย เวียดนามแน่นอน และเราต้องมีพลังผนึกเป็นหนึ่งเดียว รวมทั้งต้องเขยื้อนตัวเราให้เร็ว ต้อง Move Fast ดักทางแห่งอนาคตให้ได้ ถ้าเราไม่ดีดตัวเองให้เร็ว เราจะจมปลัก" นายสมคิดกล่าว


3 ปัจจัยสมคิด ดันเศรษฐกิจ ปี'61 สดใส

นายสมคิด กล่าวถึง 3 ปัจจัยที่จะเป็นตัวผลักให้เศรษฐกิจไทยก้าวหน้า ข้อแรก คือ ต้องแข็งแรง จากเมื่อ 3 ปีก่อน ประเทศไทยได้รับสมญานามว่า Sick Man of Asia หรือคนป่วยแห่งเอเชีย และประสบภาวะ Failed State หรือรัฐล้มเหลว แต่วันนี้ ประเทศไทยมีความสงบ เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจที่ประชาชนทำมาหากินกันได้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ขยายตัวจากร้อย 0.8 ต่างจากตอนนี้ที่ทุกค่ายทุกสำนักปรับจีดีพีขึ้นมาขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.8 และการจัดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือของประเทศไทยก็ปรับเพิ่มขึ้นทุกตัว

"ตอนนี้ร่างกายเราแข็งแรงขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า ดีหมด และเราก็รู้ว่าชาวไร่ชาวนาลำบาก รากหญ้ายังลำบาก ต่างจากปี 2540 ที่ชาวไร่ชาวนาดี แต่คนชั้นกลางแย่ และตอนนี้ทุกคนต่างรู้ว่า ราคาสินค้าเกษตรเวลาตกหมด มันเป็นปัญหา​จากโกลบอล ซัพพลาย (ปริมาณผลผลิตในระดับโลก และปัญหาเศรษฐกิจรากหญ้าวันนี้ ไม่ใช่เพิ่งเกิด มันเกิดมาตั้งแต่เรามีประชาธิปไตยแล้ว เพราะมีคนไทยเพียง 30 ล้านคน เท่านั้นที่มีส่วนร่วมในการผลิต ดังนั้นในปี 2561 ผมจึงต้องการคนข้างล่างมีเงินหนุน มีงานทำ ซึ่งได้หารือกับ พล.อ.อนุพงษ์​ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย ที่จะเกลี่ยงบท้องถิ่น 2 แสนล้านบาท ไปให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นดูแล ให้ อบต.นำเงินนี้ไปสร้างแหล่งท่องเที่ยว ผลิตสินค้าในชุมชน สร้างสาธารณประโยชน์ ดูแลคนแก่คนเฒ่า ซึ่งขออย่างเดียวคือชุมชนต้องคิดโครงการขึ้นมาด้วยตัวเอง เพราะถ้าเราจะเป็นประชาธิปไตย ท้องถิ่นคือหัวใจ"นายสมคิดกล่าว


เดินหน้าเฟส 2 โครงการต่อยอดบัตรคนจน

พร้อมยกตัวอย่างกรณีการทำบัตรคนจน ว่านับเป็นตัวอย่างของนวัตกรรม เพราะที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่เคยมีข้อมูลว่า ใครคือคนจน คนจนอยู่ตรงไหน แต่การลงทะเบียนคนจน ทำให้เรารู้ ซึ่งหลังจากนี้ ได้สั่งการให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำการบ้านต่อ เพื่อต่อยอดบัตรคนจน

ล่าสุด ได้สั่งการให้ ธ.ก.ส. หาวิธีสร้างรายได้เสริมแก่เกษตรกร ช่วยเกษตรกรปลูกพืชผลที่มีตลาดรองรับ โดย ธ.ก.ส. เป็นคนชี้เป้าว่า พื้นที่ใดควรปลูกอะไร เพราะ ธ.ก.ส มีข้อมูล โดยโครงการนี้จะเป็นการผลิตแบบไม่บังคับ และเกษตรกรไม่ต้องรับความเสี่ยงใดๆ เพราะจะมีทีมด้านการตลาดมารับ และขายในโมเดิร์นเทรด ขายในร้านธงฟ้าประชารัฐ ซึ่งต่อไปจะต้องมีสินค้าที่ผลิตโดยท้องถิ่นขายกันเองมากขึ้น ซึ่งการจัดการตรงนี้จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง กับ กระทรวงพาณิชย์ และดึง อบต. อบจ. เข้ามาเป็นพันธมิตร เพื่อให้เม็ดเงินลงไปที่ท้องถิ่นให้เกิดการผลิต การจ้างงานในท้องถิ่น


