ไม่พบผลการค้นหา
การปรับคณะรัฐมนตรีชุดที่ 61 ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ครั้งที่ 5 รอบนี้ เป็นห้วงเวลาที่วัดศักยภาพทีมเศรษฐกิจมากกว่าครั้งใดๆ ท่ามกลางปมปัญหาเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ที่แม้ภาพรวมตัวเลขเศรษฐกิจจะดูดี แต่ความกินดีอยู่ดี ยังไม่ลงถึงฐานราก

ตามที่นักวิเคราะห์เศรษฐกิจพูดมาหลายเดือนว่า เป็นภาวะเศรษฐกิจต้มกบบ้าง ทุเรียนบ้าง รวมทั้ง แข็งนอก-อ่อนใน แข็งบน-อ่อนล่าง ดีขึ้น แต่เคยดีกว่านี้ ล้วนเป็นคำเปรียบเปรย ที่จี้ใจรองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ "นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์" เป็นระยะๆ รวมถึงกระแสเขย่าเก้าอี้รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ หลายสัปดาห์ก่อนการแต่งตั้งครม. ประยุทธ์ 5 

กระทั่งค่ำวันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เมื่อได้เห็นชื่อเห็นหน้าตารัฐมนตรีใหม่ในทีมเศรษฐกิจ ประยุทธ์ 5 ที่เข้ามาในกระทรวงหลัก เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยิ่งสะท้อนว่า นายสมคิด รู้ดีว่า จุดอ่อนในปัญหาเศรษฐกิจปัจจุบันคืออะไร แต่จะแก้ไขได้หรือไม่ แล้วจะแก้ได้ถูกทางหรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์กัน 

เมื่อย้อนกลับไป 1-2 สัปดาห์ก่อนหน้าประกาศแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดที่ 61 นายสมคิด ใช้โอกาสบนเวทีสัมมนา และการแถลงข่าวติดตามงานตามกระทรวงต่างๆ เป็นจุดกระจาย "แมสเซส" ที่สำคัญว่า ที่ผ่านมารัฐบาลทำได้ดีแล้ว เพราะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจขยับขึ้นจากร้อยละ 0.9 เมื่อปี 2557 โตขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.9 ในปี 2560 และปีหน้าคาดว่าจะโตมากกว่าร้อยละ 4 ขณะที่ เศรษฐกิจภาพรวมดี แต่เศรษฐกิจท้องถิ่น คนระดับกลางถึงล่าง ธุรกิจเอสเอ็มอี ยังเหนื่อย เงินทองไม่สะพัด รายได้เกษตรกรยังต่ำกว่าเมื่อ 3 ปีก่อน 

นายสมคิดจึงใช้ศักยภาพมาร์เก็ตติ้งแมน ย้ำว่า ในเวลา 1 ปีที่เหลือจากนี้ เขาจะทำให้เศรษฐกิจข้างล่างหมุน ให้คนในท้องถิ่นมีงานทำ ใช้มาตรการการคลังช่วยเหลือคนไทยให้หายจน พร้อมผลักดันโครงการลงทุนต่างๆ เช่น โครงการลงทุนในพื้นที่ อีอีซี หรือเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก โครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน ให้ Move Fast ให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด ซึ่งทำให้ภาพเศรษฐกิจไทยหลังครม.ประยุทธ์ 5 และระยะเวลา 1 ปีก่อนมีการเลือกตั้งทั่วไป ในปลายปี 2561 ตามไทม์ไลน์ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวไว้ จึงเป็นกำหนดเวลาที่ทำให้ทีมเศรษฐกิจชุดล่าสุด ต้องแอคทีฟมากขึ้น

กระทรวงเกษตรฯ ภารกิจแก้ปัญหารายได้เกษตรกรตกต่ำ

โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รอบนี้ มีรัฐมนตรีว่าการฯ คือ "นายกฤษฎา บุญราช" อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ประกบข้างด้วย 2 รัฐมนตรีช่วยฯ ได้แก่ "อาจารย์ยักษ์ -นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร" ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิเศรษฐกิจพอเพียง ศิษย์เก่าชั้นมัธยม โรงเรียนวัดนวลนรดิศ กรุงเทพฯ ศิษย์พี่ศิษย์น้องโรงเรียนเดียวกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะว่าไปแล้ว อาจารย์ยักษ์เปรียบเป็น รมช.เกษตรฯ ฝั่งบู๊ 