ปลุกชุมชนเปิดตลาด e-commerce

อีกด้านหนึ่ง ในปี 2561 จะต้องการเห็นตลาดออนไลน์ หรือ e-commerce ของชุมชน ให้สินค้าชุมชนมีขายบนออนไลน์ ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงพาณิชย์ต้องมาเข้ามาดำเนินการ 

"ถ้าใครไม่ทำ ผมจะให้ลาซาด้ามาทำ เรื่องนี้กระทรวงพาณิชย์ต้องทำ เพราะถ้าเราทำได้ เราจะช่วยให้คนฐานรากพ้นจากความยากจน จากปัจจุบันประเทศไทย มีคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 2,500 บาทต่อเดือน หรือต่ำกว่าเส้นความยากจนถึง 4 ล้านคน" นายสมคิดกล่าว

ขณะที่ ธนาคารออมสินจะต้องเข้ามามีบทบาทปล่อยสินเชื่อหมุนเวียนให้คนจนด้วยดอกเบี้ยที่ถูก เพราะธนาคารออมสินเป็นธนาคารรัฐที่มีบทบาทช่วยคนฐากราก เขาต้องเป็นความหวังให้คนจนได้ยืนด้วยขาตัวเอง ทำให้คนจนมีอาชีพ เพราะสิ่งที่เห็นอย่าง "ช้อปช่วยชาติ" สินค้าที่ขายได้ดี เกิดจากการช้อปออนไลน์ ไม่ได้เกิดขึ้นที่ห้างสรรพสินค้า คำถามคือ แล้วต่อไปพนักงานขายในห้างฯ จะเอาเขาไปไว้ที่ไหน และถ้าระบบโรงงานทั้งประเทศเข้าสู่ระบบดิจิตอล คนในโรงงานจะไปที่ไหน จะเอาคนที่อยู่ในภาคบริการไปทำอะไร 

ดังนั้น ต่อไปประเทศไทยต้องทำให้คนเหล่านี้มีงานทำในท้องถิ่น ต้องสร้างความเข้มแข็งของท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นมีการจ้างงาน ต้องทำเรื่องท่องเที่ยวชุมชน ให้มีการผลิต การท่องเที่ยว ค้าขายออนไลน์ในท้องถิ่นให้ได้ เพราะคนไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรและภาคโรงงาน ถ้าไม่ทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง คนไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ ปั���หาสังคมจะเกิดได้

"ปีหน้าเรารู้ว่า เราเข้มแข็งขึ้น แต่เราต้องปิดช่องว่างเหล่านี้ ทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อให้ทุกอย่างขยับขึ้นมา ดังนั้นกรุณาอย่าโจมตี อย่าด่าทอ ผมยินดีรับฟังเสมอ เราไม่ได้ต้องการทำอะไรที่ฉาบฉวย อย่างจำนำข้าว ยากเหรอ ไม่ได้ยากประกันรายได้ ยากเหรอ ไม่ได้ยากเลย และเรื่องเหล่านี้ไม่มีใครโง่กว่าใคร ฉลาดกว่าใคร ดังนั้นต้องมาช่วยกันทำ" นายสมคิดกล่าว 


ขยับให้ไว เดินหน้าลุย EEC-เศรษฐกิจดิจิตอล

ปัจจัยตัวที่สองที่ต้องทำคือ การขยับให้ไว เข้าสู่ดิจิตอล และการลงทุนในพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งนายสมคิด ตั้งเป้าหมายว่า ภายในไตรมาส 2 ปี 2561 โครงการลงทุนขนาดใหญ่ 2-3 ในอีอีซี จะต้องมีการประมูลเกิดขึ้น และต่อไปไม่ว่า รัฐบาลไหนจะมา โครงการเหล่านี้ก็จะดำเนินการต่อได้ รวมถึงโครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน ต้องเกิดขึ้นทุกหมู่บ้านไม่เกินปลายปี 2561 โดยต้องเข้าไปถึงโรงเรียนและหน่วยงานสาธารณสุข

หลังจากภาครัฐ ได้ทำเรื่องระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-payment) และพร้อมเพย์ ซึ่งนับเป็นการปฏิวัติ และทำให้นับจากนี้ การใช้จ่ายของรัฐบาลจะเป็นอิเล็กทรอนิกส์หมด รวมถึงการค้าขายของภาคเอกชนก็จะเป็นการทำผ่านออนไลน์ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องใช้ฐานจากการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์

และปัจจัยที่ 3 คือ การผนึกกำลัง คนไทยต้องหยุดด่ากัน หยุดเอาชนะกัน ขอให้ปีหน้า เป็นปีสามัคคีกัน 


รายงานโดย อังศุมาลิน บุรุษ