ส่วนรมช.เกษตรฯ ฝ่ายบุ๋น คือ "นายลักษณ์ วจนานวัช" ลูกหม้อแบงก์ ธ.ก.ส. ที่ขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ยาวนานถึง 8 ปี (2 วาระ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2552-30 ก.ย. 2560) สนองนโยบายรัฐบาล ทั้งในยุคประกันราคาสินค้าเกษตรกร และจำนำข้าว 

นายลักษณ์จบการศึกษาปริญญาตรีวิทยาศาสตรบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาสัตวบาล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปริญญาโท วิทยาศาสตร์ การพัฒนาระบบ จากมหาวิทยาลัยดับลิน สาธารณรัฐไอร์แลนด์ ทำงานกับแบงก์ ธ.ก.ส. มาตลอด เป็นนายธนาคารแบงก์รัฐ คนแรกในรอบ 28 ปีที่ได้รับรางวัลนักการเงินดีเด่น และล่าสุดเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เพิ่งเข้ารับหน้าที่เป็นกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน ในธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ)

กระทรวงพาณิชย์ ภารกิจปั้นร้านธงฟ้าสร้างตลาดชุมชน ทำอี-คอมเมิร์ซไทยเทียบชั้นอาลีบาบา

ฟากกระทรวงพาณิชย์ แต่งตั้ง "นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์" ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการฯ และปลดรัฐมนตรีอดีตข้าราชการอย่าง "นางอภิรดี ตันตราภรณ์" ออกจากตำแหน่ง พร้อมโยกอดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์อีกคนคือ "นางสาวชุติมา บุณยประภัศร" ออกจากตำแหน่ง รมช.เกษตรฯ ในครม. ประยุทธ์ 4 กลับสู่รังเดิม ในตำแหน่งว่าที่ รมช. พาณิชย์ ครม.ประยุทธ์ 5

นายสนธิรัตน์ คนใกล้ตัวนายสมคิด ได้ชิมลางทำหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยพาณิชย์มา 11 เดือน ก้าวขึ้นแท่นว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หลังจากมีบทบาทลงพื้นที่ต่างจังหวัดสอดส่องปัญหาบัตรคนจน ร้านธงฟ้าประชารัฐในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ทำให้คนทั่วไปเริ่มจำหน้านายสนธิรัตน์ ได้มากกว่ารัฐมนตรีว่าการฯ "นางอภิรดี ตันตราภรณ์" ซึ่งช่ำชองเรื่องการค้าขายในต่างประเทศ และการทำตลาดการค้าระหว่างประเทศมากกว่า 

ถึงวันนี้ ที่ภาคส่งออกไทยติดลมบน ขยายตัวมากกว่าร้อยละ 8 เพราะเศรษฐกิจโลกฟื้นแล้ว บทบาทคนเก่งนอกบ้านจึงต้องลดลงไป และถึงเวลาของคนที่เข้าใจ เข้าถึงตลาดการค้าภายในประเทศ ต้องขึ้นมาเป็นฝ่ายนำ 

โดยมี "นางสาวชุติมา บุณยประภัศร" อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมการค้าภายใน อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และอดีตอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นรัฐมนตรีช่วย 

กระทรวงอุตสาหกรรม ดันอีอีซี -แก้ปัญหาเหมืองทองคำอัครา

ด้านกระทรวงอุตสาหกรรม เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการฯ ของ "นายอุตตม สาวนายน" เครือข่ายนายสมคิด ยังคงแข็งแรงแน่นหนา ด้วยภารกิจ ขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่ร่วมกันปลุกปั้นมากว่า 1 ปีที่ผ่านมา พร้อมการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ 10 ด้าน หรือ S-Curve ที่คนทั่วไปยังมองไม่เห็นรูปธรรม หากเป็นภารกิจที่ทีมเศรษฐกิจชุดนี้ มุ่งเดินหน้าเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย

แต่ที่ต้องเสริมทัพเข้ามาอีกคน โดยดึง "นายสมชาย หาญหิรัญ" อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เพิ่งเกษียณอายุราชการเมื่อ 30 กันยายนที่ผ่านมา เข้ามาช่วยอีกแรง จากเดิมไม่มีโควต้ารัฐมนตรีช่วยฯ เป็นสิ่งสะท้อนว่า ปมปัญหาข้อพิพาท จากมาตรา 44 สั่งปิดเหมืองทองคำทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 และบานปลายเป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนต่างประเทศยืดเยื้อ จนบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด ในออสเตรเลียยื่นเรื่องให้ไทยเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ และอาจทำให้รัฐไทยต้องจ่ายค่าเสียหายถึง 3 หมื่นล้านบาท หากแพ้คดี คือปัญหาที่ต้องมีอดีตปลัดเข้ามาจัดการ 

ทีมสมคิดอยู่ (เกือบ) ครบ

นอกจาก "นายพิชิต อัคราทิตย์" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่หลุดจากเก้าอี้รัฐมนตรี และคงกลับไปทำงานในบริษัทหลักทรัพย์ที่ตั้งขึ้นมาเหมือนเดิมแล้ว ในทีมเศรษฐกิจประยุทธ์ 5 ทีมสมคิด คนอื่นๆ ยังทำหน้าที่ต่อไป ไม่ว่าจะเป็น "นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์" รัฐมนตรีการกระทรวงการคลัง ที่มีภารกิจนำนโยบายการคลังเร่งเครื่องเศรษฐกิจฐานราก ผ่านโครงการบัตรคนจน เฟส 2 

หรือกรณี "นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยังอยู่ในตำแหน่งเดิม กับภารกิจติดตั้งอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านให้ครบภายในปี 2561 ตามเป้าหมายนายสมคิด ที่ต้องการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเข้าไปในระดับหมู่บ้าน ต่อเชื่อมความรู้ สร้างตลาดออนไลน์ที่เริ่มต้นจากหมู่บ้านขึ้นมา ซึ่ง 1 ปีที่ผ่านมา ภารกิจนี้ยังเดินหน้าไม่มากนัก

ขณะที่ "นายสุวิทย์ เมษินทรีย์" สลับเก้าอี้จากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปเป็น ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นอีกกระทรวงที่นายสมคิดหมายมั่นให้เป็นต้นทางเศรษฐกิจบนฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเป็นอีกหนึ่งกระทรวงที่จะต้องทำภารกิจพัฒนาอุตสาหกรรม หรือ S Curve ของนายสมคิดให้เป็นรูปธรรม

กอบศักดิ์ รมว.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี วัย 49 ปี

อีกคนที่ แม้จะไม่ได้อยู่ในกระทรวงเศรษฐกิจ แต่เป็น "คนใกล้ชิดนายสมคิด" คนหนึ่ง คือ "นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล" นักเรียนทุนแบงก์ชาติ อดีตผู้อำนวยการนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ได้รับการซื้อตัวจากเจ้าสัวโทนี่-ชาติศิริ โสภณพนิช แห่งแบงก์กรุงเทพ ให้เข้ามาช่วยงาน จนมีตำแหน่งสูงสุดที่ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และเป็นโควต้าภาคเอกชนนั่งใน สปช. (สภาปฏิรูปแห่งชาติ) ช่วงหลังรัฐประหาร 2557 ก่อนที่นายสมคิด จะไปขอให้มาช่วยงานในตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ โฆษกฝ่ายเศรษฐกิจ นั่งแถลงข่าวชี้แจงประเด็นเศรษฐกิจทุกวันอังคาร เคียงข้าง "นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์" ลูกชายดร.สม พี่ชายนายสมคิด 

โดยที่ผ่านมา นายกอบศักดิ์ ทำหน้าที่ทั้งในฐานะกรรมการ ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านเศรษฐกิจ และเป็นหนึ่งในทีมงานร่างพระราชบัญญัติพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ พ.ร.บ. อีอีซี มาตั้งแต่วันแรกๆ ดังนั้น หน้าที่ใหม่ในตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จึงเป็นตำแหน่งที่ใหญ่ขึ้น ในขอบข่ายการทำงานเดิมที่เคยทำมาแล้ว  

อย่างไรก็ตาม นายกอบศักดิ์นับว่า เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลประยุทธ์ 5 ที่อายุน้อยที่สุด ด้วยวัย 49 ปี และน่าจะมีอาวุโสทางการเมืองน้อยที่สุดเช่นกัน แต่เป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ ที่นายสมคิดไว้วางใจ และใช้งานได้เสมอ


รายงานโดย : ทีมข่าวเศรษฐกิจ